แนะ 3 เทคนิค แก้โจทย์เลี้ยงลูกในยุค 2010


1,013 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - แนะ 3 เทคนิค แก้โจทย์เลี้ยงลูกในยุค 2010

              เมื่อสังคมเปลี่ยนปฏิเสธไม่ได้ว่า โจทย์ในการเลี้ยงลูกย่อมมีระดับความยากตามไปด้วย โดยเฉพาะในยุคที่เด็กต้องเผชิญกับความเจริญทางวัตถุ เทคโนโลยี และกระแสวัฒนธรรมต่างชาติ จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่หนักใจ เพราะถ้าหากตามไม่ทัน อาจตกกระแส และพูดคุยกับลูกไม่รู้เรื่องกลายเป็นรอยแยกทางความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกได้

              พญ.เพียงทิพย์ หังสพฤกษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ โดยคุณหมอได้แนะนำเทคนิค 3 ข้อไว้เป็นตัวช่วยในการแก้โจทย์เลี้ยงลูกยุค’ 2010 ที่ถึงแม้จะเป็นเทคนิคพื้นๆ แต่ถ้าใช้อย่างเข้าใจ ย่อมเกิดผลในทางที่ดีได้ไม่น้อย

เทคนิคที่ 1 อย่าบ่นว่าไม่มีเวลากับลูก
              เวลาคือสิ่งสำคัญสำหรับลูก โดยเฉพาะเวลาคุณภาพที่จะพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่กับลูก เช่น มีเวลาไปเดินเล่น ดูหนัง ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่แม่บางคนจะมักอาศัยช่วงเวลาตอนเช้า หรือตอนเย็นในการขับรถรับส่งลูกที่โรงเรียน เอาเวลาที่อยู่บนรถเป็นเวลาในการพูดคุยกับลูก เพราะหาโอกาสและเวลาที่จะคุยกันได้ยาก
              บางครั้งการคุยกันบนรถก็อาจไม่ใช่ทางออกเสมอไป เนื่องจากเวลาพูดคุยกันนั้น ปากลูกอาจจะเออออไปด้วย แต่ในมือกำลังเล่นเกม หรือให้ความสนใจกับเกมในมือถืออยู่ ทำให้แม่กับลูกมองไม่เห็นการแสดงออกของอีกฝ่าย
              ดังนั้นการใช้เวลาพูดคุยกับลูก จิตแพทย์รายนี้แนะนำว่า ต้องใช้เวลาที่มีคุณภาพ ถึงแม้จะน้อยนิดแค่ไหนก็ตาม พ่อแม่ควรแบ่งเวลาเอาไว้สำหรับลูกบ้าง หากไม่มีธุระด่วน หรืองานกะทันหัน ควรพูดคุยถามถึงปัญหาของลูกด้วยความห่วงใย โดยการพูดคุยแบบนี้จะทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจและกล้าเล่าให้แม่ฟังเมื่อมีปัญหาซี่งไม่ใช่มาคอยจับผิด
              "โดยทั่วไปแล้วธรรมชาติของเด็กตั้งแต่วัยประถมขึ้นไปถือว่าเป็นวัยที่เริ่มมีความเกรงใจ หากพ่อแม่บอกว่าไม่ค่อยมีเวลา แต่ถ้าหากลูกมีปัญหาอะไรก็ให้มาปรึกษา เช่น มีปัญหาเรื่องการเรียน เพื่อนรังแก ทะเลาะกับครู หรืออกหัก ตามธรรมชาติแล้วเด็กจะไม่ปรึกษาพ่อแม่ เขาจะคิดว่าไม่อยากเอาภาระไปให้แม่ เพราะเห็นแม่บอกว่าไม่มีเวลา เด็กก็เลยใช้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ถ้าหากพ่อแม่ไม่เกิดความเอะใจหรือระแวงว่าลูกจะเกิดความเกรงใจและอาจจะเก็บ ปัญหาเอาไว้ เมื่อเกิดความผิดพลาดไปแล้วก็จะมาเสียใจและเสียดายที่ไม่มีเวลาให้ลูก ซึ่งไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีสำหรับแม่ เหมือนกับเป็นการโยนความรับผิดชอบให้กับลูก" จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นกล่าว
เทคนิคที่ 2 อย่ายัดเยียดหรือฝืนใจลูก

              สำหรับเทคนิคที่ 2 นี้ ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน พ่อแม่จะต้องเข้าใจด้วยว่าลูกชอบหรือไม่ชอบอะไร ต้องการสิ่งไหน หรือนิสัยใจคอของลูกเป็นอย่างไร เพราะเรื่องของความเข้าใจระหว่างแม่กับลูกถือเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญใน การเลี้ยงลูกยุคนี้ เพราะบางทีหากแม่ไม่มีความเข้าใจลูกว่าลูกชอบหรือต้องการสิ่งไหน แม่ก็จะไม่รู้และพยายามเลือกสิ่งต่างๆ ให้กับลูกด้วยเหตุผลของตัวเอง เหตุผลที่รู้มาว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นเหมาะกับลูก ซึ่งอาจมองข้ามความชอบ ความต้องการและความเหมาะสมกับบุคลิก อารมณ์ นิสัยของลูกไป ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

              นอกจากนี้ หากเลือกให้ลูกมากเกินไป อาจเกิดเป็นการจะทะเลากันรุนแรง ทำให้แม่ลูกมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ภาพ ต่อไปอาจจะทำให้ลูกต่อต้าน หรือทำอะไรที่ไม่คาดคิดได้ เช่น หนีออกจากบ้าน หรือแอบไปทำอะไรที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม เพราะเด็กเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองว่าเขามีสิทธิ์ และมีความต้องการที่จะเลือกอะไรได้
              "แม้ว่าคุณแม่หลายคนในปัจจุบันจะพยายามเป็นแม่ที่ดีโดยการทำอะไรก็ตามที่ได้ เห็นลูกออกมาดี แต่ทางอ้อมอาจไม่ได้ตั้งใจ เลยคาดหวัง กดดันลูก โดยที่ไม่รู้ตัว เพราะคิดว่าเป็นความปรารถนาดี แต่อยากให้แม่ลองเช็กดูว่าตัวเราเป็นกลางหรือเปล่า มีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจลูกแค่ไหน เพราะการที่ลูกได้รับสิ่งดีๆ เยอะแยะมากมายที่แม่พยายามทำและเลือกให้นั้น แท้ที่จริงแล้วเขาอาจจะเข้าใจในความหวังดี และเหตุผลที่แม่มีต่อลูก แต่สิ่งต่างๆ เหล่านั้นแม่อาจจะไม่เข้าใจลูกเลยว่า เขาต้องการสิ่งเหล่านั้นจริงๆ หรือไม่ เขาอาจจะต้องการอะไรที่แตกต่างออกไป ความต้องการที่แท้จริงของเขา ซึ่งอาจจะแตกต่างจากสิ่งที่พ่อแม่เลือกให้ก็ได้"  
เทคนิคที่ 3 อย่ารู้ครึ่งๆ กลางๆ
              เทคนิคสุดท้าย จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น เผยว่า พ่อแม่ต้องรู้ลึกรู้จริง เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน พ่อแม่บางคนมักใช้ความรู้ และวิธีที่ตนเองเคยประสบความสำเร็จมา บางทีอาจได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรมีสติ คอยสังเกต อย่าไปยึดติดกับลูกตนเอง และยึดติดกับสิ่งที่เคยได้ผล หากไมได้ผลก็ควรเปลี่ยนวิธี เลิกใช้ และหาแนวทางวิธีใหม่ๆ แทนซึ่งสามารถหาความรู้ได้มากมายทั้งจากอินเตอร์เน็ต หนังสือ การอบรม สัมมนาต่างๆ หรืออาจจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนร่วมงานก็ได้ เพราะบางทีเพื่อนร่วมงานอาจจะมีลูกวัยใกล้เคียงกัน หรือโตกว่า สามารถเล่าถึงประสบการณ์การเลี้ยงลูกให้กันได้ เช่น แม่บางคนอาจจะใช้วิธีทำโทษลูกแบบนี้ แล้วไม่ได้ผลแต่สำหรับแม่บางคนใช้อีกวิธีลูกกลับเข็ดหลาบและไม่กล้าทำอีก ก็อาจจะลองนำวิธีที่ได้ผลของแม่อีกคนไปใช้ดู ที่สำคัญผู้ที่เป็นแม่ควรเปิดใจให้กว้าง ยอมรับฟังวิธีการใหม่ๆจากเพื่อนๆ ซึ่งถือเป็นการแลกเปลี่ยนที่ได้ผลและมีประโยชน์สำหรับแม่ยุคนี้
              เทคนิคทั้ง 3 ข้อข้างต้น ถึงแม้จะเป็นเทคนิคพื้นๆ แต่ถ้าพ่อแม่ทุกคนให้ความสำคัญและใช้ให้เป็น จากโจทย์เลี้ยงลูกที่ยากจะกลายเป็นเรื่องง่าย เพราะนอกจากคุณจะเข้าใจลูกแล้ว ลูกยังรัก และเข้าใจคุณอีกด้วย ดังนั้น ทีมงานขอเป็นกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ต้องเลี้ยงลูกในยุคใหม่ทุก คน

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/41822

อัพเดทล่าสุด