ตอบแทนพระคุณแม่…ห่างไกลโรคกระดูกพรุน


1,073 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - ตอบแทนพระคุณแม่...ห่างไกลโรคกระดูกพรุน

 


           หากจะกล่าวว่าแคลเซียมเป็นธาตุอาหารสารพัดประโยชน์ก็คงจะไม่มีเสียงค้าน เพราะ แคลเซียมมีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบไหลเวียนโลหิต การทำงานของสมอง และสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก ในแต่ละวันเราได้รับแคลเซียมจากอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม กุ้งแห้งตัวเล็ก ปลาเล็กปลาน้อย ถั่วแดง และงาดำ เป็นต้น เพื่อชดเชยกับการสูญเสียจากร่างกายทางปัสสาวะ แต่ “แม่” ของเรานั้นต้องเสียแคลเซียมในปริมาณมากเพื่อการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ ก่อนที่ลูกจะเกิดเสียอีก นอกจากนี้ “แม่” ยังต้องเสียแคลเซียมอีกมากมายทางน้ำนมเพื่อเสริมสร้างให้ลูกเติบโตขึ้นอย่าง สมบูรณ์และแข็งแรง

           เมื่อเวลาผ่านไป เราเติบโตขึ้นเป็นกำลังของสังคม ขณะที่ “แม่” สูงวัยขึ้นและกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงชีวิตในวัยผู้สูงอายุ “แม่” ณ เวลานี้อาจต้องเผชิญกับการสูญเสียแคลเซียมจำนวนมากจากกระดูก ซึ่งอาจนำไปสู่โรคกระดูกพรุน ซึ่งมีสาเหตุจากความเสื่อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากปัจจัยทางพันธุกรรมและการขาดฮอร์โมนเพศหญิงหลังหมดประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่เป็นตัวเสริมเร่งให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้รวดเร็ว มากขึ้น เช่น การขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ ตลอดจนพยาธิสภาพบางประการ ได้แก่ ภาวะเลือดเป็นกรดเรื้อรัง และโรคทางไต เป็นต้น ภาวะกระดูกพรุนนี้เป็นเหตุให้คุณภาพชีวิตของ “แม่” ลดลง แต่ก็เป็นภาวะที่สามารถชะลอหรือบรรเทาลงได้หากได้รับกำลังใจและความเอาใจใส่ จากลูก ๆ ทุกคน

         โดยทั่วไปการรักษาโรคกระดูกพรุนสามารถทำได้ด้วยการใช้ยาหรือฮอร์โมน แต่การชะลอการเกิดหรือการป้องกันดูจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการ รักษาหลังเกิดโรคแล้ว ปัจจุบันมีอยู่หลายวิธีที่มีรายงานทางวิชาการว่าสามารถชะลอหรือลดความรุนแรง ของโรคนี้ได้ อาทิเช่น การออกกำลังกายที่มีความแรงเหมาะสม และการให้แคลเซียมเพื่อรับประทานเสริม การตอบแทนพระคุณแม่อย่างการชักชวนให้แม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอและรับประทาน อาหารแคลเซียมสูงจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกระดูกของแม่ในระยะยาว อย่างไรก็ดี ในทางวิชาการยังมีข้อจำกัดสำหรับการช่วยให้กระดูกของ “แม่” แข็งแรงอยู่ 2 ประการดังนี้คือ

           1. การออกกำลังกายที่มีแรงกระทำต่อกระดูกและข้อสูง อาจ ทำให้เกิดการบาดเจ็บของข้อต่อ หรือทำให้ข้อเสื่อมได้ ฉะนั้นจึงมีการตั้งสมมติฐานว่าการออกกำลังกายอาจต้องเป็นแบบแรงกระแทกต่ำ (Non-impact exercise) เช่น การว่ายน้ำ ที่ลดการบาดเจ็บของข้อต่อได้ แต่องค์ความรู้เรื่องผลของการออกกำลังกายแบบแรงกระแทกต่ำต่อการสร้างความ แข็งแรงของกระดูกมีอยู่น้อยมาก งานวิจัยส่วนใหญ่เน้นที่การเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกในคนอายุน้อยหรือในนัก กีฬา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการออกกำลังกายแบบมีแรงกระแทกสูง เช่น การวิ่ง หรือกระโดด

            2. ประสิทธิภาพของกระบวนการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารเข้าสู่ร่างกายจะลดลงตามอายุของ “แม่” ที่เพิ่มขึ้น ดัง นั้นแคลเซียมจากอาหารแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่าง กาย จึงมีความจำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมเสริม ซึ่งแม้ว่าจะทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมมากขึ้น แต่ร่างกายก็ไม่อาจดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งหมด การเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียมของร่างกายตลอดจนการพัฒนารูปแบบของ แคลเซียมที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ดีจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ด้านกลไกการดูดซึม แคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย องค์ความรู้ดังกล่าวนี้เป็นที่ทราบและยอมรับมากว่าหนึ่งทศวรรษ อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยในปัจจุบันที่ใช้เทคนิคอันทันสมัยมากขึ้นบ่งชี้ว่า องค์ความรู้นี้มีความคลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก ดังนั้นนักวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูกจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อ พัฒนาองค์ความรู้ที่ถูกต้องขึ้นมาใหม่ สำหรับการต่อยอดความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียม

            คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากงานวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูกตลอดจนผลกระทบเชิงบวกขององค์ความรู้ในด้านนี้ต่อสังคมไทย จึงได้จัดตั้ง “เครือข่ายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก” ขึ้น ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระ โดย มีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานี้เป็นสมาชิกเครือข่ายฯ กว่า 20 คน เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพ. นรัตถพล เจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ของคณะฯ ภารกิจหลักของเครือข่ายฯ คือดำเนิน การวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกโดยการออก กำลังกายประเภทต่าง ๆ และการเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียมเพื่อชะลอหรือลดความรุนแรงของโรค กระดูกพรุน โดยเฉพาะใน “แม่” ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและวัยผู้สูงอายุ

           งานวิจัยอีกส่วนหนึ่งยังแสดงให้เห็นว่า มี ความเป็นไปได้ที่จะป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกของแม่ในระหว่างเลี้ยงบุตร ด้วยน้ำนมแม่โดยให้แม่รับประทานแคลเซียมเสริมในปริมาณและช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้เพราะในระหว่างให้นมบุตรจะมีฮอร์โมนที่อยู่ในกระแสเลือดหลายชนิด ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารที่รับประทานเข้าสู่ ร่างกายได้ในอัตราที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัว ปัจจุบันงานวิจัยส่วนนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากทางคณะฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่องานวิจัยสัมฤทธิ์ผลจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นว่า  “แม่” ผู้เป็นที่รักของลูกทุก ๆ คน มีกระดูกที่สมบูรณ์แข็งแรงได้ไปจนสูงวัย
ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/39182

อัพเดทล่าสุด