ระวัง! 5 โรคอันตราย ภัยร้ายของคุณหนู ๆ


802 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - ระวัง! 5 โรคอันตราย ภัยร้ายของคุณหนู ๆ

 


              ปัจจุบันนี้ เด็กๆมักเจ็บป่วยด้วยโรคนานาชนิด ซึ่งมีผลร้ายแรงต่างกันไป หากพ่อแม่ไม่ดูแลเอาใจใส่ อาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ โดยหนึ่งในโรคที่เปรียบเสมือนภัยร้ายของเด็กๆนั่นคือโรคติดเชื้อเฉียบพลัน ระบบหายใจในเด็ก 
              โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก (Acute respiratory tract infection in children – ARIC) พบบ่อยทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนา และ พัฒนาแล้วซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีอัตราป่วย และ อัตราตายสูงสุด ผู้ป่วยบางรายที่รอดชีวิตอาจจะมีความผิดปกติของระบบหายใจตามมา เช่น หลอดลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือ ความผิดปกติระบบอื่นเช่น สมองพิการ
              ทั้งนี้ โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจ หมายถึง โรคติดเชื้อตั้งแต่ช่องจมูกจนถึงถุงลมในปอดแบบเฉียบพลันมีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์ ซึ่งแบ่งออกเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ขณะที่โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนบนหมายถึงการติดเชื้อตั้งแต่ช่อง จมูกถึงเหนือกล่องเสียง และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง หมายถึงการติดเชื้อตั้งแต่ส่วนบนหลอดลมจนถึงถุงลมในปอด
              อย่างไรก็ดี นพ.ประวิทย์ เจตนชัย กุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้อธิบายถึงประเภทของโรคต่างๆไว้ว่า การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ได้แบ่งโรคออกเป็น 5 ประเภทคือ โรคหวัด (common cold) คออักเสบ (acute pharyngitis) โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (acute sinusitis) โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media) และ โรคฝีหลังคอหอย (retropharyngeal abscess)
               1.โรคหวัด (Common cold) เป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนที่มีอาการไม่รุนแรงได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ ไข้ต่ำ ๆโดยเฉลี่ยเด็กมีโอกาสเป็นหวัด 6 – 8 ครั้งต่อปี และพบน้อยลงเมื่อเด็กโตขึ้น ซึ่งมีรายงานว่าเด็กประมาณ 10 – 15% จะเป็นหวัด 12 ครั้งต่อปี โดยเด็กที่เลี้ยงใน day care center มักเป็นหวัดบ่อยกว่าเด็กทั่วไป ทั้งนี้โรคหวัดจะมีเชื้อไวรัส เช่น rhinovirus, corona virus ที่มักพบในฤดูกาลที่มีอากาศเย็น ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำเช่น ฤดูหนาว (เนื่องจากอุณหภูมิเหมาะสมต่อการเติบโตของไวรัส และ เยื่อบุจมูกแห้งมีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ง่าย)
              ส่วนลักษณะอาการทางคลินิกนั้นโดยทั่วไปมักเกิดอาการมากที่สุดหลังรับเชื้อ 1 - 3 วัน เด็กจะมีน้ำมูกใสในวันแรกๆ ต่อมาอาจเปลี่ยนเป็นสีเขียว เนื่องจากการตอบสนองของร่างกายต่อการกำจัดเชื้อ (น้ำมูกสีเขียว หรือ เหลืองจึงไม่จำเป็นต้องมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเสมอไป) เขาจะคัดจมูก จาม ไอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ตาแดง ซึ่งอาการเหล่านี้มักเป็นอยู่ 2 – 7 วัน (ถ้าเป็นนานเกิน 2 สัปดาห์ อาจมีภาวะภูมิแพ้, ไซนัสอักเสบ หรือ ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย)
              ดังนั้น ถ้าลูกมีไข้ พ่อแม่ควรเช็ดตัว ให้ยาลดไข้ เช่น Acetaminophen แต่ไม่แนะนำให้ใช้ aspirin และไม่ควรให้ ibuprofen ยกเว้นกรณีไข้สูง หรือ มีประวัติชักจากไข้สูง (ควรระมัดระวังในฤดูกาลที่มีการระบาดของไข้เลือดออก พ่อแม่ควรใช้ผ้าสะอาดเช็ดน้ำมูก และใช้น้ำเกลือหยอดจมูก (เด็กเล็กใช้ลูกยางแดง เด็กโตให้สั่งน้ำมูกเอง) ส่วนข้อควรระวังคือยาAntihistamine ซึ่งหมอจะไม่แนะนำให้ใช้รักษาโรคหวัดในเด็กทั่วไป เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ง่วงซึม ชัก กระวนกระวาย)

              2. คออักเสบ (Acute pharyngitis) คือการติดเชื้อบริเวณคอหอย (oropharynx, nasopharynx) ที่ส่วนใหญ่เกิดได้จากการติดเชื้อไวรัส แต่อาจเกิดได้จากแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ group Ab hemolytic streptococci พบมากในเด็กก่อนวัยเรียนจนถึงเด็กโต
              อย่างไรก็ดี ลักษณะอาการทางคลินิกนั้น คออักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย มักพบในเด็กอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป เด็กจะมีไข้สูง เจ็บคอ กลืนลำบาก เบื่ออาหาร คอแดง ต่อมทอนซิลโต หรืออาจมีจุดหนองที่ต่อมทอนซิล มักพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตและ กดเจ็บ อาการจะเป็นมากขึ้นมากที่สุดในวันที่ 2 – 3 ซึ่งอาจมีเสียงแหบ ไอ น้ำมูก ผู้ป่วยบางรายมีตาแดง ถ่ายเหลวร่วมด้วย ถ้าคอแดงมาก อาจพบแผลที่เพดานอ่อน ส่วนใหญ่มีอาการไม่นานเกิน 5 วัน
              ส่วนเรื่องการรักษาแบบประคับประคอง และ รักษาตามอาการของโรคนี้ เด็กควรดื่มน้ำ หรือ ให้สารอาหารที่เป็นน้ำให้เพียงพอ ทานยาลดไข้ พักผ่อน กลั้วคอด้วยน้ำอุ่น หรือ น้ำเกลือ ห้ามใช้ยาอมต่างๆในเด็กโดยเฉพาะที่มียาชาผสม อย่างไรก็ดี ยาพ่นคอ ยาชาชนิดทา หรือ น้ำยากลั้วคอ ไม่มีประโยชน์ในการฆ่าเชื้อหรือลดอาการเจ็บคอแต่อย่างใด
              3. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute sinusitis) คือการอักเสบติดเชื้อของเยื่อบุโพรงอากาศรอบจมูก (paranasal sinuses) ตั้งแต่ 1 ไซนัสขึ้นไป โดยชนิดเฉียบพลัน หมายถึงการอักเสบของเยื่อบุโพรงอากาศรอบจมูกที่เป็นน้อยกว่า 4 สัปดาห์ และ อาการหายไปอย่างสมบูรณ์ ซึ่งโรคนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัดได้ 0.5 – 5% เกิดได้ในทุกอายุรวมทั้งในเด็กทารก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่S. pneumoniae H. influenzae และ M. catarrhalis
              ดังนั้นเด็กที่เป็นหวัดควรนึกถึงไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อ แบคทีเรีย เมื่อมีอาการหวัดเรื้อรังนานกว่าปกติ เช่น ไอ และ น้ำมูกนานเกิน 10 วัน (หวัดจากเชื้อไวรัสมักมีอาการมากที่สุด 7 วัน และค่อยๆ ดีขึ้นเองเมื่อมีอาการหวัดที่รุนแรงกว่าปกติ ได้แก่ ไข้สูง น้ำมูกข้นเป็นหนอง บางรายมีอาการบวมรอบตา กดเจ็บบริเวณไซนัส หรือ ปวดศีรษะร่วมด้วย บางรายอาจมีลมหายใจมีกลิ่นเหม็น จมูกไม่ได้กลิ่นเสียงขึ้นจมูก หรือ ปวดฟัน
              ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้คือ การอักเสบรอบกระบอกตา ฝีภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งแนวทางการป้องกันมีหลายประการเช่น แนะนำการเลือกสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนที่สะอาด และไม่แออัดเกินไป เน้นการล้างมือ เลี่ยงควันบุหรี่ มลพิษ และ สารก่อโรคภูมิแพ้ เนื่องจากมีผลต่อเยื่อบุจมูก และ โพรงไซนัสควบคุมอาการภูมิแพ้ที่จมูก ส่วนเรื่องการให้วัคซีน ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่าช่วยป้องกันโรค (วัคซีน IPD)
              4. หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute otitis media) เป็นโรคที่พบบ่อย ที่ทำให้ผู้ป่วยเด็กมาพบแพทย์ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ซึ่งมักเกิดร่วมหรือ ตามหลังโรคหวัด โดยหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน คือ ภาวะที่มีการอักเสบของหูชั้นกลาง ทำให้มีน้ำในช่องหูชั้นกลาง ร่วมกับมีอาการแสดงของการติดเชื้อที่เกิดขึ้นเร็ว ไม่เกิน 3 สัปดาห์
              นพ.ประวิทย์กล่าวว่า จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น S. pneumoniae H. influenzae M. catarrhalis ซึ่งมีรายงานว่า เกิดจากเชื้อไวรัสได้ 36 – 42% และ อาจพบทั้งไวรัส และ แบคทีเรียร่วมกันได้ ขณะที่รายงานในประเทศไทยพบเชื้อแบคทีเรีย 77.3% โดยอาการของโรคนี้จะมีไข้ ปวดหู (ในเด็กเล็กอาจจะแสดงด้วยการดึงหูบ่อยๆ) บางรายมีอาการไอร่วมด้วย ดังนั้น ควรตรวจหูผู้ป่วยเด็กทุกรายด้วย otoscope เมื่อเด็กเป็นหวัด เจ็บหู มีไข้ รวมไปถึงเด็กเล็กที่ร้องกวนไม่ทราบสาเหตุหรือดึงหูบ่อยผิดปกติ
              5.ฝีหลังคอหอย (Retropharyngeal abscess) มักพบในเด็กที่ มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งสาเหตุส่วนมากเป็นผลจากการติดเชื้อของจมูก ทอนซิล หูชั้นกลาง หรือ ไซนัสนำมาก่อน สาเหตุอื่นที่มีรายงาน อาจเป็นผลจากการกวาดคอ หรือ การบาดเจ็บต่อหลังคอหอย ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น group A streptococcus S. aureus หรือ เชื้อanaerobe
              อาการทางคลินิกของโรคนี้ เด็กจะมีไข้สูง เจ็บคอ กลืนลำบาก เบื่ออาหาร น้ำลายไหล คอบวม คอแข็ง บางรายมีอาการหายใจลำบากจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน เด็กที่เป็นโรคนี้ แพทย์จะรักษาโดยการเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง รายที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ แพทย์จะให้ใส่ท่อหลอดลมคอ ให้ยาต้านจุลชีพเข้าหลอดเลือดดำ ให้สารน้ำและผ่าตัดเพื่อระบายฝีหนอง ส่วนเรื่องภาวะแทรกซ้อนนั้นจะมีข้อควรระวังอยู่ 2 ประการคือ การแตกกระจายของหนองเข้าไปในช่องอกและการกัดกร่อนหลอดเลือดแดงใหญ่
              ทั้งหมดนี้คือ 5 โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็กส่วนบนเท่านั้น ซึ่งแต่ละโรคสามารถทำให้เด็กที่มีภูมิคุ้มกันและภูมิต้านทานต่ำเกิดเจ็บป่วย ได้ง่าย ดังนั้นพ่อแม่ควรดูแลเอาใจใส่สุขภาพของลูกและไม่ควรมองข้ามสิ่งแวดล้อมรอบ ตัวลูกที่เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งด้วย

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/41521

อัพเดทล่าสุด