หน้าที่ 1 - บุคลิกภาพสมวัย
บุคลิกภาพเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากพฤติกรรมและการแสดงอารมณ์ เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยพันธุกรรมและปรับเปลี่ยนขัดเกลาได้โดยสิ่งแวดล้อม แม้บุคลิกภาพจะมีลักษณะแตกต่างไปในแต่ละบุคคล แต่ในที่นี้จะพูดถึงลักษณะโดยรวมอย่างกว้างๆของบุคลิกภาพที่เหมาะสม ซึ่งคำว่าเหมาะสมก็กินความหมายได้หลากหลายและอาจต่างกันสำหรับแต่ละคน ผู้เขียนเองคิดว่าความหมายที่น่าจะคลอบคลุมที่สุดน่าจะหมายถึงบุคลิกภาพที่ สามารถทำให้ตนเองและคนรอบข้างมีความสุข โดยจัดการกับปัญหาหรืออุปสรรคที่ผ่านเข้ามาได้เป็นส่วนใหญ่ เพราะคงไม่มีใครที่จะสมบูรณ์แบบ ไม่เคยทุกข์หรือขัดแย้งกับคนอื่นเลย
เนื่องจากปัจจัยด้านชีวภาพเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ในที่นี้จึงเน้นถึงบุคลิกภาพในส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่จะนำไปปรับปรุงบุคลิกภาพของตน เองหรือบุตรหลาน อย่างไรก็ตามผู้อ่านที่มีบุตรหลานควรระลึกไว้เสมอว่ามีปัจจัยด้านชีวภาพ ซึ่งเป็นผลจากพันธุกรรมทำให้เด็กแต่ละคนแตกต่างทั้งรูปร่างหน้าตา สติปัญญา และนิสัยใจคอ ฉะนั้นการเลี้ยงดูที่ดีจึงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อบุคลิกภาพ และไม่แปลกเลยที่พี่น้องที่ถูกเลี้ยงมาอย่างเดียวกัน จะมีนิสัยที่แตกต่าง
อีกประการที่ผู้อ่านควรระลึกไว้คือ บุคลิกภาพของผู้ที่เป็นผู้ใหญ่หรืออายุเกิน 18 ปีแล้วเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก แม้จะสามารถทำได้ก็ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก ฉะนั้นการคิดเปลี่ยนบุคลิกนิสัยของคนรอบข้างที่เป็นผู้ใหญ่จึงเป็นไปได้ยาก เว้นแต่ตัวเขาจะต้องการเปลี่ยนเอง
เมื่อร่างกายคนเราเติบโตขึ้น สมองพัฒนาขึ้นตามวัย ความคิดก็ย่อมเปลี่ยนแปลงตามไป การเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรง เช่น คำชมหรือตำหนิ และทางอ้อม เช่น การสังเกตคนรอบข้างหรือค่านิยมของสังคม ก็จะมีผลต่อบุคลิกภาพด้วย นักจิตวิทยาหลายท่านได้กล่าวถึงบุคลิกภาพที่เหมาะสม แต่ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นการดัดแปลงจากทฤษฎีของ Erikson ซึ่งได้กล่าวถึงทุกช่วงอายุ ดังนี้
1. แรกเกิด-1 ปี
ช่วงนี้เด็กยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ การมีชีวิตรอดต้องอาศัยผู้อื่น การพัฒนาบุคลิกที่เหมาะสมคือเรียนรู้ที่จะไว้ใจ แล้วเด็กจะรู้สึกมั่นคงได้ ซึ่งการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กมั่นใจว่าความต้องการของเขาจะได้รับการตอบสนอง (แม้จะไม่ใช่ทันที) จะมีผลต่อพัฒนาการนี้
2. 1-3 ปี
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กจะพยายามเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เช่นเดิน ควบคุมการขับถ่าย และ กินอาหาร ซึ่งบางครั้งเด็กอาจถูกมองว่าเริ่มดื้อ ผู้ใหญ่ควรส่งเสริมให้เด็กได้ทำอะไรเองและชื่นชม ไม่ควบคุมดูแลมากเกินไป
3. 3-5 ปี
เด็กจะมีพัฒนาการมากขึ้นทั้งด้านการทำงานของกล้ามเนื้อและสติปัญญา จึงมักริเริ่มทำกิจกรรมต่างๆมากขึ้น และอยากรู้อยากลอง รวมทั้งมีจินตนาการต่างๆ ในบางรายอาจค้นพบการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองโดยบังเอิญและปราศจากเจตนาด้าน เพศสัมพันธ์ การกำหนดขอบเขตที่เหมาะสม ไม่เข้มงวดเกินไป จะทำให้การพัฒนาบุคลิกภาพเป็นไปด้วยดี
4. 6-11 ปี
ในวัยนี้เด็กจะเริ่มเข้าโรงเรียนและพยายามทำกิจกรรมต่างๆให้สำเร็จ ซึ่งถ้าทำได้หรือได้รับการชื่นชมก็จะเกิดความมั่นใจและภูมิใจในตนเอง การชื่นชมและให้กำลังใจจึงมีความสำคัญ
5. 11ปี –สิ้นสุดวัยรุ่น
ช่วงนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงมาก บุคลิกภาพควรจะค่อยๆพัฒนาขึ้นจนเป็นลักษณะเฉพาะตัว จะเริ่มรู้ว่าตนเองชอบหรือไม่ชอบอะไร ต้องการมีอนาคตอย่างไร มีค่านิยม มาตรฐาน และกฎเกณฑ์ต่างๆของตน ซึ่งกว่าจะได้มาถึงจุดนี้ก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูก ทดลองสิ่งใหม่ๆ ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่วัยรุ่นอาจดูสับสนและเปลี่ยนความสนใจบ่อยๆ การมีตัวอย่างที่ดีจะช่วยในการพัฒนาบุคลิกภาพช่วงนี้
6. 21- 40 ปี
ในวัยผู้ใหญ่คนเราควรสามารถมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคู่ชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ วัยนี้จะเปลี่ยนจากความสัมพันธ์แบบพึ่งพาในวัยเด็กมาเป็นแบบที่ต่างให้และ รับ โดยคำนึงถึงผู้อื่นมากขึ้น มีความมั่นใจในตนเองและความสามารถในการทำงาน
7. 40-65 ปี
วัยกลางคนเป็นช่วงที่ควรจะมีชีวิตที่มั่นคงพอควรแล้ว เป็นวัยที่ควรมีความสุขกับการได้ ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้คนรุ่นหลังซึ่งอาจเป็นลูกหลานหรือคนอื่นที่ อ่อนวัยกว่า สุขใจที่ได้เห็นพัฒนาการของเขาเหล่านั้น ภูมิใจกับความสำเร็จของตนและพอใจกับการได้ให้อะไรกับสังคม
8. 65 ปีขึ้นไป
เมื่อผ่านถึงวัยนี้แล้วความพอใจกับชีวิตที่ผ่านมาและรู้สึกว่าตนมีคุณค่า ก็จะปราศจากความกลัวว่าจะต้องจากโลกนี้ไป และได้เตรียมพร้อมที่จะยอมรับความเสื่อมของร่างกาย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงขอบเขตกว้างๆของบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับแต่ละวัย ซึ่งในรายละเอียดอื่นๆย่อมจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน
ที่มา https://vcharkarn.com/varticle/39586