พันธุกรรมกับมะเร็ง


722 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - การวิจัยยีนมะเร็ง


มาลินี  อัศวดิษฐเลิศ
หน่วยบริหารจัดการความรู้
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของนิตยสาร @ll Biotech และ วิชาการ.คอม 
https://www.biotec.or.th/Guru/


             “มะเร็ง” คือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเซลล์ในร่างกาย จนทำให้เซลล์มีการเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง  

เซลล์มะเร็ง ...เซลล์อมตะ

เมื่อเซลล์ปกติเสียหาย หรือแก่ตัวลง เซลล์จะผ่านนกระบวนการทำงายตัวเอง หรือ อะพอทโทซิส (Apoptosis) แต่เซลล์มะเร็งไม่ผ่านกระบวนการนี้

ในปี ค.ศ. 1978  โรเบิร์ต เอ. ไวน์เบิร์ก (Robert A. Weinberg) และทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสสาชูเซ็ต หรือ เอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology, MIT) ระบุว่า “ยีนมะเร็ง หรือ อองโคยีน (Oncogene)” เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง 

 ศาสตราจารย์โรเบิร์ต  ไวน์เบิร์ก

หนังสือ "ชีววิทยาของมะเร็ง"
เขียนโดย ศ.โรเบิร์ต  ไวน์เบิร์ก

เซลล์ปกติในร่างกายมีสายดีเอ็นเอซึ่งประกอบด้วยยีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีน [การดำรงชีวิตของคนเราให้เกิดความสมดุล ต้องอาศัยโปรตีนชนิดต่างๆ ถึง 50,000 ชนิดทำงานเป็นเครือข่ายอย่างเหมาะสม] 
 
แต่เมื่อร่างกายได้รับสารเคมี รังสี หรือปัจจัยภายนอกอื่นๆ มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียงตัวของเบสในสายดีเอ็นเอ หรือทำให้เกิดการจับคู่เบสผิด ทำให้มีการย้ายตำแหน่งของยีน (translocation) มีการเพิ่มจำนวนชุดของยีน (amplification) มีการเปลี่ยนแปลงเบสบางตำแหน่ง (point mutation)...เราเรียกปรากฎการณ์เช่นนี้ว่า “การกลายพันธุ์ (Mutation)” 

การกลายพันธุ์อาจทำให้สายดีเอ็นเอในร่างกายเรามียีนมะเร็ง หรือ อองโคยีน (Oncogene) ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชนิดของโปรตีนไปจากเดิม (ที่ควรจะเป็น) ให้กลายเป็นโปรตีนมะเร็ง (Oncoprotein) เช่น  โปรตีนไทโรซีนไคเนส (tyrosine kinase) โปรตีนพี 53 (P53 protein) เป็นต้น โปรตีนดังกล่าวกระตุ้นเซลล์ตัวเอง หรือเซลล์เพื่อนบ้าน ให้แบ่งตัว และขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง 

ผลจากการศึกษาของ ศ. ไวน์เบิร์ก  ทำให้นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเข้าใจว่ามะเร็งเกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ ซึ่งปกติแล้วเซลล์ของร่างกายจะไม่แบ่งตัว  แต่ถ้ายีนเหล่านี้เกิดผิดปกติจะทำให้เซลล์เพิ่มจำนวนทวีคูณโดยไม่สามารถควบคุมได้ จึงเกิดโรคมะเร็งขึ้น  นักวิทยาศาสตร์ค้นพบยีนมะเร็งแล้วมากกว่า 100 ยีน และพบยีนใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 

ความก้าวหน้าล่าสุดของการวิจัยยีนมะเร็ง คืองานวิจัยของทีมนักวิจัยจากโครงการศึกษาจีโนมมะเร็ง (The Cancer Genome Project, CGP)แห่งสถาบันเวลล์คัม ทรัสต์ แซงเกอร์ (The Wellcome Trust Sanger Institute) ในประเทศอังกฤษ  

ทีมวิจัยใช้ฐานข้อมูลของโครงการศึกษาจีโนมมนุษย์ซึ่งประสบความสำเร็จไปเมื่อ 2546 มาใช้ในการศึกษายีนมะเร็ง โดยการนำฐานข้อมูลยีนที่ควบคุมการสร้างเอนไซม์ไคเนส (Kinase gene) จำนวน 518 ยีน มาเปรียบเทียบเข้ากับยีนไคเนสของผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆ ทำให้ค้นพบยีนมะเร็งเพิ่มเติม 120 ชนิด โดยข้อมูลที่ค้นพบนี้ ยังไม่เคยมีรายงานที่ไหนมาก่อน ซึ่งเมื่อรวมกับยีนมะเร็งเดิมแล้ว คิดเป็นประมาณ 350 ยีน ทีเดียว 

"

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาวิจัยเพื่อแบ่งกลุ่มของโรคมะเร็งตามความผิดปกติของยีน แล้วเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับโรคกลุ่มนั้น เช่น มีการวิจัยโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งลักษณะของโรคและของเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยแต่ละคนแล้วไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อศึกษาในระดับยีนกลับพบว่า ผู้ป่วยแต่ละคนมีลัษณะของยีนที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันออกไป ซึ่งตอบสนองต่อยาแตกต่างกัน ใช้ชนิดยาและปริมาณยาต่างกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องใช้วิธีตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรม เพื่อแบ่งกลุ่มมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละรายว่าเป็นแบบใด แล้วเลือกวิธีการรักษาทั้งชนิดและปริมาณของยาที่เหมาะสมที่สุดในรายนั้น

"

 ดร.มาร์ก  วาลพอร์ต
 เวลล์คัม  ทรัสต์

นอกจากโครงการของสถาบันแซงเกอร์อันโด่งดังของอังกฤษแล้ว โครงการยักษ์ที่เราควรรู้จักอีกโครงการคือ โครงการแผนที่จีโนมมะเร็ง (The Cancer Genome Atlas, TCGA)  ที่สนับสนุนงบประมาณโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ของสหรัฐอเมริกา ทีมนี้ก็กำลังศึกษาวิจัยยีนมะเร็งอย่างขะมักเขม้น




นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่า ความก้าวหน้าทางจีโนมมะเร็ง จะทำให้เข้าใจกลไกการเกิดโรคมะเร็งดีขึ้น ช่วยให้ป้องกันและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ...ในอนาคตโรคมะเร็งจะไม่น่ากลัวอีกต่อไป
 

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/36856

อัพเดทล่าสุด