ผลไม้ไทยเพื่อสุขภาพที่ดี ทุเรียนต้านอนุมูลอิสระ ฯ เปลือกมังคุดฆ่าเชื้อโรค ฯ


1,526 ผู้ชม


ทุเรียน มังคุด

         

    ผลไม้เมืองไทยเราอุดมสมบูรณ์มากๆ มีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะผลไม้จากในป่าธรรมชาติ ขึ้นเองจากนกคายเมล็ด คาบบินตกลงมา หรือสัตว์กินแล้วถ่ายออกมาขึ้นเป็นต้น หรือตั้งใจปลูกเองกินเอง  ปลูกขาย ผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ และประเทศของเราก็มีส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งเมื่อเรากินของต่างประเทศแล้วนำเมล็ดเพาะเป็นต้นขึ้นมาเกษตรกรของไทยเราเก่งมาก จากแค่ไม่กี่เมล็ดก็ปลูกจนเป็นสวนใหญ่ได้ และโครงการหลวงฯก็นำผลไม้เมืองหนาวมาปลูกได้อีกมากมายหลายชนิด แต่เราต้องหาซื้อได้เฉพาะที่ไม่มีมากจนกระจายได้ทั่วประเทศ ผลไม้มีหลายรสชาิติให้ลิ้มลองได้อร่อยตามชอบ

    ทุเรียนหมอนทองจากต้น บ้านหัวโก อ.สันทราย เชียงใหม่

   แต่ก็มีผลไม้ชื่อ ทุเรียน ที่บางคนถือว่าเป็นผลไม้ต้องห้าม เนื่องจากมีโรคประจำตัว หรือกลัวอ้วน กลัวไขมันขึ้น กินไม่ได้  ไม่ควรกินทั้งๆที่ชอบ หรือบางคนไม่ชอบกลิ่น ผู้เขียนชอบทุเรียนสุกพอดีเนื้อไม่เละ พออายุมากขึ้นต้องลดปริมาณลงในการกินแต่ละครั้ง จะได้ชิมต้นที่เพื่อนปลูกที่ อ.สันทราย เชียงใหม่ มา 10 กว่าปีแล้ว พันธุ์หมอนทอง เนื้อดีและเมล็ดลีบ ซึ่งตอนที่ได้ชิมปีแรกๆ รู้สึกแปลกใจว่าที่เชียงใหม่ก็ปลูกได้ด้วยหรือ แถมเนื้อทุเรียนอร่อยด้วย  ที่เอ่ยถึงทุเรียนเพราะได้อ่านบทความเรื่อง "ผลไม้ไทยอาหารเพื่อสุขภาพ และเภสัชโภชนภัณฑ์" แล้วทำให้ทราบว่าทุเรียนไม่ได้มีโทษต่อร่างกายอย่างที่เข้าใจผิดมานาน มีประโยชน์อย่างไรบ้างนำมาฝากค่ะ

 

ทุเรียนหมอนทอง จากต้นที่ บ้านหัวโก อ.สันทราย เชียงใหม่

 

  "  ประเทศ ไทยเป็นแหล่งที่มีผลไม้อุดมสมบูรณ์ แต่เป็นที่สังเกตว่าข้อมูลทางด้านสุขภาพของผลไม้เหล่านี้มีจำกัด อีกทั้งยังไม่มีการเผยแพร่สู่ประชาชน อย่างกรณีของราชาผลไม้ไทยคือ “ทุเรียน” ได้ มีการศึกษาเชิงลึกประโยชน์ในการบริโภคทุเรียน จะมีส่วนช่วยในการลดไขมันในเส้นเลือดในห้องปฏิบัติการ และเมื่อนำมาทดลองกับหนู พบว่า ในเนื้อทุเรียนมีสารโพลีฟีนอล และสารฟลาโวนอยด์ ในปริมาณสูงเมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ

 

   ซึ่งสารทั้งสองชนิดดังกล่าว มีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคในมนุษย์ได้ เมื่อบริโภคใน สัดส่วนที่เหมาะสม เช่น โรคมะเร็ง, โรค หัวใจ ฯลฯ ในขณะเดียวกัน ก็พบว่า ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าพันธุ์ชะนีและพันธุ์ก้านยาว นอกจากนั้น ผลจากงานวิจัย ยังพบว่า การบริโภคทุเรียนควรจะบริโภคที่ความสุกพอดี จะมีประสิทธิภาพในการต้านทานมากกว่าบริโภคทุเรียนดิบและทุเรียนที่สุกเกินไป (ทุเรียนปลาร้า)

 

  อีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อมูลจากราชินีผลไม้ไทยคือ “มังคุด” ได้มีการต่อยอดแนวความคิดเรื่อง “การศึกษาสารสกัดสมุนไพรจากเปลือกมังคุดฆ่าเชื้อโรคได้” โดย นำมาผลิตเป็นผ้าปิดจมูกเส้นใยนาโนเคลือบสารสกัดจากเปลือกมังคุด และได้รับเลือกเป็น 1 ใน 6 ผลงานวิจัยดีเด่น ด้านสิ่งทอที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง ผ้าปิดจมูกเปลือกมังคุดนาโนนี้มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อ วัณโรคในอากาศได้ถึง 99.99%

 

    ปัจจุบัน ปัญหาทางด้านสุขภาพเกิดขึ้นกับมนุษย์ในทั่วทุกมุมโลก เช่น ปัญหาไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และที่ร้ายแรงที่สุดคือโรคมะเร็ง สำหรับบ้านเราในแต่ละปีรัฐบาลจะต้องเสียเงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก ในการรักษาผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ระดับหนึ่ง

  

   แต่ถ้าป้องกันการเกิดโรคได้จะเป็นวิธีการรักษาแบบยั่งยืนมากกว่า ดังนั้นมาตรการในการป้องกันคือ ควรจะส่งเสริมและเผยแพร่ให้ประชาชนทุกกลุ่มรู้จักในการเลือก  บริโภคผลไม้ในกลุ่มที่เป็นประโยชน์ ผลไม้ไทยเป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุและใยอาหาร ซึ่งมีข้อมูลเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการมานาน

 

    ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ด้าน ผลไม้ (Fruit Science) ทำ ให้มีการค้นคว้าทดลองในเชิงสุขภาพของมนุษย์มากยิ่งขึ้น จากผลงานของนักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้มีข้อสรุปที่ตรงกันว่า สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และกลุ่มแครอทีนอยด์ (Carotenoid) มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่ดี และมีส่วนช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคได้จริง "

 

 

 ขอบคุณบทความ ผลไม้ไทยฯจากหนังพิมพ์เดลินิวส์

 คอลัมน์ ทิศทางการเกษตร โดย ทวีศักดิ์  ชัยเรืองยศ

 

 

ตะลิงปิง

                  

                    

   ผลไม้เมื่อเรากินแล้วลูกที่ผลแก่จัด เราเก็บเมล็ดมาเพาะขึ้นเป็นต้นได้ ผลไม้บางชนิดเมื่อเราปลูกนั้น บางชนิดให้ผลเร็ว บางชนิดนานหลายปีก่อนจะได้กินผล ซื่งถ้าเราไม่เพาะเมล็ด การไปหาซื้อที่ตลาดต้นไม้ก็มีให้เลือก จากต้นที่ เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง ต่อตา ปักชำ หรือโคนเป็นพันธุ์ที่อดทนแต่ กิ่ง ใบ เป็นอีกพันธุ์อื่น ฯ ก็มีอีก เลือกซื้อได้ตามใจชอบต่อความเหมาะสมที่จะไปปลูกไว้ที่บ้านหรือในสวน ฯ  หากจะปลูกก็ต้องเริมปลูก ถ้ามีที่ดินที่ปลูกได้ การเก็บผลไม้จากต้นกินเองนี้ เยี่ยมสุด ปลอดภัยในทุกเรื่อง  ถึงแม้จะหลายปี ตัวเราอาจไม่ได้เด็ดกินแต่ ลูก หลาน ญาติ ฯลฯ ก็เก็บได้ในวันข้างหน้า  อย่างเช่น

 

 

มะม่วงต้นนี้ปลูกที่สวนแม่ริมเชียงใหม่ลูกแก่จะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัมกว่า

 

  คุณปู่ของลูกๆ ปัจจุบันอายุ 80 ปี มีสวนลำไย มะม่วง บ้างเล็กน้อยเมื่อสมัยก่อน ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงที่ดินเพื่อทำอย่างอื่น ก็ตัดทิ้งไปหลายต้นโดยเฉพาะมะม่วงหมดเลย  ระยะหลังก็เริ่มปลูกใหม่ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีมะม่วงพันธุ์ที่ต้นไม่ใหญ่ก็มีลูกโตๆได้แล้ว ปลูกเงาะ ต้นนิดเดียวก็มีลูก  ลองกองก็สูงมากแล้วแต่ยังไม่มีลูก ที่สวนไม่กว้างมากนักแต่ก็มีผลไม้หลายอย่าง เช่น ลำไย ลิ้นจี่ น้อยหน่า มะยงชิด ชมพู่มะเหมี่ยว เงาะ แก้วมังกร ละมุด ทับทิม  กล้วย ฯ หมุนเวียนให้ได้ชิมอย่างสบายใจหมุนเวียนตามฤดูกาลตลอดปี ที่ว่าสบายใจเพราะคุณปู่ปล่อยมีลูกอย่างธรรมชาติจริงๆ ปุ๋ยก็ไม่ใส่ ก็ยังมีอีกหลายชนิดที่รอเวลาการโตและมีลูก ที่ผู้เขียนขอให้คุณปู่ช่วยปลูกไว้ให้ และต้นเริ่มโตพอควร เช่น อโวคาโด  มะม่วงหิมพานต์  มะพร้าวน้ำหอม (เคยมีแต่ปู่ตัดทิ้งหมด)   กำลังขอให้ปู่ปลูกทุเรียนสักต้น  และกำลังหาต้นอินทผาลัมมาปลูกเพิ่มอีก 

 

แก้วมังกรบ้านสุพรรณบุรี

 

    และที่บ้านคุณยายที่สุพรรณ ก็มีผลไม้หลายชนิด เวลาผู้เขียนกลับบ้าน เช้ามาเก็บกินทันทีคือ เชอรี่ ที่ตั้งใจลงดินไว้เพื่อไว้ทำบอนไซ แต่ต้นใหญ่ขึ้นมาก ดอกสวยน่ารัก ลูกสีแดงดก รสหวาน (นกชอบมาก) ก็เปลี่ยนใจไม่ทำบอนไซแล้ว  ลำไยก็มีแต่มีลูกไม่ทุกปี  กำลังลุ้นลิ้นจี่ให้มีลูก ได้ปลูกแก้วมังกรไว้หลายปี โดยนำกิ่งไปจากเชียงใหม่พันธุ์จากเวียตนามจากบ้านเพื่อนลูก ได้แก้วมังกร รสหวานมีลูกตลอดปี คุณยายก็ไว้แจกให้ญาติ ใส่บาตร เวลาไหว้ตรุษจีน สารทจีน ก็ได้ใช้  แก้วมังกรเป็นผลไม้ที่ปลูกง่าย กิ่งปักชำได้และมีลูกเร็ว ปลูกในกระถางก็มีลูกได้ ลองปลูกนะคะ 

 

    ถ้ามีที่ดินไว้บ้างแล้ว ผลไม้แต่ละต้นต้องใช้เวลาหลายปี เริ่มปลูกนะคะ อีกไม่นานเราก็ได้เก็บผลอร่อยๆได้กินเองและเป็นของฝากได้อย่างดี เพียงซื้อต้นเล็ก หรือนำเมล็ดไปให้ผู้ที่อยู่ตรงที่ดินที่เรายังไม่ได้ไปอยู่ หรือเราไปตรงที่ดินของเราแล้วลงมือปลูกสักวัน ต้นโตขึ้น ออกดอก ออกผล เราจะดีใจค่ะมีต้นไม้ที่เราต้องการให้เราได้มองได้เก็บผล

 

ด้วยความปรารถนาดี  กานดา แสนมณี

 

 

 มะเดื่อชุมพร ต้นนี้อยู่ที่ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่มา   https://www.gotoknow.org/posts/503546

อัพเดทล่าสุด