แนวทางการดูแลเด็กชอบเล่นเกมหรืออินเตอร์เนต


790 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - แนวทางการดูแลเด็กชอบเล่นเกมหรืออินเตอร์เนต

ขอขอบคุณศูนย์ข้อมูลสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ 
โดย ภูวดล อ่อนน้อม
 


             การดูแลเด็กชอบเล่นเกมหรืออินเตอร์เนต คือ ใช้เพื่อการเล่นเกม โดยไม่สามารถควบคุมตนเองในการเล่นเกมได้ ก็จะเกิดภาวะติดเกม นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ อารมณ์ พฤติกรรม ก้าวร้าว โกหก หนีเรียน ขโมยเงิน ปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว และอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตตนเอง รวมถึงอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมได้ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ และหาทางป้องกันแก้ไขก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้นเพราะอะไร....เด็กถึงติดเกม
ครอบครัว
             - ขาดกติกา กฎระเบียบในบ้าน
             - ตามใจ ไม่ทำโทษเมื่อทำผิด
             - ไม่มีเวลาให้กับลูก
             - ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน
             - ไม่ควบคุมเวลาในการเล่นเกม
ตัวเด็ก
             - ขาดทักษะทางสังคม เข้ากับเพื่อนไม่ได้
             - เหงา เบื่อ
             - เรียนไม่ดี ไม่สนใจเรียน
             - รู้สึกมีคุณค่าในตัวเองต่ำ
             - อยากเก่ง อยากเอาชนะ
สังคม
             - ความสนุกท้าทายของเกม
             - ขาดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก
             - การเข้าถึงเกม อินเตอร์เนตง่าย

เรียนรู้ 10 ข้อปฏิบัติในการดูแลช่วยเหลือเด็กติดเกมหรืออินเตอร์เน็ต โดย น.พ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

1. สร้างวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเล็ก
             พ่อแม่สามารถกำหนดวินัย โดยตั้งกฏกติกาที่ชัดเจน ควรมอบหมายงานเพื่อสร้างความรับผิดชอบ เช่น รดน้ำต้นไม้ ช่วยกวาดบ้าน ถูบ้าน พร้อมทั้งสนับสนุนให้เด็กทำอะไรให้สำเร็จแม้จะยากลำบาก
2. ลดโอกาสเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต
             ควรจัดวางให้คอมพิวเตอร์ให้อยู่ในห้องส่วนกลางเพื่อให้สมาชิกทุกคนในบ้านได้ใช้ร่วมกัน และมีคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็น
3. ใช้มาตรการทางการเงิน
             ควรให้เงินลูกพอดีกับค่าใช้จ่ายประจำวัน ให้ลูกรับรู้ค่าใช้จ่ายในบ้านที่เกี่ยวกับการเล่นเกม เป็นการฝึกวินัยทางการเงิน
4. ฟังและพูดดีต่อกัน
             พ่อแม่ควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ควรพูดคุยสื่อสารอย่างสุภาพให้เกียรติกัน ตั้งใจรับฟังด้วยท่าทีที่เป็นมิตร หรืออาจการสื่อสารผ่านการเขียน เช่น เขียนจดหมาย เขียนบันทึกเล็กๆ ติดไว้ที่ตู้เย็น 
                                            
5. จับถูก ชื่นชม ให้กำลังใจ
             พ่อแม่ต้องเข้าใจและสร้างกำลังใจให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เมื่อพ่อแม่มองให้เห็นด้านดีแม้เล็กน้อยในตัวลูกควรนำมาชื่นชมให้ลูกได้รับรู้ เพื่อให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่เห็นคุณค่าและความสำคัญในตัวเขา

6. รวมกำหนดกติกาเป็นรูปธรรมและบังคับใช้อย่าง เข้มแข็ง แต่อ่อนโยน (อ่อนนอกแข็งใน)
             เป็นการกำหนดกติการ่วมกันทั้งพ่อแม่และลูก การกำหนดกติกาต้องเป็นไปตามได้ตกลงกัน และเกิดการยอมรับ สามารถต่อรองกันได้ เช่น พ่อแม่ให้ลูกเล่น 1 ชั่วโมง แต่ลูกอยากได้ 3 ชั่วโมง สุดท้ายตกลงกันได้ 2 ชั่วโมง เป้นต้น

7. มีทางออกที่สร้างสรรค์ให้เด็ก
             พ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ทดแทนความสุขจากการเล่นเกม และควรช่วยให้เด็กได้ค้นหากิจกรรมตามความถนัด ความชอบ ความสนใจ สนุก และมีความสุขแบบสร้างสรรค์ เช่น กีฬา ดนตรี การแสดง ศิลปะ ฯลฯ

8. สร้างรอยยิ้มเล็กๆ ในครอบครัว
             สร้างบรรยายกาศในครอบครัวให้อบอุ่น มีกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน พ่อแม่ลูกควรมีการพูดคุยหยอกล้อกัน คุยเรื่องตลก เรื่องสนุกสนาน ซึ่งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ จะช่วยให้สัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น

9. ควบคุมอารมณ์และสร้างสุขเล็กๆ ในใจของพ่อแม่เอง
             ก่อนที่พ่อแม่จะช่วยเหลือลูก พ่อแม่จะต้องมองเห็นคุณค่าในตัวเองก่อน เรียนรู้ที่จะเข้าใจและรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง ยิ้มรับในการต่อสู้กับปัญหา
10. เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา...ทันที
             หลักสำคัญที่สุดในการป้องกันและแก้ไขปัญหาลูกชอบเล่นเกมหรืออินเตอร์เนต พ่อแม่ควรเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเอง เช่น เริ่มลดการใช้อารมณ์รุนแรงระหว่างกันของพ่อแม่ แต่เพิ่มการใช้เวลากับลูก มีกิจกรรมร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูกมากขึ้น เปลี่ยนคำตำหนิมาเป็นคำชื่นชม และให้กำลังใจกันและกัน แล้วท่านจะพบกับสิ่งดีๆและการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นภายในครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อลูกได้เห็นความตั้งใจของพ่อแม่ ในการเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อลูก ย่อมส่งผลให้ลูกเต็มใจที่จะเริ่มต้นทำสิ่งดีๆ สำหรับพ่อแม่เช่นกัน

ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/41464

อัพเดทล่าสุด