ทำอย่างไรเมื่อลูกติดขวดนม


1,444 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - ทำอย่างไรเมื่อลูกติดขวดนม

 


 

         เด็กๆ ควรเลิกดูดนมจาก ขวดตั้งแต่อายุ 1 ขวบ แต่ถ้ายังทำไม่ได้ ก็ผ่อนผันให้ได้จนถึงอายุ 1 ขวบครึ่ง การดูดนมจากขวดเกินกว่าอายุ 1 ขวบครึ่งหรือ 2 ขวบ มักจะทำให้เด็กๆ ติดใจการดูด อยากดูดนมมากกว่าจะรู้สึกหิวจริงๆ ตื่นขึ้นมากลางดึก ก็มักจะร้องหาขวดนม และบ่อยครั้งที่นอนหลับคาขวดนม
          หากเด็กๆ เลิกดูดนมจากขวดช้าเกินไป ผลเสียที่จะตามมามีมากมาย ประการแรก เมื่อกินแต่นม ก็จะทำให้อิ่ม และไม่ยอมกินข้าวหรืออาหารอื่นๆ ทำให้ขาดวิตามินและแร่ธาตุบางอย่างที่อาจมีไม่พอในนม เช่น วิตามินซี
          ประการที่ 2 หากกินแต่นม และกินมากเกินไป ก็จะทำให้กลายเป็นเด็กอ้วนได้
          ประการที่ 3 เมื่อกินแต่นม ซึ่งมีกากอาหารน้อย ก็จะทำให้ท้องผูกได้
          ประการที่ 4 หากกินแต่นม ความหวานจากนม ประกอบกับการดูดนมจนหลับคาขวด โดยไม่ได้ดื่มน้ำตาม จะทำให้มีคราบนมติดอยู่ที่ฟัน ทำให้ฟันผุได้
          หากเด็กติดขวดนมไปจนถึงอายุ 3 ขวบ นอกจากฟันจะผุแล้ว ยังอาจทำให้ฟันยื่น แถมยิ่งโต เด็กก็ยิ่งดื้อ จนไม่ยอมเลิกง่ายๆ
          จากสถิติพบว่า เด็กอายุ 2-3 ขวบ ที่ยังคงดูดนมจากขวด มีถึงร้อยละ 80 ...อายุ 4 ปี ก็ยังมีให้เห็นถึงร้อยละ 45 ...เด็กอายุ 8 ปีที่ยังดูดนม ก็ยังพบได้ แปรงฟันก่อนนอนแล้ว ก็ยังคว้าขวดนมมาดูด และหลับคาขวดนม พบอีกร้อยละ 44
          เด็กอายุ 2-3 ปี มีน้ำหนักเกินจนเข้าขั้นอ้วน อีกร้อยละ 36 และเด็กอายุ 3 ปี มีปัญหาฟันผุเพราะติดขวดนม พบได้ถึงร้อยละ 65 พ่อแม่หลายคนเจอปัญหานี้ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร วิธีที่จะช่วยให้ลูกเลิกดูดนมจากขวด ก็คือ
          - ต้องตั้งใจจริง และต้องใจแข็ง
          - ฝึกให้ลูกดื่มนมจากแก้ว อาจใช้วิธีพาไปข้างนอกตอนกลางวัน โดยไม่เอาขวดนมไปด้วย แล้วให้ดื่มนมจากแก้วหรือกล่องแทน
          - นอกจากฝึกนิสัยช่วงกลางวันแล้ว ยังต้องเปลี่ยนนิสัยช่วงกลางคืนด้วย เปลี่ยนจากดูดนมก่อนนอน เป็นดื่มนมก่อนนอนแทน
          - ฝึกให้ลูกเลิกดูดนมมื้อดึก โดยค่อยๆ ลดปริมาณนมมื้อดึก จนเลิกได้ในที่สุด
          - ฝึกให้ลูกแปรงฟันก่อนนอน แล้วพาเข้านอนโดยเล่านิทาน ร้องเพลง หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ก่อนเข้านอน และอย่าปล่อยให้ลูกหลับคาขวดนม

          หากทำทุกวิธีแล้วยังไม่ได้ผล ก็ต้องใช้วิธี “หักดิบ” นั่นก็คือ เก็บอุปกรณ์ทุกอย่างเกี่ยวกับขวดนมออกจากบ้าน เมื่อถึงขั้นนี้ อาจต้องให้คุณพ่อช่วย เพราะพอคุณแม่เห็นลูกน้ำตาร่วง ก็อาจจะใจอ่อนได้ง่ายๆ ในขณะที่คุณพ่อมักจะใจแข็งกว่า
ส่วนวิธีการป้องกันไม่ให้ลูกติดขวดนม ซึ่งทำได้ก่อนแต่เนิ่นๆ ก็มีหลายวิธีด้วยกัน

          - ฝึกให้ลูกเข้านอนเป็นเวลาตั้งแต่เล็กๆ
          - ฝึกให้ลูกหลับได้ด้วยตัวเอง โดยให้นอนเมื่อเริ่มง่วง เพราะถ้ากกกอดหรือให้ลูกดูดนมจนหลับ ก็จะชินกับการปฏิบัติดังกล่าว เมื่อตื่นกลางดึก ไม่มีใครกล่อมให้หลับ ก็มักจะร้อง และลงท้ายด้วยการดูดนม ทั้งๆ ที่อาจจะไม่หิว
          - ฝึกกินนมมื้อกลางวันให้อิ่มในแต่ละมื้อ ส่วนนมมื้อดึก ให้กินแค่พอหายหิว ไม่บังคับหรือพยายามให้กินมากๆ
          - เริ่มฝึกลดและเลิกนมมื้อดึก ตั้งแต่อายุ 3-4 เดือน และพยายามเลิกให้ได้เมื่ออายุ 5-6 เดือน หากลูกขยับตัวนิดหน่อย รอสักพักว่าหิวจริงหรือไม่ ถ้าสัมผัสเบาๆ เช่น ตบก้น แล้วหลับได้ ก็ปล่อยให้หลับไปเอง
          - ฝึกกินนมให้อิ่มในมื้อก่อนนอน หลังทำความสะอาดฟันแล้ว ไม่ควรให้ดูดนมอีก ก่อนนอนอาจเล่านิทานหรือให้ฟังเพลง และอย่าปล่อยให้หลับคาขวดนม
          - หาตุ๊กตาหรือของเล่นที่ลูกชอบพาเข้านอนด้วย เมื่อลูกอายุ 4-5 เดือน ลูกจะได้ไม่ติดขวดนม และควรให้มีผลัดเปลี่ยน ลูกจะได้ไม่พลอยติดตุ๊กตาไปด้วย
          - สร้างบรรยากาศตอนกลางคืนให้น่านอน ไม่เปิดไฟสว่าง หรืออุ้มเล่นกลางดึก
          - ฝึกลูกใช้ขวดนมเมื่อเวลาหิว ไม่ใช้เป็นของเล่นเดินถือไปมา
          - ฝึกจิบน้ำหรือนมจากแก้ว เมื่ออายุ 4-5 เดือน เพื่อให้เริ่มคุ้นเคย
          - เมื่อลูกอายุได้ 6-8 เดือน จะพัฒนาความสามารถในการนั่งทรงตัวได้ดี รวมทั้งมีความสามารถในการใช้มือ โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ หยิบจับสิ่งของได้ดีขึ้นกว่าเมื่อตอนอายุน้อยกว่านี้ ซึ่งเด็กจะหยิบสิ่งของโดยกำไว้ทั้งฝ่ามือ


          ในช่วงเวลานี้ พ่อแม่ควรเริ่มหัดให้ลูกหยิบอาหารกินเองบ้าง เช่น อาหารที่อ่อนนุ่ม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หัดให้ลูกดื่มน้ำจากถ้วยพลาสติกที่มีหูจับ เมื่อลูกสามารถดื่มน้ำได้ดีแล้ว หัดให้ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำนมจากถ้วย และค่อยให้เลิกดูดนมในมื้อกลางวันก่อน จนเลิกดูดนมในมื้อก่อนนอนได้
          การหัดให้ลูกช่วยตัวเองในการดื่มน้ำ ดื่มนม และกินอาหาร จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการดูแลตัวเองในภารกิจประจำวันของลูก และยังเป็นการหัดให้เด็กรู้จักรักษาความสะอาดและสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น พาไปล้างมือก่อนให้หยิบอาหาร และพาไปล้างมือล้างปาก เช็ดมือเช็ดปากหลังอาหาร รวมทั้งยังเป็นการฝึกวิธีการและมารยาทในการรับประทานอาหาร ซึ่งเด็กจะค่อยๆ พัฒนาความสามารถไปเรื่อยๆ ตั้งแต่อายุ 6-8 เดือน ไปจนกระทั่งสามารถรับประทานอาหารเองได้เรียบร้อยเมื่ออายุประมาณ 2-3 ปี
          การสร้างบรรยากาศให้ลูกรับประทานอาหารเองอย่างมีความสุขก็มีความสำคัญ ซึ่งจะช่วยป้องกันกรณีลูกไม่ยอมกินข้าวเมื่อถึงเวลาเลิกใช้ขวดนม

อัพเดทล่าสุด