4 เรื่องฝากครรภ์ที่แม่ต้องรู้


1,196 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - 4 เรื่องฝากครรภ์ที่แม่ต้องรู้

           เมื่อคุณแม่รู้ว่าตั้งครรภ์แล้ว สิ่งแรกที่คุณแม่จะต้องทำก็คือการไปพบคุณหมอและฝากครรภ์ ซึ่งควรจะรีบไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้อยู่ในความดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิดค่ะ ฝากครรภ์, ตรวจครรภ์ 
           1. ฝากครรภ์...เรื่องสำคัญของแม่ท้อง การฝากครรภ์ไม่ควรเกิน 3 เดือนนับจากมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งการฝากครรภ์จะทำให้คุณแม่ได้พบคุณหมอเพื่อรับการตรวจร่างกายสม่ำเสมอ และคุณหมอ ยังสามารถตรวจสอบและรักษาได้ทันหากเกิดความผิดปกติในครรภ์หรือมีโรคแทรกซ้อน ที่อาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน เป็นต้น การทราบล่วงหน้าว่าแม่หรือทารกมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ จะทำให้คุณหมอสามารถแก้ปัญหาและดูแลได้อย่างเหมาะสม เช่น ดูแลครรภ์อย่างใกล้ชิด กำหนดวิธีคลอด และระยะเวลาที่จะคลอด รวมถึงการดูแลหลังคลอด ซึ่งคุณหมอจะให้คำแนะนำที่ถูกต้องเพื่อให้คุณแม่ดูแลสุขภาพของตนเองและลูกในท้องให้แข็งแรงตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์

           2. ฝากครรภ์...ตรวจอะไรบ้าง? ในการตรวจครรภ์ครั้งแรก คุณหมอจะถามข้อมูลและประวัติเกี่ยวกับคุณแม่ ครอบครัว โรคประจำตัว โรคที่เคยเป็นมาก่อน การแพ้ยา ประวัติการแท้งหรือการ ตั้งครรภ์ก่อนหน้านี้ จากนั้นคุณหมอจะตรวจร่างกายและตรวจครรภ์เพื่อตรวจว่ามีโรคที่เป็นอันตรายต่อ การตั้งครรภ์หรือไม่ การตรวจร่างกายโดยละเอียดจะทำให้คุณหมอได้ทราบถึงสุขภาพของแม่ท้อง ซึ่งข้อมูล การตรวจทั้งหมดจะถูกเก็บไว้เป็นข้อมูล พื้นฐานสำหรับการตรวจครั้งต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการบางอย่างที่จำเป็นสำหรับ การตรวจครรภ์ เช่น การตรวจปัสสาวะเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ และตรวจไข่ขาวในปัสสาวะเพื่อหาความ ผิดปกติของไตหรือภาวะครรภ์เป็นพิษ การตรวจความเข้มข้นของเลือด เพื่อตรวจว่ามีภาวะโลหิตจางหรือไม่ การอัลตร้าซาวนด์เพื่อดูอายุครรภ์ที่แน่นอน การเต้นของหัวใจ และดูความผิดปกติของทารก รวมถึงการตรวจหาโรคอื่นๆ ที่อาจถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูก หลังจากตรวจครรภ์ครั้งแรกแล้ว คุณหมอจะนัดตรวจครรภ์อีกเป็นระยะ เพื่อดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์หรืออาการแทรกซ้อนต่างๆ ในคุณแม่ ซึ่งในช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 12 – 28 คุณหมอจะนัดตรวจครรภ์ทุก 4 สัปดาห์ หรือเดือนละครั้ง หลังจากนั้นในระหว่างสัปดาห์ที่ 28 – 36 ของการตั้งครรภ์ จะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ และในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ จะนัดตรวจสัปดาห์ละครั้ง จนถึงกำหนดคลอด ทั้งนี้ตารางการพบคุณหมอ อาจขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอที่ดูแล ซึ่งแม่ท้องแต่ละคนอาจมีการนัดหมาย ที่แตกต่างกัน ถ้าการตั้งครรภ์ผิดปกติ เช่น มีโรคแทรกซ้อน อาจนัดตรวจบ่อยกว่าที่กำหนด หากคุณแม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตั้งครรภ์หรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำหรือรับการรักษาฝากครรภ์, ตรวจครรภ์ 

           3. ฝากครรภ์...เลือกหมออย่างไรดี? การเลือกสถานที่ฝากครรภ์ไม่ใช่เรื่องยาก คุณแม่ควรเลือกฝากครรภ์ที่ โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ครั้งแรกแล้ว ควรพิจารณาและสอบถามคุณหมอ ดังนี้ 
             
 ความสะดวกในการเดินทางของสถานพยาบาลที่คุณแม่ไปพบคุณหมอ 
             
 ตารางวันและเวลาของโรงพยาบาลหรือคลินิกที่คุณหมอออกตรวจในแต่ละวัน 
             
 ในการตรวจจำเป็นต้องนัดล่วงหน้าทุกครั้งหรือไม่ 
             
 หากคุณหมอไม่ออกตรวจ หรือเกิดกรณีฉุกเฉิน สามารถพบคุณหมอได้ที่ไหน หรือจะฝากให้คุณหมอท่านไหนดูแลแทน 
             
 เมื่อคุณแม่มีข้อสงสัย ทุกคำถามได้รับคำตอบจากคุณหมอหรือไม่ 
             
 การไปตรวจครั้งนี้เป็นไปอย่างละเอียดและได้รับการเอาใจใส่หรือไม่ 
             
 ควรถามคุณหมอว่ามีความชำนาญด้านใดเป็นพิเศษ เช่น สูติ-นรีเวช หรือ การตั้งครรภ์ 
             
 อัธยาศัยของคุณหมอดีหรือไม่ คุณแม่ควรเปิดใจรับหลักการและวิธีการตรวจและรักษาของคุณหมอที่ไปหา 
           แต่หากไม่ถูกใจที่ไปฝากครรภ์ครั้งแรกก็อย่าลังเลใจที่จะเปลี่ยนคุณหมอคนใหม่ เพราะคุณหมอจะต้องดูแลคุณแม่ไปจนถึงการคลอดและช่วงหลังคลอด ฝากครรภ์, ตรวจครรภ์ 

           4. ฝากครรภ์...แม่กับหมอต้องเข้าใจกัน ในการฝากครรภ์ คุณหมอแต่ละท่านมีความชำนาญ ประสบการณ์ วิธีการที่ ต่างกัน และคุณแม่แต่ละคนก็มีความต้องการที่ต่างกัน ดังนั้น คุณแม่ควรพยายามสื่อสารให้ดีที่สุดและพูดคุยกับคุณหมอบ่อยๆ เพื่อที่คุณแม่และลูกจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดตลอดการตั้งครรภ์ การปรับความคิดเห็นของคุณแม่กับคุณหมอเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรมีการพูดคุย ขอความคิดเห็นและซักถามข้อสงสัยทุกครั้งที่พบคุณหมอ จะช่วยให้คุณแม่และ คุณหมอเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น จดบันทึกข้อสงสัยหรืออาการผิดปกติทุกครั้งเพื่อปรึกษาคุณหมอ และจดบันทึกคำแนะนำในการพบกันแต่ละครั้ง อย่าลังเลที่จะถามข้อสงสัย แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย หากปล่อยให้เกิดข้อสงสัยในใจโดยไม่ซักถามหรือหาข้อมูลที่ถูกต้องอาจก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคุณแม่และคุณหมอที่ดูแล หากสงสัยว่าคุณหมอทำอะไรผิดพลาดต้องอย่านิ่งเฉย ควรซักถามเพื่อจะได้ตรวจสอบอีกครั้ง การโต้แย้งควรทำในลักษณะนุ่มนวลและจริงใจ ซึ่งเป็นการแสดงความสนใจและมีส่วนร่วมในการรักษาด้วย 
ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/42294

อัพเดทล่าสุด