หน้าที่ 1 - รู้จักโรคปอดบวมในเด็กเล็กหรือยัง?
โรคปอดบวม คือ อาการอักเสบ ที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อปอด หลอดลม ถุงลมต่างๆ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กที่สำคัญ ข้อมูลการสำรวจขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ ปี 2549 พบว่าโรคปอดบวม เป็นโรคที่ทำให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตในปีหนึ่งๆ มีจำนวนมากกว่า 2,000,000 คน/ปี Mother & Care จึงนำข้อมูลเรื่องสุขภาพของลูกน้อย ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จัก รู้ทันและป้องกันการเจ็บป่วยมาบอก
รู้จักอาการ
อาการเบื้องต้นมักเริ่มจากการมีน้ำมูกหรือมีไข้ ตัวร้อน คล้ายการเป็นไข้หวัดในเด็กเล็กทั่วไป แต่มีข้อสังเกตที่ต้องระวังกับอาการผิดปกติต่อไปนี้
ไข้สูง ไอ หายใจเหนื่อย
ไอมาก ลักษณะไอแห้งๆ หรือไอแบบมีเสมหะ
ได้ยินเสียงหายใจครืดคราด เนื่องจากมีเสมหะมากและเหนียว
ลูกหายใจเร็วกว่าปกติ (เด็กปกติจะมีอัตราการหายใจประมาณ 20-40 ครั้งต่อนาที)
มีอาการหอบเหนื่อย เวลาหายใจจมูกจะบาน ช่วงหน้าอกและท้องจะบุ๋ม
กินอาหารไม่เป็นปกติ มีอาการซึม
หากพบว่าลูกน้อยมีอาการผิดปกติดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพาลูกไปหาคุณหมอโดยเร็ว เพื่อเข้ารับการรักษาให้ทันท่วงที
ความรุนแรงของโรคปอดบวม
เกิดได้จากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นเชื้อที่ร่างกายสามารถกำจัดออกได้ แต่หากเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดที่รุนแรง อาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งพบว่า เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นชื่อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุใหญ่ ทำให้เกิดโรคปอดบวมและโรคติดเชื้อรุนแรง เช่นการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดหูน้ำหนวก ไซนัสอักเสบ หากลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด เยื่อหุ้มสมอง ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นกลุ่มโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงหรือที่เรียกว่า ไอพีดี
การวินิจฉัยโรค
ในเบื้องต้นจำเป็นต้องอาศัยประวัติ ข้อมูลอาการต่างๆ ของลูกน้อยจากคุณพ่อคุณแม่ ร่วมกับการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรค ในรายที่เป็นไม่มากการใช้เครื่องมือฟังปอดอาจจะยังไม่ชัดเจน ต้องใช้วิธีเอกซเรย์ปอดช่วยวินิจฉัยด้วย ทั้งนี้ จะทำเฉพาะในรายที่คุณหมอเห็นสมควร และจำเป็นเท่านั้นค่ะ
การรักษา
อาการไม่มาก สังเกตเสียงผิดปกติของปอดได้ ก็อาจใช้แค่ให้ยากินอย่างเดียว ไม่ต้องฉีดยา คุณหมออาจจะนัดฟังปอดอีกครั้ง
หากสามารถเล่นและกินอาหารได้ดี แต่หายใจเร็วเล็กน้อย อาจฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อและรอดูอาการ และนัดฟังปอด เมื่ออาการดีขึ้นก็จะเปลี่ยนเป็นยากินแทน
กรณีที่มีอาการเป็นมาก ไข้ไม่ลด ซึมลง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะต้องให้ออกซิเจน และความชื้น ให้น้ำอย่างเพียงพอ และให้ยาทางหลอดเลือดดำ และอาจต้องเคาะปอดและดูดเอาเสมหะออก
การดูแลและป้องกันโรคปอดบวม
สิ่งสำคัญในการดูแลลูกน้อยที่ป่วยเป็นโรคปอดบวม คือการปฏิบัติตามคำสั่งของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้ โรคปอดบวมสามารถป้องกันได้ในเบื้องต้นโดย
สร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ โดยให้ลูกกินนมแม่
เมื่อไม่สบายเป็นไข้ ควรเช็ดตัว และให้ลูกดื่มน้ำให้มาก และให้ยาตามอาการ
ดูแลเรื่องสุขอนามัย ความสะอาด ความอบอุ่น
หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ช้อน แก้วน้ำ ของเล่น
การรับวัคซีนป้องกันโรค เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ทั้งนี้ควรปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากคุณหมอก่อน
ที่มา https://vcharkarn.com/varticle/39805