รางวัลโนเบลด้านการแพทย์ แด่ชายผู้หาญกล้ากลืนกินเชื้อโรค


1,222 ผู้ชม



หน้าที่ 1 - โรคกระเพาะไม่ใช่แค่แผลในกระเพาะ

 


ผมมีเบื้องหลังการค้นพบสำคัญที่ส่งผลทำให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์สองท่านคือ โรบิน วอร์เรน (Robin Warren) และ แบรี มาร์แชล (Barry Marshall) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ปีนี้
(ค.ศ. 2005) ไปครอง มาฝากกันครับ
ในคำประกาศของคณะกรรมการโนเบลที่ออกมาในวันที่ 3 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา ระบุว่านักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียทั้งสองท่าน ได้รับรางวัลโนเบล จากผลงานเกี่ยวกับการค้นพบอันโดดเด่นและไม่คาดฝัน เกี่ยวกับ “แบคทีเรีย Helicobacter pylori และบทบาทของมัน ในการก่อโรคกระเพาะอาหารอักเสบและแผลในลำไส้ตอนต้น”
อ่านแล้วมีใครสงสัยไหมครับว่า ทำไมแค่การค้นพบแบคทีเรียชนิดเดียว จึงทำให้ได้รับรางวัลโนเบลไปได้?
ถ้าสงสัยก็ต้องอ่านต่อไปกันทันทีเลยครับ

 
 
วอร์เรน (ไว้หนวดเครา) และมาร์แชล 
ผู้พิสูจน์ว่าโรคกระเพาะมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง

คู่หูนักคิดนอกกรอบ
การค้นพบดังกล่าวสำคัญอย่างไร? 
เพื่อจะตอบคำถามนี้ ต้องย้อนยุคกลับดูวิทยาศาสตร์ในสมัยต้นทศวรรษ 1980 หรือราว 20 ปีที่แล้วที่ทั้งคู่เริ่มจับงานวิจัยนี้กันครับ ในตอนนั้น ดร. วอร์เรน ซึ่งเป็นนักพยาธิวิทยาสังเกตเห็นว่า คนไข้ราวครึ่งหนึ่งที่เขาตัดชิ้นเนื้อกระเพาะอาหารส่วนล่างมาตรวจ มีแบคทีเรียขนาดเล็กรูปทรงโค้งหรือคล้ายเกลียวปะปนปรากฏให้เห็น แบคทีเรียชนิดนี้ต่อได้รับการขนานนามว่า เฮลิโคแบคเทอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) นั่นเอง
สังเกตนะครับว่า ชื่อเจ้าแบคทีเรียแสนประหลาดตัวนี้ แม้ว่าจะยาวแต่ก็จำได้ง่ายมาก เพราะคล้ายกันเสียเหลือเกินกับคำว่า เฮลิคอปเทอร์ (helicopter) ต่างกันนิดเดียว อันที่จริงชื่อสกุล (genus) ว่า Helicobacter มีความหมายแสดงถึงรูปร่างของมันว่าเป็น “แบคทีเรียรูปเกลียว” โดยมีรูปร่างหน้าตาที่มีลักษณะเฉพาะตัวดังแสดงในรูปประกอบ สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจบางอย่างของแบคทีเรียชนิดนี้ก็ดูได้จากในกรอบข้อมูล
ความจริงแล้ว วอร์เรนไม่ใช่คนแรกที่เสนอสมมติฐานนี้นะครับ ก่อนหน้านั้นราว 30 ปีก็มีคนเสนอว่า โรคกระเพาะอักเสบอาจมาจากการติดเชื้อ แต่หลังจากพยายามตรวจสอบชิ้นเนื้อกว่าพันชิ้นแต่ก็ไม่พบเชื้อต้นเหตุแต่อย่างใด ก็เลยไม่มีใครสนใจสมมติฐานเรื่องนี้ไปอีกนานหลายทศวรรษ

 
โฉมหน้าของ H. pylori ที่บันทึกภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์และดัดแปลงภาพด้วยเทคนิคต่างๆ กัน

แต่เรื่องสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ไปไกลกว่าแค่ความเชื่อ ก็คือ วอร์เรนสังเกตเห็นว่าบ่อยครั้งที่พบว่า มีอาการอักเสบ ของเนื้อเยื่อ ใกล้กับบริเวณใกล้กับที่พบแบคทีเรียพวกนี้ ตรงนี้เองที่คุณหมอมาร์แชล เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะในขณะนั้น เขายังเป็นแพทย์ฝึกหัดและเกิดสนใจ ในการค้นพบของ ดร. วอร์เรน จึงได้เข้ามาร่วมงานกัน และศึกษาชิ้นเนื้อที่ได้จากผู้ป่วยราว 100 คน จนสังเกตพบหลักฐานยืนยันว่า ผู้ป่วยที่เกิดการอักเสบ ของกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ส่วนต้นแทบทุกคนจะพบแบคทีเรียนี้อยู่ในเนื้อเยื่อด้วย
พวกเขาจึงเสนอสมมติฐานว่า Helicobacter pylori น่าจะเป็นสาเหตุของโรค ในกลุ่มดังกล่าว อาจมีบางคนที่คิดว่า ทุกคน (หรือส่วนใหญ่) จะยินดีปรีดากับแนวคิดนี้? แต่ … ผิดครับ
ตรงกันข้ามเลย มีแต่คนไม่เห็นด้วยเต็มไปหมด มีเพียงไม่กี่คนที่เชื่อว่า แนวคิดที่ว่า แบคทีเรีย ทำให้เกิดแผลในกระเพาะ หรือลำไส้ จะเป็นเรื่องจริงไปได้ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน หากพูดถึงโรคกระเพาะ แพทย์จะวินิจฉัย ว่าสาเหตุจะมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกรดในกระเพาะที่มากเกินไป, ความเครียด, อาหารเผ็ดร้อน, การสูบบุหรี่, แอลกอฮอล์ หรือแม้แต่ผลจากพันธุกรรม!
สาเหตุหลักๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ ไม่เชื่อว่า จะมีแบคทีเรีย อาศัยอยู่กินเที่ยวท่อง ในกระเพาะอาหารของคนเราได้ ก็เพราะว่า สภาพความเป็นกรด อย่างมาก ของกระเพาะอาหาร (pH ~ 2-3) ที่น่าจะทำให้กระเพาะเป็น “บ่อกรดสังหาร” สำหรับสิ่งมีชีวิต ทุกชนิดในโลกนั่นเอง ประกอบกับในยุคนั้น ยังไม่มีใครเคย ค้นพบว่ามีแบคทีเรีย ที่อาศัยในสภาพกรดยิ่งยวด เช่นนั้นได้มาก่อน แต่ความเป็นจริงก็คือ กระเพาะ เป็นนรกสำหรับสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิด 
ยกเว้นก็แต่ H. pylori ที่มันสามารถอาศัย อยู่ได้ในกระเพาะอาหาร อย่างสบายๆ … ราวกับ อยู่ในรังนอนอันอบอุ่นก็ไม่ปาน


หน้าที่ 2 - แบคทีเรีย H. pylori และโรคกระเพาะอักเสบ

ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ 
ฝ่ายบริหารจัดการความรู้
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BioTec)
วิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com)

นอกจากนี้แล้ว ยาลดกรดที่ใช้รักษาอาการในยุคนั้น ก็ดูเหมือนจะได้ผลดีอยู่ไม่น้อย แม้ว่าในผู้ป่วยบางรายอาจจะกลับมาเป็นโรคเดิมได้อีกครั้งก็ตาม อีกข้อหนึ่งที่ทำให้หลายคนไม่อาจเชื่อคำอธิบายแบบใหม่นี้ได้อย่างสนิทใจนักในเวลาอันสั้นก็คือ การค้นพบแบคทีเรียในกระเพาะอาหารบ่อยๆ อาจจะไม่ใช่ ตัวบ่งบอกได้อย่างแน่นอน ว่าแบคทีเรียดังกล่าวเป็นตัวก่อโรคเพราะอาจเป็นแค่เรื่องบังเอิญ
ในทางวิทยาศาสตร์ของโรคติดเชื้อนั้น หากต้องการแสดงให้เห็นจริง และครบถ้วนกระบวนความว่าแบคทีเรีย (หรือจุลินทรีย์อื่นใด) เป็นตัวก่อโรคจริงๆ จะต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงรายละเอียดที่ชัดเจนในหลายขั้นตอน เช่น ต้องสามารถแยกแบคทีเรียเหล่านั้น ออกมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลองให้ได้ จากนั้น ยังควรจะต้องใส่แบคทีเรียเหล่านั้น เข้าไปในสัตว์ทดลอง แล้วเห็นผลที่ชัดเจนอย่างไม่อาจปฏิเสธว่าแบคทีเรียเหล่านี้ ทำให้สัตว์ทดลองเป็นโรคที่สงสัยอยู่จริง

 
กลไกลการเกิดโรคของ H. pylori เริ่มจากการติดเชื้อที่บริเวณกระเพาะอาหารส่วนล่าง 
จากนั้นจะเกิดการอักเสบของชั้นเยื่อบุผิวกระเพาะ ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับกรดในกระเพาะ 
ที่หลั่งออกมามากขึ้น อาจทำให้เกิดเป็นฝีหนอง ตกเลือด หรือแม้แต่มะเร็ง


อย่าว่าแต่ขั้นตอนอันหลากหลายดังว่าเลยครับ
ลำพังเพียงแค่แต่ละขั้นตอน เพียงขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ก็อาจกินเวลาเป็นปีๆ หรืออาจไม่สามารถทำได้เลยก็เป็นได้ ตัวอย่างก็เช่น แม้แต่ในปัจจุบัน ก็ยังมีเชื้อโรคหลายชนิด ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองไม่ได้
ทั้งวอร์เรนและมาร์แชลเองต่างก็เจอปัญหาเหล่านี้ ตั้งแต่แรกสุดเมื่อเริ่มงานนี้เลย นั่นก็คือ ทั้งคู่ ไม่สามารถแยกแบคทีเรียดังกล่าว ออกมาเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยงได้อยู่นานมาก … ซึ่งกว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ได้ก็หมดเวลาไปเป็นปี ที่สำคัญก็คือ ที่แก้ปัญหาลุล่วงไปได้ ส่วนหนึ่งก็อาศัยลูกฟลุค แบบไม่น่าเชื่อเป็นตัวช่วยอีกด้วย!

จะได้โนเบล อาจต้องทั้งเก่ง…และเฮง!
วอร์เรนและมาร์แชลพยายามจะเพาะเชื้อในห้องทดลองให้ได้ในปี 1982 แต่ทว่าไม่ว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการไปอย่างไรก็ยังไม่สามารถเพาะเชื้อได้อยู่นั่นเอง แต่ในที่สุด วันแห่งโชคของพวกเขาก็มาเยือน เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อ Staphylococcus aureus ซึ่งดื้อยาก่อนเทศกาลอีสเตอร์เพียงไม่กี่วัน ทำให้ต้องมีตัวอย่างเชื้อที่ต้องตรวจสอบมากมายไปหมด และทำให้จานเลี้ยงเชื้อของพวกเขาก็ถูกลืมทิ้งไว้ในตู้เพาะเชื้อในช่วงวัน หยุดเทศกาลอีสเตอร์นานถึงห้าวัน จากที่ปกติแล้ว การเพาะเชื้อทั่วไปใช้เวลาเพียง 2 วัน
ปรากฏว่า คราวนี้พวกเขาเพาะได้เชื้อในจานเพาะเลี้ยงตามที่ต้องการครับ!
พวกเขารายงานการค้นพบไว้ในวารสารวิจัยทางการแพทย์ชื่อดัง แลนเซท (Lancet) ในปี 1983 โดยใช้หัวข้อชื่อเรื่องว่า “Unidentified curved bacilli on gastric epithelium” ซึ่งในปัจจุบันก็ถือว่าเป็นรายงานการวิจัยฉบับคลาสสิกไปแล้วอีกฉบับหนึ่ง

 
H. pylori ที่อยู่บนเซลล์กระเพาะของผู้ป่วย

 
H. pylori ที่เพาะเลี้ยงบนเซลล์ในห้องทดลอง


ภายหลังที่เพาะเชื้อ H. pylori ที่เติบโตช้ามากได้แล้ว พวกเขาก็พยายาม ทดสอบสมมติฐานเรื่องแบคทีเรีย เป็นสาเหตุของโรคดังกล่าว ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) กับผู้ป่วย ซึ่งก็ได้ผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดีกว่าวิธีการที่รักษากัน ในสมัยนั้น คือการให้ยาลดกรด ซึ่งบ่อยทีเดียว ที่พบว่าผู้ป่วยกลับมาเป็นโรคได้อีก ในขณะที่ผู้ป่วย ที่กินยาปฏิชีวนะ ไม่พบว่าผู้ป่วยเกิดเป็นโรคซ้ำแต่อย่างใด ซึ่งก็ช่วยตอกย้ำให้ทั้งคู่มั่นใจ ว่าแบคทีเรียรูปเกลียวชนิดนี้น่าจะเป็นสาเหตุอย่างแน่แท้
แม้กระนั้น แนวคิดใหม่ๆ ก็ยากที่จะได้รับการยอมรับโดยง่าย เห็นได้ชัดเจนจากประสบการณ์ ที่นักวิทยาแบคทีเรีย (bacteriologist) ชาวฝรั่งเศสชื่อ Francis M'graud เล่าเอาไว้ว่าในปี 1988 เมื่อเขาเข้าร่วมประชุม Pan American Congress of Gastroenterology เขาเผอิญได้ยินแพทย์บางคน คุยกันในทำนองดูถูกว่า “จะให้เรารักษาโรคกระเพาะด้วยยาปฏิชีวนะนะเหรอ ทำยังกับรักษาโรคโกโนเรีย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง) ไปได้!”
ในยุคนั้น คงยังเป็นเรื่องยากเกินไปจริงๆ สำหรับแพทย์ทั่วไปที่จะรับได้ว่า โรคกระเพาะอักเสบ จะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย … เพียงแค่นั้น!
ปัญหาไม่เพียงแต่เท่านั้น บริษัทยาที่ทำกำไรจากยาเคลือบรักษาโรคกระเพาะ ก็ต่อต้านเรื่องนี้อย่างหนักเช่นกัน แม้แต่นักวิทยาแบคทีเรียหลายๆ คนก็ยังข้องใจในช่วงแรก เพราะสภาพกรดยิ่งยวด ของกระเพาะดูจะเป็นสภาวะแวดล้อม ที่โหดร้าย ต่อแบคทีเรียเกินไป ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ มาร์แชลเองพยายาม ทดสอบการก่อโรคในสัตว์ทดลอง โดยการใส่เชื้อแบคทีเรียเข้าไปในลูกหมู แต่ก็ไม่ได้ผลชัดเจนนัก
ในท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย ของสถานการณ์ในราวกลางปี 1984 มาร์แชลก็ทำการทดลองอันหนึ่ง ที่น่าตกอกตกใจ และไม่ควรเลียนแบบเป็นอย่างยิ่ง แต่เป็นการทดลอง ที่ตรงไปตรงมาอย่างที่สุด ในการแสดงความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ-ผลลัพธ์ ของแบคทีเรีย H. pylori และโรคกระเพาะอักเสบ นั่นก็คือ เขาใช้ตัวเองเป็นหนูทดลอง!


หน้าที่ 3 - รางวัลโนเบล แด่ชายผู้หาญกล้ากลืนกินเชื้อโรค

ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ 
ฝ่ายบริหารจัดการความรู้
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BioTec)
วิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com)

ชายผู้หาญกล้ากลืนกินเชื้อโรค … เอื๊อก!
มาร์แชลเล่าประสบการณ์ในตอนนี้ ไว้อย่างน่าสนใจในวารสาร Medical Journal of Australia ว่า ผู้ทำการทดลองเป็นชายอายุ 32 ปี สูบบุหรี่เล็กน้อย และดื่มเมื่อเข้าสังคมบ้าง แต่ไม่เคย เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และไม่มีประวัติครอบครัวว่า มีสมาชิกคนใด เคยเป็นโรคแผลเปื่อย ในกระเพาะอาหารมาก่อน ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นผู้เข้าร่วมการทดลอง ที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบ สำหรับการทดลองนี้
เขาเทสารอาหารเลี้ยงเชื้อ ห้ามิลลิลิตรลงในจานเลี้ยงเชื้อ จากนั้น ก็หมุนจานไปรอบๆ จนกลุ่มเซลล์แบคทีเรีย ละลายปนในอาหารจนหมด ซึ่งทำให้ดูคล้ายกับซุปไก่สีเข้ม แล้วเขาก็ปิดตา เทใส่ปากแล้วก็ ... กลืนลงคอไป (เอื๊อกๆ)
ได้ผลแทบจะทันตาเห็นตามต้องการก็คือ ตลอดเวลาห้าวันต่อมาเขาต้องลุกมาอ้วกทุกเช้า ซึ่งเป็นอาการมาตรฐานสำหรับโรคนี้ ในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ต่อมา เขาก็ทนทุกข์ จากอาการของโรคกระเพาะอักเสบ และเกิดฝีหนองในกระเพาะอาหารในที่สุด
ในที่สุด จากผลการวิจัยที่ทำซ้ำและขยายขอบเขต ออกไปทั่วโลก ทำให้งานของพวกเขาได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ จุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องนี้มีอย่างน้อย 2 เหตุการณ์นั่นก็คือ ปี 1991 มีการประชุมที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (the Centers for Disease Control and Prevention) ในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีคำประกาศเรื่องความเกี่ยวข้องระหว่าง H. pylori กับโรคกระเพาะ ซึ่งเปรียบเสมือนกับเป็นการยอมรับ ความถูกต้อง และความมุ่งมั่นทุ่มเท อุทิศตนด้านการวิจัย ของมาร์แชลและวอร์เรน อย่างเป็นทางการจากแวดวงการวิจัยที่เป็นแนวทางหลัก
เช่นเดียวกับในปี 1994 ที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (the National Institutes of Health) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัย และให้ทุนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ของประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ความเห็นเป็นทางสนับสนุน สมมติฐานที่ว่า โรคกระเพาะอักเสบ ที่เกิดซ้ำในผู้ป่วยนั้น ส่วนใหญ่แล้วน่าจะมีสาเหตุจากผู้ป่วยติดเชื้อ H. pylori นั่นเอง
ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วไปว่า โรคแผลในกระเพาะอาหารราว 3 ใน 4 มีสาเหตุมาจาก H. pylori ซึ่งสามารถรักษาได้อย่างถาวรด้วยชุดยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม สำหรับการติดเชื้อนั้น มักจะเกิดตั้งแต่ในวัยเด็ก ผ่านทางสมาชิกในครอบครัวด้วยกัน แต่มักจะยังไม่แสดงอาการจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว

 
แผนที่แสดงเปอร์เซ็นต์ความถี่ที่พบเชื้อ H. pylori ในประชากรโลก

นอกจากนี้ ยังสังเกตเห็นกันด้วยว่าในกรณีของผู้ป่วย ที่ไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อดังกล่าวอาจจะนำไปสู่โรคมะเร็ง ของกระเพาะอาหารได้อีกต่างหาก
อ่านที่มาของการค้นพบ และผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว คุณเห็นด้วยกับคณะกรรมการคัดเลือก รางวัลโนเบล หรือเปล่าครับ ที่จะมอบรางวัล ให้คู่อาจารย์ลูกศิษย์ นักวิจัยสองคนนี้…
แต่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา มาร์แชลและวอร์เรน ก็ได้รับรางวัลโนเบล ที่มีมูลค่าราว 1.3 ล้านดอลลาร์ ไปเรียบร้อยแล้ว (อยากรู้ว่าเป็นเงินไทยเท่าไหร่ ก็ไปคูณกันเอาเองนะครับ)
แต่ที่เหนือกว่าเงินทองเป็นไหนๆ ก็คงจะได้แก่ ความเป็น “นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล” ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งในโลกนี้มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นเอง

 
หนังสือรวมบทความเกี่ยวกับ H. pylori ที่
มาร์แชลเป็นบรรณาธิการ

 
ตุ๊กตาหน้าตาน่าเอ็นดูที่ออกแบบตามลักษณะของ H. pylori

สถิติต่างๆ ของ เฮลิโคแบคเทอร์ ไพลอไร (Helicobacter pylori) 
+ พบแบคทีเรีย H. pylori ในกระเพาะของราวครึ่งหนึ่งของคนในโลกนี้ 
+ ในประเทศที่กำลังพัฒนา เกือบทุกคนติดเชื้อนี้ 
+ การติดเชื้อปกติแล้วเกิดในวัยเด็ก แต่แบคทีเรียอาจจะยังคงอาศัยอยู่ ในกระเพาะอาหาร ได้ตลอดชีวิตของคนผู้นั้น 
+ ในคนส่วนใหญ่จะไม่พบอาการป่วยแต่อย่างใด 
+ แบคทีเรียนี้ก่อโรคได้ราว 10-15 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ติดเชื้อ


ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/320

อัพเดทล่าสุด