สุขภาพเด็กอ่อนในหน้าหนาว


1,131 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - สุขภาพเด็กอ่อนในหน้าหนาว

               เด็กอ่อนเป็นเด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานต่างๆ ยังน้อยอยู่ ควรได้รับการเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ โรคที่พบได้บ่อยๆ ในฤดูหนาวที่สำคัญคือ โรคการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
               ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมของทุกปี จะเป็นระยะที่อากาศเริ่มเย็นลงเด็กๆ จะเริ่มไม่สบายกันมากโดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 1 ปี ในช่วงนี้
               ไวรัสบางตัวจะมีการเจริญเติบโตได้ดี จึงพบโรคซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้บ่อย โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ การอักเสบของโพรงจมูกและลำคอ ที่เรารู้จักกันว่า "ไข้หวัด"โดยเฉพาะเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 6 เดือน จะมีทางเดินหายใจค่อนข้างเล็ก เมื่ออากาศเย็นลง ร่างกายจะพยายามปรับอุณหภูมิของอากาศ ซึ่งจะผ่านลงไปในปอดให้อุ่นขึ้น โดยการเพิ่มปริมาณเลือดที่ไหลมายังโพรงจมูก ให้มากขึ้น เมื่อเลือดไหลมาที่โพรงจมูกมากกว่าปกติ เยื่อบุจมูกจะมีการบวม ดังนั้น เราจะสังเกตได้ว่าเด็กอ่อนในช่วงหน้าหนาว จะมีอาการหายใจขัดหรือหายใจลำบากได้ บ่อย เมื่อมีอาการอักเสบจากเชื้อไวรัส เยื่อบุจมูกจะหลั่งสารเมือกซึ่งเราเรียกว่า "น้ำมูก" ออกมามาก ทำให้เด็กหายใจลำบากมากขึ้น นอกจากอาการหายใจลำบาก เด็กบางคนจะมีอาการไข้ต่ำๆ ร้องกวน ดูดนมได้น้อยลง อาจมีอาการไอเล็กน้อย
               ดังนั้น เมื่อเด็กมีอาการหายใจลำบาก เนื่องจากเยื่อบุจมูกบวม ควรให้การช่วยเหลือ โดยการใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำอุ่น เช็ดในโพรงจมูกทั้งสองข้าง ในกรณีที่เป็นมาก เด็กอาการไม่ดีขึ้น หลังจากการช่วยเหลือ ดังกล่าว เราอาจให้การช่วยเหลือโดยใช้สำลีพันปลายไม้ ชุบยาที่ช่วยลด อาการบวมของเยื่อบุจมูก เช็ดในโพรงจมูก วันละ 3-4 ครั้ง ไม่ควรใช้ยา นี้ติดต่อกันเกิน 3 วัน ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาเกิน 3 วัน ควรหยุดยา 1 วัน แล้วใช้ต่อไปได้ ผู้ปกครองไม่ควรใช้น้ำมันระเหย หรือยูคาลิปตัส มาป้ายบริเวณจมูก เสื้อหรือหน้าอก เพราะอาจมีอันตรายต่อเด็กเล็กๆ ได้ ไม่ควรใช้ยาลดน้ำมูกชนิดรับประทานกับเด็ก ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพราะนอกจากจะทำให้เสมหะหรือน้ำมูกเหนียวมากขึ้นแล้ว ถ้าใช้เกินขนาดอาจเกิดพิษจากยาลดน้ำมูก ทำให้เด็กมีอาการชักหรือหยุดหายใจได้

               เมื่อเด็กเริ่มเป็นหวัด พยายามให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ให้เด็กพักผ่อนมากๆ นอกจากการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายแล้ว ควรให้เด็กดื่มน้ำมากๆ เพราะจะทำให้เสมหะใสขึ้น ทำให้ถูกขับออกจากปอด อาการไอ จะลดน้อยลงตามลำดับ ผู้ปกครองไม่ควรนำยาลดน้ำมูกมาใช้ เพราะจะทำให้เสมหะเหนียวมากขึ้น ทำให้ไปอุดหลอดลม เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
               การป้องกันผิวหนังของเด็กเล็กที่สำคัญ คือ ไม่ควรอาบน้ำอุ่นให้กับเด็กบ่อยครั้งนัก เพราะน้ำอุ่น จะชะล้างไขมันที่เคลือบผิวหนังออกไปจนหมด
              
 สรุปในช่วงหน้าหนาวควรทำให้ร่างกายของเด็กอบอุ่นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบขึ้นในระบบทางเดินหายใจ ในกรณีที่เป็นหวัดควรทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนโล่งอยู่เสมอ เพื่อให้เด็กหายใจได้สะดวก ถ้าเด็กไอมาก มีอาการหายใจเร็วหรือหายใจลำบาก ควรพาเด็กไปปรึกษาแพทย์

               ในระยะนี้ ไม่ควรทำความสะอาดเด็กบ่อยครั้งนัก เพราะจะทำให้ผิวแห้งและแตกได้ ถ้าพบว่าเด็กเริ่มมีอาการดังกล่าว การใช้ครีมทาผิวหนังในระยะแรกอาจช่วยป้องกันหรือลดการอักเสบของผิวหนังจากความเย็นลงได้

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/42117

อัพเดทล่าสุด