มุมเด็ก ปลูกฝังพวกเขาแต่วัยเยาว์


1,018 ผู้ชม



หน้าที่ 1 - มุมเด็ก ปลูกฝังพวกเขาแต่วัยเยาว์

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านอาหารแห่งเอเชีย (AFIC)

            มีหลักฐานชัดเจนว่าเด็กที่มีน้ำหนักส่วนเกินโดยปกติจะนำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนในผู้ใหญ่ ช่วงวัยเด็กถือเป็นโอกาสดีที่สุดสำหรับการสร้างนิสัยดีๆต่อสุขภาพ เช่น การทำกิจกรรมทางร่างกายเป็นประจำและการสมดุลอาหาร บทความนี้ขอเสนอเคล็ดลับในการปลูกฝังสร้างนิสัยที่ดีต่อสุขภาพให้กับเด็กๆ ตั้งแต่เนิ่นๆโดยนิสัยจะยาวนานไปตลอดชีวิต และเป็นบทสรุปสั้นๆเตือนใจเกี่ยวกับเหตุผลที่สำคัญนี้

            คนเอเชียรุ่นก่อนๆจำนวนมากเติบโตขึ้นมาอย่างค่อนข้างขาดสารอาหารเล็กน้อย จึงมีผลให้ร่างกายชะลอการเจริญเติบโตและพัฒนาการคนรุ่นก่อนนี้เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักตัวเมื่อเข้าช่วงผู้ใหญ่ตอนกลาง ซึ่งต่างกับเด็กยุคปัจจุบัน แม้อัตราโรคอ้วนในเด็กของเอเชียทุกวันนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสังเกตถึงแนวโน้มภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กที่สูงขึ้นอย่างฉับพลันและมีความวิตกกังวลว่า อัตราโรคอ้วนในเด็กของเอเชียจะไล่ทันซีกโลกตะวันตกอีกไม่นาน

เด็กตัวใหญ่, ปัญหาใหญ่
            แต่ก่อนทารกและเด็กวัยหัดเดินที่อ้วนจ้ำม่ำดูเป็นที่ชื่นชอบ เนื่องจากน้ำหนักที่เกินมานิดหน่อยนั้นเป็นตัวบ่งบอกถึงสุขภาพที่สมบูรณ์ และยังสามารถป้องกันในกรณีการขาดแคลนอาหารช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือน้ำหนักลดเนื่องจากความเจ็บป่วย แต่ในปัจจุบัน โรคอ้วนในเด็กที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวานประเภท 2 มีอัตราเพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ผลกระทบนี้เกิดเฉพาะในผู้ใหญ่ที่มีภาวะน้ำหนักเกินเท่านั้น ในกลุ่มเด็กๆที่มีภาวะน้ำหนักเกินยังมีแนวโน้มทุกข์ทรมานจากโรคหืด เมื่อก่อนผู้ใหญ่วัยกลางคนเท่านั้นที่มีปัญหาโรคความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลสูง แต่ขณะนี้ก็กำลังคืบคลานเข้าใกล้เด็กภาวะน้ำหนักเกินด้วยเช่นกัน

            ปัญหาด้านสุขภาพของเด็กที่มีน้ำหนักเกินเหล่านี้ยังคงมีอยู่และเริ่มรุนแรง มากขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ งานศึกษาในวารสาร Circulation รายงานว่า เด็กภาวะน้ำหนักเกินมีแนวโน้มมากกว่า 3-5 เท่าที่จะได้รับความทุกข์ทรมานจากหัวใจวายเฉียบพลันหรือโรคลมอัมพาตก่อนอายุ 65 ปีมากกว่าเด็กที่โตขึ้นโดยมีน้ำหนักปกติ
            เด็กภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนยังต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่คุกคามชีวิตระยะยาว หลายคนอาจประสบความทุกข์ทรมานจากคุณภาพชีวิตที่ลดลง เด็กๆที่ต้องแบกน้ำหนักส่วนเกินในช่วงปีที่ร่างกายกำลังเติบโตอาจทำให้ กระดูกและข้อต่อซึ่งกำลังพัฒนาทำงานหนักเกินไป และส่งผลให้พวกเขาต้องทนทุกข์จากภาวะแทรกซ้อนจากโรคกระดูกและข้อ
            เด็กภาวะน้ำหนักเกินยังอาจประสบกับภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (sleep apnea)  เด็กจะนอนหลับไม่ต่อเนื่องและยากต่อการมีสมาธิจดจ่อเมื่ออยู่ในโรงเรียนซึ่งอาจกระทบด้านลบต่อผลการเรียน
            เด็กส่วนมากไม่ต้องการเห็นตัวเองดูแปลกแตกต่างจากกลุ่มเพื่อน และเด็กมีภาวะน้ำหนักเกินอาจพบว่าตัวเองถูกโดดเดี่ยวจากเพื่อนๆ ซึ่งส่งผลต่อความนับถือและมั่นใจในตนเอง ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนนั้นแท้จริงแล้วถูกพบว่าสัมพันธ์โดยตรงกับความ นับถือตนเองต่ำในเด็ก

กังวลกับความผิดปกติในการรับประทานอาหาร (eating disorder)

            ขณะที่ความผิดปกติในการรับประทานอาหาร เช่น บูลีเมีย (bulimia) หรือ อะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (anorexia nervosa) ได้รับความสนใจจากสื่ออย่างมาก ปัญหารุนแรงเหล่านี้จริงๆแล้วพบได้น้อยกว่าภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องตระหนักไว้ว่าภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนเป็น ประเด็นด้านสุขภาพที่รุนแรงพอๆกับความผิดปกติในการรับประทานอาหาร ถึงแม้จะ มีความเชื่อทั่วๆไปว่า ความผิดปกติในการรับประทานอาหารเกิดจากความต้องการอยากมีรูปร่างในอุดมคติ ที่เน้น ‘ความผอมบาง’ แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่า ความผิดปกติในการรับประทานอาหารเป็นผลจากปฏิกิริยาตอบสนองทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนมากกว่าการให้ความสำคัญง่ายๆกับการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและการจัดการน้ำหนัก
บันไดขั้นแรก

            วัยเด็กยังเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้และพัฒนาลักษณะนิสัยซึ่งจะยาวนานตลอดชีวิต เด็กที่ได้เรียนรู้ถึงนิสัยที่ดีต่อสุขภาพมีแนวโน้มจดจำและรักษานิสัยนี้ไปตลอดชีวิต 
            พ่อแม่หลายคนไม่ทราบว่าน้ำหนักเกินจากช่วงวัยเด็กนั้นจะไม่หายไปอัตโนมัติ เมื่อพวกเขาโตขึ้น ไขมันที่ร่างกายสะสมไว้และจะถูกร่างกายกำจัดไปเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น (Baby fat) อาจแปรเปลี่ยนเป็นไขมันผู้ใหญ่ที่ดื้อด้าน เว้นแต่ทั้งพ่อแม่และตัวเด็กจะช่วยกันยับยั้งการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก
            ถึงแม้โดยทั่วไปจะไม่แนะนำเด็กน้ำหนักเกินให้ควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักหรือลด น้ำหนักอย่างรวดเร็ว แต่ขั้นตอนการยับยั้งปัจจัยที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นนั้นก็มีประโยชน์อย่างสำคัญต่อสุขภาพ การศึกษาหนึ่งจากประเทศเยอรมันพบว่า เด็กอ้วนที่ค่าดัชนีมวลกาย(BMI) ลดลงเพียงเล็กน้อยมีพัฒนาการโดยรวมด้านสุขภาพดีขึ้น โดยวัดจากปริมาณไขมันในเส้นเลือดแดง ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการต้องทนทุกข์จากโรคหัวใจและหลอดเลือดในช่วงชีวิตต่อมา
            สิ่งสำคัญอย่างแรกสุดคือ ต้องระบุให้ได้ว่าลูกๆของคุณน้ำหนักเกินหรือไม่ หากใช่เกินมามากเพียงใด เด็กที่มีสุขภาพดีมีไขมันร่างกายน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่คิดว่าลูกหลานของพวกเขาน้ำหนักเกินจนกระทั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพประเมินให้ทราบ วิธีการดีที่สุดเพื่อตรวจสอบว่าเด็กๆของคุณน้ำหนักเกินหรือไม่คือ ดูจากแผนภูมิการเจริญเติบโตซึ่งพบเห็นได้บ่อยในสำนักงานแพทย์ และการตรวจสอบสุขภาพพร้อมปรึกษาหารือกับแพทย์หรือนางพยาบาลประจำครอบครัว เป็นบันไดขั้นแรกที่ดีสำหรับผู้ปกครองและเด็กๆที่มีความวิตกกังวล ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐยังมีแผนภูมิการเจริญเติบโตมาตรฐานระหว่างประเทศแสดงบนเว็บไซต์ ถึงแม้สำหรับบุคคลทั่วไปจะใช้ยุ่งยากสักหน่อย แต่ก็อาจเป็นแหล่งข้อมูลมีประโยชน์สำหรับบางคน

ก้าวไปให้ถูกทาง
            อย่ามองเพียงปัญหาจากตัวเด็กเท่านั้น ต้องกลับมามองถึงนิสัยการรับประทานอาหารของคนทั้งครอบครัวเช่นกัน บ่อยครั้งที่เด็กน้ำหนักเกินเป็นลูกหลานของผู้ใหญ่น้ำหนักเกิน และหากครอบครัวคุณเข้าข่ายประเด็นนี้ ก็ได้เวลาที่ต้องมามองว่าครอบครัวของเรากำลังรับประทานอะไรอยู่และรับประทานกันอย่างไร ถึงแม้ว่าสมาชิกบางคนยังมีน้ำหนักตัวในเกณฑ์ปกติ แต่ความพยายามปรับปรุงคุณภาพโภชนาในอาหารของครอบครัวยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้านอื่นๆต่อทุกคนอย่างถ้วนหน้า และจำเป็นอย่างมากต่อเด็กน้ำหนักเกิน
            มื้ออาหารหลักๆที่จะรับประทานทั้งในและนอกบ้านควรตั้งเป้าหมายให้มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน, ผักและผลไม้, โปรตีน และไขมันต่ำเป็นหลัก
            ให้ดูประเภทของว่างขบเคี้ยวที่เด็กๆของคุณกำลังรับประทานอยู่ด้วย ของขบเคี้ยวเป็นส่วนสำคัญสำหรับเด็กกำลังเจริญเติบโต คุณอาจพบว่าการควบคุมความอยากและการพยายามรักษาระดับพลังงานให้ต่อเนื่องระหว่างมื้ออาหารเป็นเรื่องยาก อาหารที่สมดุลสามารถรวมของขบเคี้ยวได้ทุกประเภท รวมถึงมันฝรั่งแผ่นทอดและลูกกวาดในบางโอกาส ควรตั้งเป้าหมายการสมดุลของขบเคี้ยวเหล่านี้โดยจัดร่วมกับอาหารว่างแคลอรีต่ำอื่นๆ เช่น ผลไม้แห้งหรือสด, โยเกิร์ตไขมันต่ำ, ข้าวอบกรอบ, เครื่องดื่มนมถั่วเหลืองปรุงแต่ง นอกจากนี้ แนะนำให้มีการพักรับประทานของว่างซัก 2-3 นาทีแทนการรับประทานอย่างเร่งรีบ ซึ่งจะกระตุ้นตัวเด็กให้พัฒนาความไวต่อสิ่งกระตุ้นความอยากอาหารภายในมากขึ้น และแนวโน้มการรับประทานเมื่อไม่หิวน้อยลง อาหารเช้าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกกลุ่มอายุ และงานวิจัยพบว่าผู้รับประทานอาหารเช้ามีรูปร่างผอมบางกว่าผู้ที่ละเลยอาหารเช้าเป็นประจำ หากเด็กๆของคุณไปโรงเรียนด้วยกระเพาะอาหารที่ว่างเปล่า และเมื่อไปถึงโรงเรียนก็หยิบซื้ออาหารอย่างแรกที่ดูน่ารับประทาน ขอให้พิจารณากลยุทธ์ทางเลือกอื่นๆ เช่น เตรียมกล่องอาหารเช้าเล็กๆให้ไปรับประทานที่โรงเรียนหรือบนรถประจำทางหรือนำอาหารทานเย็น(cold foods)ง่ายๆที่แช่เย็นไว้ตอนกลางคืนมาวางเตรียมไว้ให้ เพื่อการเตรียมและการบริโภคอาหารเช้าจะได้ไม่ต้องแข่งกับกิจกรรมที่ใช้เวลาอื่นๆในช่วงเช้าที่เร่งรีบ
            จงจำไว้ว่า เด็กไม่ควรถูกสั่งให้ควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักนอกจากจะได้รับคำแนะนำจากผู้ เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพราะมีผลเกี่ยวกับภาวะทางสุขภาพที่ร้ายแรง ความต้องการด้านสารอาหารของเด็กสูงกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากอยู่ในช่วงระหว่างเจริญเติบโตและมีพัฒนาการการควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักโดยทั่วไปใช้กับผู้ใหญ่ ซึ่งอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารจำเป็นในช่วงที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
ก้าวต่อไป
            จงกระตุ้นลูกๆของคุณให้กระตือรือร้นอยู่เสมอ เด็กๆส่วนมากคล่องแคล่วว่องไวโดยธรรมชาติเมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนซึ่งอาจทำ ให้คุณรำคาญได้ในบางครั้ง แต่ขอให้อดกลั้นที่จะหยุดเสียงอึกทึกครึกโครมด้วยการให้เด็กทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ เช่น ดูโทรทัศน์หรือวิดีโอ แต่ให้เชื่อมโยงการเคลื่อนไหวร่างกายเข้ากับความสนุกสนานแทน

            สนับสนุนลูกๆของคุณให้เต้นหรือเคลื่อนไหวไปพร้อมๆกับตัวละครในโทรทัศน์ ให้ของเล่นที่พวกเขาต้องใช้ความคล่องแคล่วในการเล่น เช่น เชือกสำหรับกระโดด, จอนร่อน, จักรยาน, รถของเล่นเด็กที่ใช้เท้าถีบ(scooter), ว่าว, แบดมินตันรุ่นสำหรับเด็ก, ลูกฟุตบอลหรือลูกกอล์ฟ ล้วนเป็นสิ่งของที่ทำให้เด็กๆได้ใช้พลังงานขณะเล่น

            เด็กๆวัยเรียนมักมีเวลาเล่นเพียงน้อยนิด หาเวลาช่วงสุดสัปดาห์สำหรับทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดิน, แวะไปสวนสาธารณะ, เล่นแบดมินตันหรือบาสเกตบอลสักเกมส์ และในฐานะที่คุณเป็นบุคคลต้นแบบที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกๆ สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องทำคือ ‘ทำในสิ่งที่ตนเองพูด (walk the talk)’ และแสดงให้เด็กๆเห็นว่า ความคล่องแคล่วกระตือรือร้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่น่าสนุกและต้องทำเป็นประจำทุกๆวัน
ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/41565

อัพเดทล่าสุด