ผักตำลึง กับผลการทดลอง ลดน้ำตาลในเลือด และมีสารอาหารมาก


1,688 ผู้ชม


ลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานได้

 

ตำลึง 

 

ชื่ออังกฤษ   Ivy Gourd

ชื่อท้องถิ่น  :  ผักแคบ (เหนือ)  แคเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน) สี่บาท

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ตำลึงเป็นไม้เถามีอายุอยู่ได้หลายปี เมื่ออายุมากเถาจะใหญ่และแข็ง เถาสีเขียวตามข้อมีมือเกาะ ใบออกสลับกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกสีขาว ข้างในมีเกสรสีเหลืองอ่อน ผลคล้ายลูกแตงกวา แต่ขนาดเล็กกว่า ผลดิบสีเขียว และมีลายขาว เมื่อลูกสุกเต็มที่สีแดงสด ปลูกเป็นผักขึ้นตามรั้วบ้านตามชนบททั่วไป ปลูกโดยใช้เมล็ด

 

 

 

 

สาระสำคัญที่พบ 

น้ำย่อยแป้ง ( amylase ) ฮอร์โมน และอัลคาลอยด์ มีกรดอะมิโน ( amno acid ) หลายชนิด ในผลตำลึงพบสาร คิวเคอร์บิตาซิน ( cucurbitacin ) มีสาร pectin ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการลดน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้มี daucosterol ,  glucopyranosyl ,  sitosterolm ,  taraxerone

 

คุณค่าทางด้านอาหาร

ในตำลึงมีคุณค่าทางด้านอาหารสูง ประกอบด้วยวิตามินเอ และสารแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน และยังมีโปรตีน ไขมัน  คาร์โบไฮเดรต  ฟอสฟอรัส  เหล็ก วิตามิน และอื่นๆ นับเป็นอาหารบำรุงที่ดี ยอดตำลึงใช้เป็นผักปรุงอาหารได้หลายอย่าง เช่น ลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก แกงจีดตำลึงหมูสับ แกงเลียง หรือใส่ก๋วยเตี๋ยวแทนถั่วงอกก็ได้

ส่วนที่ใช้เป็นยา  ใบสด

ขนาดที่ใช้ ตำลึง250 กรัมต่อน้ำหนักตัว50 กิโลกรัม เช้า – เย็น วันละ 2 ครั้ง

รสและสรรพคุณยาไทย

รสเย็น ใบสด ตำคั้นน้ำ แก้พิษแมลงกัดต่อย ที่ทำให้ปวดแสบปวดร้อน และคัน

ประโยชน์ทางยา

ใช้เป็นยารักษาอาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ยุงกัด ถูกตัวบุ้ง ใบตำแย แพ้ละอองข้าว โดยเอา

 ใบสด 1 กำมือ ( ใช้มากน้อย ตามบริเวณที่มีอาการ ) ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นน้ำจากใบเอามาทาบริเวณที่มีอาการ พอน้ำแห้งแล้วทาซ้ำบ่อยๆจนกว่าจะหาย

ใบแก่ 

ของตำลึงมีสรรพคุณทางยาคือ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด  อุดมไปด้วยสาร pectin  ซึ่งหมอยาสมุนไพรพื้นบ้านชาวตะวันออก ได้ใช้รักษาโรคเบาหวานแต่โบราณ

เมื่อปีพ.ศ. 2523 

ได้มีการศึกษาโดยการแบ่งคนไข้โรคเบาหวานชาวปากีสถาน 32 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม เท่าๆกัน กลุ่มหนึ่งให้รับประทาน ยาใบตำลึงวันละ 6 เม็ด พบว่าเมื่อให้ยาติดต่อกัน 6 สัปดาห์น้ำตาลในเลือดของคนไข้กลุ่มนี้ลดลง และความสามารถในการใช้น้ำตาลดีขึ้น 20% เพียงแต่ว่ากระบวนการรักษาโรคเบาหวานของตำลึงนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

 

 

รายงานการทดลอง

ส่วนใหญ่นั้น จะพบว่าส่วนต่างๆของตำลึงมีผลในการลดน้ำตาลในเลือด เช่น

พ.ศ 2496 ในประเทศอินเดีย

ให้กระต่ายที่เป็นโรคเบาหวาน กินน้ำต้มรากตำลึงเป็นเวลาประมาณ 58 – 71 วัน พบว่า น้ำตาลในเลือดของกระต่ายส่วนใหญ่ลดลงจนเกือบเป็นปกติ

พ.ศ  2515 ในประเทศไทย

มีการทดลองใช้สารสกัดแอลกอฮอล์ จากเถาตำลึง กับกระต่ายที่เป็นเบาหวาน พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดหลังจากกินยา ไปแล้ว 1 ชั่วโมง และยาออกฤทธิ์นาน 6 ชั่วโมง โดยมีประสิทธิภาพเท่ากับ  50% ของยาลดน้ำตาล ทอลบูตาไมค์

พ.ศ 2536  ประเทศเยอรมัน

ทดลองใช้สารสกัดจากผลตำลึง ขนาด 200 มก./100 กรัม ในหนูปกติ มีฤทธ์ ลดน้ำตาลในเลือดได้

พ.ศ  2546  ในประเทศอินเดีย

ทำการทดลองในหนูที่เป็นเบาหวาน ที่กระตุ้นโดยสาร Streptozotoein โดยใช้ สารสกัดจากใบตำลึง 200 มก./กก. ให้สารสกัดทางปากแก่หนู เป็นเวลานาน 45 วัน ให้ผลลดน้ำตาลในเลือดไ ด้ดีกว่ายา  glibenclamide

มีรายงานการทดลองจากต่างประเทศ

ว่าน้ำต้มผักตำลึงจะมีฤทธิ์ครึ่งหนึ่งของน้ำยาสกัดแอลกอฮอล์

ส่วนในคนนั้น

พบว่า มีการทดลองโดยนำใบตำลึงมาคั้น ในอัตราส่วนน้ำ 20 มล.ต่อใบตำลึง1 กก. โดยให้ผู้ป่วยเบาหวานดื่มวันละ 2 ครั้ง พบว่า ได้ผลในการลดน้ำตาล เช่นกัน

 

ส่วนรายงานการทดลองที่ไม่ได้ผล 

นั้นส่วนหนึ่งพบว่าเมื่อนำส่วนของตำลึงที่ใช้ประกอบอาหารมาสกัดให้หนูที่เป็นเบาหวานกิน ปรากฏว่าไม่สามารถลดน้ำตาลในหนูได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะใบและยอดอ่อนของตำลึงมีอายุน้อยเกินไป

ในปีค.ศ 2003 ประเทศอินเดีย

มีการทดลอง สารสกัดจากใบตำลึงในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน พบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

การทดสอบความเป็นพิษ 

โดยป้อนสารสกัดทั้งต้นด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ ( 1:1 ) ในขนาด ( 1:1)  ในขนาด 10 ก/กก. ไม่พบสารพิษ

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลตำลึง จากหนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน

รวบรวมเรียบเรียงโดยเภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก(พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับปรับปรุง)

 

 

ตำลึงตัวเมีย

ใบ  รสเย็น  ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้ตัวร้อน ดับพิษฝีถอนพิษของตำแย แก้ปวดแสบปวดร้อน แก้คัน

ดอก  รสเย็น แก้คัน

เมล็ด  รสเย็นเมา  ตำผสมน้ำมันมะพร้าวทาแก้หิด

เถา  รสเย็น ใช้น้ำจากเถาหยอดตา แก้ตาฟาง ตาแดง ตาช้ำ ตาแฉะ พิษอักเสบในตา ดับพิษ แก้อักเสบ  ชงกับน้ำ ดื่มแก้วิงเวียนศีรษะ

ราก  รสเย็น   ดับพิษทั้งปวง

น้ำยาง, ต้น,ใบ, ราก   รสเย็น  แก้โรคเบาหวาน

หัว   รสเย็น      ดับพิษทั้งปวง

 

ตำลึงตัวผู้  

 

หัว  รสเย็น   ดับพิษทั้งปวง ระบายท้อง

 

ขอบคุณสรรพคุณตำลึงจากหนังสือเภสัชกรรมไทย ฯโดยวุฒิ วุฒิธรรมเวช

 ผักตำลึง

บางคนกินมากเกินต่อครั้ง หรือต่อมื้ออาหาร ทำให้เกิดการะบายท้อง  แล้วเข้าใจว่าท้องเสีย พอต่อมาก็ทำให้ไม่อยากกินอีก หรือสั่งผู้ทำอาหารว่าไม่ต้องนำมาทำอาหารอีกนะ กินแล้วท้องเสีย  ทำไมไม่คิดว่า ล้างลำไส้ด้วยผักตำลึง ช่วยระบายท้อง บ้างก็ดีนะ พอมื้อต่อๆมาเราก็ควรกินแต่พอดี หากไม่ทานเลย ก็น่าเสียดายคุณค่าของสารอาหารในผักตำลึง ซึ่งเป็นผักที่ปลูกเองได้ ไม่ปลูกก็เก็บริมรั้วบ้านตัวเองหรือเพื่อนบ้าน ได้เช่นกัน หรือหาซื้อได้ง่ายจากตลาดและมีราคาถูก  ผู้อยู่ในเมืองเราคงต้องหันมาเริ่มปลูกตำลึงกันไว้บ้างแล้วนะคะ หรือบ้านที่มีอยู่บ้างแล้วก็ต้องไม่ถอนตัดทิ้งหมดเหลือ ราก-เถาไว้บ้าง

   ผู้เขียนเวลากลับบ้านสุพรรณ มีให้เห็นรอบบ้าน เจ้าตำลึงก็พันเลื้อยเต็มไปหมด ไม่ว่าบนต้นมะกรูด มะลิเป็นพุ่ม กระถิน ฯ ก็ต้องดึงถอนทิ้งบ้าง เมื่อเด็กๆเก็บยอดตำลึงเด็ดสดๆจากต้น สั้นๆเฉพาะยอด มาลวกจิ้มน้ำพริก  ก็อร่อยมากแล้ว ตำลึงเป็นผักที่นำมาต้มบดเป็นอาหารให้เด็กเล็ก ก่อนทานข้าวเป็นเมล็ดดีมากๆ เพราะสารอาหารที่มีประโยชน์มีมาก บดให้ละเอียดง่าย  ต่อนี้ไปเราไม่ควรมองข้ามผักตำลึงนานเกินไป นำมาทำอาหารกันบ้างนะคะ  และครอบครัวไหนที่มีผู้ป่วยโรคเบาหวานก็นำใบแก่ตำลึงตัวเมีย ฯ ทำเป็นอาหารให้ทานเป็นประจำ เพื่อช่วยลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งในแต่ละมื้อควรแบ่งทานแต่พอดี  หรือผู้ที่เป็นโรคท้องผูก ก็ทานผักตำลึงบ่อยๆก็น่าจะช่วยระบายท้องได้ดี  

 
ที่มา   https://www.gotoknow.org/posts/484296

อัพเดทล่าสุด