สอนลูกอย่างไรให้ “เก่ง”


1,245 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - สอนลูกอย่างไรให้ “เก่ง”

 


สอนลูกอย่างไรให้ “เก่ง”
สอนลูกอย่างไรให้ “เก่ง”
อย่างไรจึงเรียกว่า “เก่ง”

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ปีพ.ศ. 2542 ให้คำนิยามดังนี้

         
เก่ง = สามารถในทางใดทางหนึ่ง เช่น เก่งคำนวณ เรียนเก่ง เป็นต้น
         
ฉลาด = เฉียบแหลม ไหวพริบดี ปัญญาดี
         
อัจฉริยะ = วิเศษอัศจรรย์ มีความรู้ความสามารถเกินกว่าระดับปกติ

         ความสามารถในการเรียนรู้ และปรับประยุกต์ประสบการณ์การเรียนรู้นั้นให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับพัฒนาการของสมองในแต่ละช่วงอายุ
         เด็กอาจจะเก่งในทุก ๆ ด้าน เก่งหลายด้าน หรือเก่งเพียงบางด้าน เช่น เก่งคำนวณ พูดเก่ง อ่านเขียนเก่ง เล่นกีฬาเก่ง เป็นผู้นำได้เก่ง หรือเก่งทางงานสร้างสรรค์ เช่น เล่นดนตรีเก่ง วาดรูปเก่ง แสดงเก่ง หรือทำงานประดิษฐ์ได้เก่ง จะมีวิธีสังเกตได้อย่างไรว่าลูกเป็นเด็ก “เก่ง”

         
หากลูกแสดงออกถึงแววอัจฉริยะให้เห็นตั้งแต่เล็ก เช่นสามารถบอกโน้ตเปียโนได้ทันทีที่คุณแม่เล่นเปียโนให้ฟัง คุณแม่ก็พอจะบอกได้ว่าลูกน่าจะเก่งด้านดนตรี แต่ส่วนใหญ่มักจะยากที่จะบอกได้ว่าเด็กจะเก่งหรือไม่ก่อนอายุ 2 ปี และมีถึง 3-5% จะเริ่มฉายแววเก่งเมื่อเริ่มเป็นผู้ใหญ่

โดยทั่ว ๆ ไป หากลูกมีพฤติกรรมดังจะกล่าวต่อไปนี้ น่าจะบ่งบอกว่าเป็นเด็ก “เก่ง” เช่น

         - มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เร็วและมีความจำดี
         
- ชอบที่จะใช้ความคิด
         
- สนใจอยากรู้อยากเห็นอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
         
- แสดงความอยากรู้อยากเห็นด้วยความคิดที่ลึกซึ้งกว่าอายุ
         
- คอยถามโน่นถามนี่กับคุณแม่บ่อยๆ
         
- มีวุฒิภาวะดีกว่าเด็กอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน
         
- มีความสามารถในการใช้ภาษา ใช้คำศัพท์ต่างๆได้ดี และสนใจการอ่านหนังสือมาก ๆ
         
- ชอบทำการทดลองเพื่อหาคำตอบในการแก้ปัญหา
         
- เป็นเด็กที่มีความไวในการรับรู้ต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว
         
- มีความเมตตา กรุณาและเห็นอกเห็นใจคนอื่นและสัตว์เลี้ยง
         
- มีความสามารถในการคิดและแก้ปัญหาต่างๆได้ดี
         
- ชอบเกมที่ท้าทายทางความคิด เช่น เกมทางปัญหา เกมตัวเลข เกมหมากกล ฯลฯ
         
- มีจินตนาการที่ค่อนข้างแจ่มชัด เช่น เล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังได้ว่า โตขึ้นเขาอยากเป็นนักบินจะได้ขับเครื่องบินเจ๊ต จะเรียนให้เก่ง ๆ ฯลฯ
         
- มีช่วงสมาธิที่ดีและยาวนานกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
 
        
- สามารถเล่นหรือทำอะไรที่ต้องการสมาธิได้ดี
         
- บางทีอาจมีท่าทีท้าทายโต้แย้งผู้ใหญ่
         
- บางครั้งจะมีท่าทีเบื่อง่ายถ้าต้องทำในสิ่งที่ง่ายเกินไป หรือไม่ท้าทายพอ
         
- ดูเหมือนมีพลัง มีความกระตือรือล้นในตัวค่อนข้างมาก

         
ถ้าลูกมีทักษะดังกล่าวข้างต้นอยู่หลายข้อ ควรปรึกษาคุณครูหรือกุมารแพทย์เพื่อจะได้พัฒนาความสามารถพิเศษของลูกได้ อย่างเต็มที่ พ่อแม่ควรสังเกตและค้นหาศักยภาพในตัวลูกให้พบโดยการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ให้ลูกได้ลอง และสนับสนุนให้ลูกได้เรียนรู้ให้เต็มที่ตามความสนใจและความถนัดของลูก

เด็กแต่ละคนมีความเก่งหรือมีความสามารถพิเศษที่แตกต่างกันพอจะจำแนกได้ดังนี้

         1. ด้านการใช้ภาษา : เด็กที่มีความสามารถด้านนี้มักจะสามารถพูดแสดงความคิดเห็นของตนได้ดี ใช้ภาษาและคำศัพท์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ชอบอ่าน ชอบเขียน และเล่าเรื่อง ชอบเล่นเกมทายคำ ท่องอาขยานหรือคำศัพท์ต่าง ๆ
         2. ด้านการคิดเป็นเหตุเป็นผลและคณิตศาสตร์ : เด็กสามารถคิดคำนวณในใจได้อย่างรวดเร็ว ชอบหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ จัดสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบและแยกเป็นกลุ่ม ๆ คิดและทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบ มักจะหาวีทำการทดลองเพื่อทดสอบข้อสังเกตและความคิดของตน ชอบเล่นเกมที่ต้องใช้กฎเกณฑ์ เหตุผลและวางแผน เช่น หมากรุก ฯลฯ สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างดี ชอบตั้งคำถามที่ลึกซึ้งกว่าวัย เช่น “เวลาคืออะไร”
         3. ด้านมิติสัมพันธ์ รูปทรงและโครงสร้าง : เด็กจะรับรู้ถึงความสัมพันธ์ของการจัดวางสิ่งของต่างๆ ได้ดี
         4. ด้านดนตรี : มีความไวในการรับรู้เสียงต่าง ๆ สามารถจดจำเสียงเพลงหรือท่วงทำนองต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว แสดงความสามารถพิเศษด้านดนตรีได้ตั้งแต่อายุยังน้อย สนใจที่จะฟังหรือเล่นเครื่องดนตรีต่างๆ ในเด็กโตบางคนอาจจะต้องเปิดเพลงฟังตลอดเวลาในช่วงการอ่านหนังสือ
         5. ด้านกีฬาและการเคลื่อนไหว : เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว ชอบออกกำลังกายมีทักษะทางการกีฬา มักจะอยู่ไม่นิ่ง ขยับเท้าหรือทำท่าเต้นไปตามจังหวะต่าง ๆ ได้ดี ชอบแสดงออก เต้น ปีนป่าย ผาดโผนได้อย่างแม่นยำ
         6. ด้านการเข้าสังคมและการมีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น : เด็กมีทักษะในการพูดคุย โต้ตอบกับคนอื่นๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติและเหมาะสม รับรู้และเข้าใจได้ว่าคนอื่นๆ มีความคิดและมีคามรู้สึกอย่างไร ชอบที่จะอยู่ในกลุ่มคนเพื่อพูดคุย รับฟัง และแก้ปัญหาต่าง ๆ
         7. ด้านความเชื่อมั่นตนเองและความเป็นตัวของตัวเอง : รู้ว่าตนเองคือใครต้องการสิ่งใดในชีวิต มุ่งมั่นที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ตามเป้าหมายของตนโดยไม่ย่อท้อง่าย ๆ ดูเหมือนมีพลังพิเศษกับตัวเอง ชอบที่จะใช้เวลาอยู่คนเดียว คิดวิเคราะห์ และมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตนเองตั้งใจไว้ บางครั้งอาจไม่ค่อยกังวลถึงความรู้สึกของคนอื่นหรือไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิด อย่างไรกับตัวเขานัก
สอนอย่างไรให้ “เก่ง”

         โดยธรรมชาติเด็กทารกและเด็กเล็กจะมีแรงจูงใจจากภายในตัวเขาที่จะมีความสนใจ กระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว ปฎิสัมพันธ์ของผู้เลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่มีต่อเด็กจะมีผลอย่างมากต่อการ เรียนรู้ของเด็กในอนาคต

         
พ่อแม่สามารถช่วยให้เด็กยังคงความกระตือรือร้น และสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากเรียนรู้ได้หลายวิธี โดยการจัดหาของเล่นหรือกิจกรรมที่หลากหลายที่ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านประสาท สัมผัสทั้งห้า ให้ได้สำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างอิสระ ซึ่งการเล่นจะช่วยเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ เป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้กับตนเองอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่เครียด ซึ่งจะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เด็กสร้างความมั่นใจในความสามารถของตนเองในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

        ซึ่งการที่เด็กยังคงสามารถสร้างแรงจูงใจ มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ มุ่งมั่น มั่นใจในการจัดการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคได้ จะช่วยให้เด็กประสบผลสำเร็จในการเรียน และเป็นเด็ก “เก่ง” ได้ความหวัง

         
การให้คำชมเชย สติกเกอร์ หรือให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ จะเป็นแรงเสริมทางบวกให้เด็กอยากพยายามมากขึ้น การให้คำชม ควรทำอย่างเหมาะสมและเจาะจงกับงานที่เด็กได้พยายามทำ เช่น “วาดรูปเครื่องบินที่มีรายละเอียดมากขนาดนี้มันยากมากแต่ลูกก็พยายามวาดจน เสร็จ” จะเป็นการให้กำลังใจมากกว่าการพูดว่า “ลูกวาดรูปเก่ง” และไม่ควรชมพร่ำเพรื่อมากเกินไป

         
ในเด็กเล็ก ๆ นั้น ถ้าเด็กได้ลองพยายามทำในสิ่งที่ยากและท้าทายแล้ว ถึงแม้จะทำไม่เสร็จ แต่ได้พยายาม พ่อแม่ก็ควรชมเชยในความพยายามของลูกด้วย

         
การจัดกิจกรรมและประสบการณ์ที่หลากหลายให้ลูกได้สัมผัส และให้ได้เลือกทำในสิ่งที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือนิทานกับลูกให้ลูกได้ฝึกเล่าเรื่อง เล่นกีฬากับลูก หรือให้ลูกได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะ ดนตรี หรือธรรมชาติ ท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ จึงช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้ค้นพบว่าลูกสนใจอะไร และมีความสามารถพิเศษด้านใด และหาทางสนับสนุนให้ได้สูงสุดตามศักยภาพของเขา โดยไม่บังคับหรือคาดคั้นให้ทำให้ได้มากอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการ เพราะการถูกบังคับหรือมีความเครียดจะสกัดกั้นการเรียนรู้ของเด็ก

         
ส่วนในวัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จในการเรียน หรือเรียนเก่ง เป็นผลสะสมระยะยาวจากการเลี้ยงดูในอดีตตั้งแต่เล็ก ๆ สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้มีการเรียนรู้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน รวมกับระดับสติปัญญาของวัยรุ่น ความมั่นใจในความสามารถของตน ความต้องการที่จะสำเร็จ จะส่งผลให้วัยรุ่นสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา

         
การเลี้ยงดูโดยการที่พ่อแม่ให้ความรักความอบอุ่นใกล้ชิด และมีการวางกฎแต่พอเหมาะพอควร มีความคาดหวังในการศึกษาของลูก มีการพูดคุยให้เหตุผล และให้วัยรุ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และพ่อแม่ก็มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการศึกษาของลูกจะมีลูกที่สำเร็จ การศึกษาสูงกว่าปล่อยปละละเลยมากเกินไป หรือเข้มงวดมากเกินไป โอกาสที่ลูกจะ “เก่ง” หรือประสบผลสำเร็จทางการศึกษาก็มีน้อยกว่า

         
ในทางตรงกันข้าม ถ้าถูกเลี้ยงดูมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ หรือไม่เปิดโอกาสให้ได้คิดได้เรียนรู้ ขาดแรงจูงใจ ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่พยายามสอนให้ลูก “เก่ง” ต้องไม่ลืมที่จะสอนให้ลูกได้มีความฉลาดทางอารมณ์ หรือมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) มีคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้ลูกนำความเก่งนั้นไปใช้ได้อย่างเหมาะสม และมีความสุข ความสำเร็จในอาชีพการงาน และการใช้ชีวิตในอนาคต ควรสอนให้ลูกได้มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักอดทนอดกลั้น มองโลกในแง่ดี มีความหวัง และมีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม ซึ่งขึ้นกับการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็กเป็นสำคัญ และต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวัยรุ่น ซึ่งคุณแม่สามารถช่วยได้โดยการเลี้ยงลูกด้วยความรัก ความเอาใจใส่ อบอุ่น ตอบสนองและเข้าใจ เห็นอกเห็นใจเด็กให้ความรู้สึกที่มั่นคงกับลูก พูดคุยและยิ้มกับลูกบ่อย ๆ ให้การตอบสนองในเชิงบวกต่อพฤติกรรมที่ดีของลูก มีกฎกติกา รู้จักยืดหยุ่น และคาดเดาได้ และพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมและแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม เพราะเด็กจะเรียนรู้จากการกระทำของพ่อแม่ ซึ่งเขาเห็นเป็นประจำทุกวัน มากกว่าที่จะเรียนรู้จากคำพูดบอกกล่าวของพ่อแม่แต่เพียงอย่างเดียว

         
นอกจากนั้นพ่อแม่ควรจะช่วยดูแลให้ลูกมีสุขภาพกายที่แข็งแรงและมีการเจริญ เติบโตที่สมวัย เพื่อให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาและแสดงความเก่งได้อย่างเต็มที่ โรคทางกายที่เด็กมีต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ พร้อมทั้งต้องให้ลูกได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบตามเกณฑ์ เพราะหากลูกเจ็บป่วยบ่อย ๆ เข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำจะทำให้ศักยภาพในการเรียนรู้ของลูกเสียไป

         
โภชนาการที่เหมาะสมตามวัย จะช่วยให้ลูกมีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ พร้อมที่จะพัฒนาด้านต่างๆ โดยในเด็กวัยเตรียมอนุบาลควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นปีละ 2-2.5 กก. สูงขึ้นปีละ 6-8 ซม. เด็กวัยเรียนควรมีน้ำหนักขึ้นเฉลี่ยปีละ 3-3.5 กก. ส่วนสูงเพิ่มขึ้นปีละ 6 ซม.หรือคำนวณจากสูตรดังนี้

         เด็กอายุ 2-6 ปี น้ำหนัก (กก.) = (2 X อายุเป็นปี) + 8
         
เช่น เด็กอายุ 5 ปี ควรน้ำหนัก = (2 X 5)+8 = 18 กก.
         
เด็กอายุ > 6 ปี–12 ปี น้ำหนัก (กก.) = {(7 X อายุเป็นปี) -5} /2
         
เช่น เด็กอายุ 10 ปี ควรน้ำหนัก = {(7 X 10) -5} / 2
                  
= {70-5} / 2
                  
= {65 } / 2
                  
= 32.5 กก.

         
เด็กอายุ 2-12 ปี ส่วนสูง (ซม.) = (6 X อายุเป็นปี) +77
         
เช่น เด็กอายุ 10 ปี ควรมีส่วนสูง = (6 X 10) +77
                  
= 60+77
                  
= 139 ซม.

         
หากคุณพ่อคุณแม่ดูแลให้ลูกมีการเจริญเติบโตสมวัย มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม สร้างแรงจูงใจต่อการเรียนรู้ของลูก พร้อมทั้งให้ความรักความอบอุ่น ความเอาใจใส่กับลูกแล้ว เชื่อแน่ว่าลูกต้องแสดงความ “เก่ง” ให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็น และพร้อมจะพัฒนาความ “เก่ง” ไปได้สูงสุดตามศักยภาพของเขาอย่างแน่นอน

ตัวอย่างของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็ก

         
ในการที่จะให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ นั้น คุณแม่สามารถช่วยได้ โดยการนำโลกรอบข้างตัว มาแนะนำให้ลูกได้รู้จัก เช่น ทารกมักจะชอบเสียงผู้หญิง ที่มีโทนสูง และจะทำท่าสนใจฟังทุกครั้งที่ได้ยินเสียงนั้น คุณแม่ก็ควรที่จะทำเสียงสูงต่ำ พูดช้าๆ ชัดๆ และชวนลูกคุยด้วยบ่อยๆ เมื่อมีโอกาส ความสามารถในการติดต่อสื่อสารนั้น ลูกสามารถเรียนรู้เพิ่มขึ้น ได้อย่างรวดเร็ว ลูกสามารถตอบสนองต่อเสียงพูดของคุณแม่ ต่างจากเสียงพูดของคนอื่น

         คุณแม่ควรพยายามพูดกับลูกโดยให้หน้าอยู่ห่างจากลูก ประมาณ 8-10 นิ้ว สบตา พูดคุยกับลูกช้าๆ ทำเสียงให้น่าสนใจ ให้ลูกสามารถมองเห็นสีหน้าของคุณแม่ได้ง่าย ถ้าคุณแม่ขยันพูดกับลูกบ่อยๆ คุณแม่จะประหลาดใจ เมื่อเห็นว่า ลูกพยายามจะสื่อสารกับคุณแม่ โดยการทำปากเปิดๆ ปิดๆ และยื่นลิ้นออกมา ทำทีเหมือนกับการพูด เมื่ออายุประมาณ 1 เดือน และเมื่ออายุประมาณ 3 เดือน ลูกจะแยกเสียงคุณแม่ ที่แสดงความรู้สึกดีใจ หรือเสียใจได้

การรับกลิ่น และการรับรส


         
ลูกมีประสาทรับกลิ่นที่ค่อนข้างไวมากตั้งแต่แรกเกิด ลูกจะจำกลิ่นน้ำนม ของคุณแม่ได้ และสามารถเรียนรู้กลิ่นกายของคุณพ่อได้ด้วย ถ้าลูกได้มีโอกาสใกล้ชิดกับคุณพ่อมากพอ ถ้าลูกได้กลิ่นเช่นกลิ่นแอมโมเนีย กลิ่นน้ำหอมฉุนๆ ลูกก็จะสามารถเบือนหน้าหนีได้ ตั้งแต่สัปดาห์แรกของชีวิต

การมองเห็น

         
ในเวลาที่ว่าง ลูกจะทำการสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว ลูกจะมองจ้องดู สิ่งที่เคลื่อนไหวช้าๆ อยู่ตรงหน้า และบางครั้งจะทำท่าเหมือนกับว่า ลูกกำลังพยายามคว้าของเหล่านั้น ด้วยสายตา ดังนั้นเริ่มจากอายุ 2 อาทิตย์ขึ้นไป คุณแม่ควรให้ลูกได้มีโอกาส มองดูรอบๆ และให้วาง หรือห้อยแขวนสิ่งของ ที่มีสีสันสดใสข้างลูกในระยะห่างประมาณ 1 ฟุต เพื่อให้ลูกได้ฝึกการมอง และการกลอกตา จริงๆ แล้วหน้าของคุณแม่ จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นการมองของลูกได้เป็นอย่างดี เพราะสีที่ตัดกันของตาดำ ตาขาว ปากแดง ฟันขาว จะทำให้เด็กสนใจอยากมอง

การใช้กล้ามเนื้อ

         
คุณแม่สามารถสอนลูกให้เริ่มรู้จักการใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในการสำรวจสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบข้างได้ โดยการจับมือของลูก มาทำท่าเหมือนปรบมือเข้าด้วยกัน เอานิ้วมือคุณแม่แหย่ที่ฝ่ามือฝ่าเท้าของลูกเบาๆ ให้รู้สึกจักกะจี้บ้าง หรือการออกกำลังแขนขาโดยการจับทำท่าต่างๆ อย่างนุ่มนวล ในช่วงที่กำลังสบายๆ หลังการป้อนนม หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม
         พออายุได้ 3-4 เดือน ลูกจะเริ่มทำการสำรวจสิ่งต่างๆ โดยการใช้ปาก อะไรก็ตามที่คุณแม่เอาใส่ให้ในมือของลูก จะถูกนำเข้าปาก เพื่อการสำรวจก่อนเสมอ โดยการทำเช่นนี้ ลูกน้อยของคุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับรส อุณหภูมิร้อนเย็น ความอ่อนแข็ง และรูปทรงของสิ่งของต่างๆ ด้วย

         พออายุได้ 4 เดือนขึ้นไป ลูกน้อยเริ่มที่จะเรียนรู้คอนเซปต์ ของการกระทำและผลที่จะตามมา ลูกจะเริ่มรู้ว่า ถ้าขยับบางส่วนของร่างกาย จะมีบางอย่างที่น่าตื่นเต้นตามมา เช่น เมื่อขยับมือที่ถือกระดิ่งไปมา ลูกจะได้ยินเสียงกระดิ่ง หรือถ้าเอามือปัดโมบาย ที่แขวนอยู่ตรงหน้า โมบายจะหมุน โดยการได้เรียนรู้คอนเซปต์นี้ ทำให้ลูกสามารถพัฒนาตนเองต่อไปอีกได้เมื่อโตขึ้น เช่น ถ้าพยายามคลานไปอีกสักนิด ก็จะได้ของเล่นตุ๊กตาหมีที่อยู่ไกลออกไป หรือถ้าดึงผ้าที่คลุมของเล่นออก ก็จะได้ของเล่นที่ซ่อนอยู่ข้างใต้ผ้า พอลูกอายุได้ 4 เดือนเศษ ลูกจะมีความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น คราวนี้จะไม่เพียงแต่ทำการสำรวจสิ่งต่างๆ ด้วยปากเท่านั้น แต่ลูกจะใช้มือ ในการสำรวจสิ่งต่างๆ เพื่อที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับของสิ่งนั้น ให้ได้มากที่สุด

         
คุณแม่สามารถเลือกของที่มีลักษณะและคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ โดยคุณแม่อาจเลือกของที่มีคุณสมบัติตรงข้ามกันให้ลูกสำรวจเปรียบเทียบกันใน เวลาเดียวกัน เช่น ของที่มีความนุ่มกับของแข็ง ของที่มีเหลี่ยมมุมกับของกลม ซึ่งจะช่วยให้ลูกได้เข้าใจถึงความแตกต่างได้ดีขึ้น
         คุณแม่ยังสามารถสอนลูกเพิ่มเติมได้อีก เช่น พูดคำว่า “บอล” “กลิ้งบอล” “กลิ้งบอลกลมๆ” เมื่อเล่นกลิ้งลูกบอลเล็กเข้าหาลูก หรือบอกลูกว่าเหลี่ยม เมื่อเอาของชิ้นสี่เหลี่ยมใส่ในมือลูก เพื่อให้ลูกได้รู้สึกถึงความแตกต่างจากของกลม ที่คุณแม่เพิ่งเอาใส่ในมือลูกเมื่อสักครู่
        นอกจากนี้ คุณแม่ยังสามารถแสดงให้ลูกรู้ได้ว่าไม่ใช่แต่ลูกบอลเท่านั้น ที่กลิ้งได้ แต่ของอื่นที่มีลักษณะกลมเช่นกันจะกลิ้งได้ โดยการกลิ้งส้ม หรือม้วนไหมพรมให้ลูกเห็น และให้ลูกได้ลองทำดู ซึ่งพบว่า เด็กอายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไปจะสามารถเข้าใจในคอนเซ็ปต์นี้ และเมื่อคุณแม่กลิ้งส่งของกลมๆ ให้ลูก ลูกจะกลิ้งกลับให้คุณแม่ แต่ถ้าคุณแม่ส่งของเหลี่ยม ที่กลิ้งไม่ได้ เช่น บล็อก หรือหนังสือให้ลูก ลูกจะไม่พยายามกลิ้งของนั้นกลับให้คุณแม่

         
ให้โอกาสลูกของคุณ ในการฝึกใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เพื่อให้ได้เรียนรู้คอนเซปต์ต่างๆ โดยการทำอย่างที่ได้แนะนำมาแล้วในตอนแรก คุณแม่สามารถสอนคอนเซปต์ ของความ แตกต่าง เช่น ความนุ่มกับความแข็ง ความร้อนกับความเย็น ความแห้งกับความเปียก ฯลฯ โดยการพยายามใช้สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว มาเป็นสื่อการสอน และพยายามพูดคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องให้ลูกฟังซ้ำๆ รวมทั้งพยายามแสดงถึงคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ ด้วย

         
ถึงแม้การทำอย่างนี้ อาจดูว่าไม่น่าสนใจ สำหรับคุณแม่ แต่สำหรับลูกแล้วสิ่งเหล่านี่เป็นสิ่งแปลกใหม่ ที่ลูกกำลังกระหายจะเรียนรู้ และเป็นรากฐานที่สำคัญ ในการที่ลูกจะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ที่มีในโลกของเธอต่อไป

         
กลวิธีที่คุณแม่ใช้ในการสอนลูกก็มีส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นการเรียนรู้ให้เกิด ขึ้น เช่น ถ้าคุณแม่จะพยายามบอกลูก ถึงของสิ่งเล็กๆ โดยการทำเสียงพูดเบาๆ กระซิบที่ข้างหูของลูกว่า “ตัวนิ้ด นิ้ด” ก็จะช่วยให้ลูกสามารถเข้าใจ ถึงความเล็กของมันได้ง่ายขึ้น ในการสอนลูกถึงความนุ่ม คุณแม่ก็สามารถใช้โทนเสียงที่นุ่มนวล ขณะที่เอาตุ๊กตาของเล่นที่นุ่มๆ มาเขี่ยเบาๆ ที่ข้างแก้มของลูก และคุณแม่สามารถสอนเกี่ยวกับความเปียกได้โดยการเอามือของเธอไปรองน้ำ ที่ไหลออกมาจากก๊อกน้ำที่อ่างล้างมือ พร้อมๆ กับการพูดคำว่า “เปียก เปียก” “น้ำเปียกมือ”
         ความจำของลูกก็พัฒนาได้เร็วพอๆ กับความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ สิ่งหนึ่งที่คุณแม่สามารถช่วยฝึกสมาธิ และความจำของลูกคือ การเล่นและการทำซ้ำๆ เช่น การเล่นจ๊ะเอ๋ หรือ การร้องเพลงเด็ก เช่น “จับปูดำ ขยำปูนา” ซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อลูกเกิดความคุ้นเคย กับสิ่งเหล่านี้แล้วก็จะสามารถใส่ใจ กับคำที่ใช้ในเพลง หรือท่าทางที่คุณแม่ทำให้ดู และเริ่มทำตามได้อย่างสนุกสนาน

         การแสดงท่าทาง ที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่เริ่มให้ลูกได้สัมผัสเรียนรู้ โดยการใช้น้ำเสียง และกริยาท่าทาง ที่เหมาะสม จะช่วยลูกในการแยกแยะสิ่งต่างๆ ออกจากกัน และช่วยในการเรียนรู้ของลูก ได้อย่างรวดเร็ว เช่น คุณแม่อาจพูดกับลูกว่า “ดูนี่ซิคะ ดอกไม้แดง ซ้วย สวย กลิ่นห้อม หอม” และทำท่าดมดอกไม้นี้ ให้ลูกดู ไม่นานต่อมา ลูกก็จะเริ่มทำท่าดมดอกไม้อื่นๆ ที่เธอเห็นด้วย หรือคุณแม่อาจทำท่า ขยับแขนแบบนกบิน พร้อมๆ กับพูดว่า “นั่นนก นกบิน บินน....” เมื่อลูกเห็นนกมาเกาะที่หน้าต่าง ซึ่งต่อมาลูกก็จะเริ่มทำท่า ขยับแขนขึ้นลงแบบนก เมื่อเธอได้เห็นนกอีก

         
เมื่ออายุได้ประมาณ 10 เดือน ลูกจะเริ่มมีความจำ และความเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง ที่จะช่วยแยกแยะลักษณะเฉพาะ ของของแต่ละสิ่ง ที่มีความแตกต่างกัน ลูกจะเริ่มแยกแยะได้ว่า เจ้าตัวขนยาวๆ ที่เดินไปมาในบ้านนี้ คือแมว และแมวชอบร้องเหมียวๆ ขณะที่ตัวที่มีขนเกรียน อยู่นอกบ้าน และชอบเห่าเสียงโฮ่งๆ คือหมา การที่คุณแม่เล่นกับลูกโดยการทำเสียง เหมียวๆ หรือโฮ่งๆ เมื่อเด็กเห็นสัตว์นั้นๆ จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ คำศัพท์และเข้าใจคอนเซปต์ของสัตว์นั้นได้ง่ายขึ้น

         
ในการที่ลูกสามารถแยกแยะความแตกต่าง ของสัตว์ต่างชนิด คนอื่นๆ และสิ่งของต่างๆ ได้นั้น ลูกเองก็กำลังเรียนรู้ ความเป็นคนพิเศษของตนเอง ซึ่งเมื่อลูกเริ่มได้คอนเซปต์ ของการเป็นตัวเองแล้ว ก็จะช่วยส่งเสริมความรู้สึกว่า ตนเองมีคุณค่า มีความสำคัญ

        
คุณแม่สามารถช่วยให้ลูก มีความรู้สึกในการเป็นตัวเองได้ โดยการให้ลูกมองภาพของตนเองในกระจกเงา พร้อมกับการเรียกชื่อของลูก เพื่อให้ลูกเริ่มรู้จักหน้าตาของตนเอง ซึ่งสัมพันธ์กับชื่อที่คุณแม่เรียก และควรจะใช้ชื่อเพียงชื่อเดียว ในการเรียกชื่อลูก เพื่อไม่ให้ลูกเกิดความสับสน ว่าชื่อไหน หมายถึงเธอจริงๆ และจะเป็นการช่วยให้ลูกได้เข้าใจ เกี่ยวกับการเป็นตัวเธอเองโดยการเรียกชื่อของลูก เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ในสิ่งของที่ลูกมี เช่น“นี่คือตุ๊กตาหมีของลูกแก้ว” “คุณแม่กำลังแปรงผมของลูกแก้วอยู่ ผมของลูกแก้วสวยจัง”

         
ในขณะที่ลูกเริ่มมีคอนเซปต์ ของการเป็นตัวเธอเองนั้น เธอก็กำลังเริ่มเข้าใจบทบาท และความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่กับตัวของเธอได้ดีขึ้น และการที่คุณแม่ตอบสนอง และให้ความรัก และทะนุถนอมต่อกริยาต่างๆ ที่ลูกแสดงออกอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้ลูกได้รับความรู้สึกว่า ตนเองเป็นที่รัก และมีความสำคัญ เป็นคนที่มีคุณค่า ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และมีความเป็นตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการพัฒนาการของเด็ก

         
ที่ได้แนะนำมาทั้งหมดนี้ ยังอาจไม่สมบูรณ์ และไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณแม่คุณพ่อได้ทำตามแล้ว จะทำให้ลูกอันเป็นที่รักยิ่งของเราเป็นเด็กเก่งได้ในชั่วข้ามคืน เพราะการอบรมเลี้ยงดูลูกนั้น ต้องอาศัยปัจจัย และตัวแปรอีกหลายอย่างมาประกอบ แต่ก็เชื่อแน่ว่า ด้วยความรัก ความเอาใจใส่ อย่างที่มีเหตุผลที่คุณพ่อและคุณแม่ ให้แก่ลูก จะทำให้ลูกของเราได้เจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ และถ้าลูกมีความสามารถ ที่จะเป็นอัจฉริยะได้ เขาก็ได้มีโอกาสที่จะแสดงให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ว่า เขานั่นแหละคืออัจฉริยะตัวจริง ที่คุณพ่อคุณแม่ได้พยายามฟูมฟักมาตั้งแต่แรกเกิดนั่นเอง

         
สำหรับตอนนี้ ก็ขอให้คุณพ่อคุณแม่ที่ติดตามอ่านมาถึงบรรทัดนี้ ได้แง่คิดและได้ประสบความสำเร็จ ในการดูแลลูกน้อยได้อย่างที่ตั้งใจไว้ อย่างน้อยก็ขอให้ยึดคติที่ว่า “การเริ่มต้นที่ดีเท่ากับสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่ง”

อัพเดทล่าสุด