ฟลูออไรด์เป็นองค์ประกอบ 1 ใน 5 ที่สำคัญของงานทันตกรรมป้องกัน ซึ่งได้แก่ การทำความสะอาดฟันและช่องปากโดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน
ฟลูออไรด์ คืออะไร ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่ใช้ป้องกันโรคฟันผุ สามารถใช้ได้ 2 วิธี คือ
- ฟลูออไรด์ที่ใช้ในระบบทั่วร่างกาย คือ การเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำหรืออาหารเพื่อให้เด็ก รับประทาน เพื่อมุ่งหวังผลให้ฟลูออไรด์เข้าไปอยู่ในฟันในขณะที่ฟันกำลังมีการเจริญเติบโต ซึ่งสามารถทำได้โดยการเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำดื่ม ในนม เสริมในรูปของยาฟลูออไรด์ ในอาหาร เช่น ใบชา อาหารทะเล (ปลาแห้ง กุ้งแห้ง) เนื้อสัตว์ ผัก ในน้ำบาดาล ในอากาศ ในบริเวณที่มีโรงงานถลุงเหล็ก อลูมิเนียม ตะกั่ว ทองแดงจะมีฟลูออไรด์ในอากาศสูง
- ฟลูออไรด์เฉพาะที่ คือ การใช้ฟลูออไรด์สัมผัสกับฟันโดยตรง ซึ่งสามารถทำได้โดยการ แปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ การใช้ยาบ้วนปากฟลูออไรด์ การเคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์ การขัดฟันด้วยสารฟลูออไรด์ การที่ยาฟลูออไรด์สัมผัสกับฟันก่อน
วัยใดบ้างจำเป็นต้องใช้ฟลูออไรด์ การใช้ฟลูออไรด์เสริมในรูปของยาฟลูออไรด์ จะเริ่มใช้ต้องแต่เด็กอายุ 6 เดือน – 16 ปี เนื่องจากยังมีการสร้างของหน่อฟันน้ำนมและหน่อฟันแท้ ซึ่งขนาดของฟลูออไรด์เสริมที่ใช้ขึ้นกับปริมาณของฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม และอายุของเด็ก ส่วนฟลูออไรด์ที่ใช้ในระบบเฉพาะที่ ได้แก่
- ยาสีฟันฟลูออไรด์ ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ควรใช้ยาสี ฟันในขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถควบคุมการกลืนได้ดี ถ้าใช้ในปริมาณยาสีฟันมากเกินไป เด็กอาจจะกลืนยาสีฟันลงไปทำให้เกิดอันตรายได้ ส่วนในผู้ใหญ่ก็บีบยาสีฟันยาวประมาณ 1 นิ้ว
- ยาบ้วนปากฟลูออไรด์ นิยมใช้ในเด็กตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ในผู้ใหญ่ที่มีฟันผุลุกลาม รวมถึง คนที่มีโอกาสเสี่ยงจะเกิดฟันผุได้ง่าย เช่น คนที่ได้รับการฉายแสงรักษาโรคบริเวณใบหน้า ลำคอเพราะน้ำลายจะน้อย ฟันผุบริเวณรากฟัน ใส่เครื่องมือจัดฟัน
- การเคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์ ไม่มีข้อกำหนดว่าควรเคลือบฟลูออไรด์และหยุด เคลือบฟลูออไรด์เมื่อใด แต่ไม่แนะนำให้เคลือบฟลูออไรด์ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี เนื่องจากมีโอกาสกลืนฟลูออไรด์สูงมาก
ในผู้ใหญ่ฟลูออไรด์มีความจำเป็นหรือไม่ จำเป็นในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุในระดับปานกลางและสูง คือ มีฟันผุ 1 – 2 ซี่ หรือมากกว่าใน รอบปีที่ผ่านมา รับประทานของหวานบ่อย ๆ ใส่เครื่องมือจัดฟัน มีโรคทางระบบหรือได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะและคอ ตรวจสุขภาพฟันไม่สม่ำเสมอ สุขภาพฟันและช่องปากอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี พอใช้ บุคคลเหล่านี้ควรจะได้รับฟลูออไรด์ในระบบเฉพาะที่ เช่น ยาสีฟันฟลูออไรด์ ยาบ้วนปากฟลูออไรด์ เคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์
การใช้ฟลูออไรด์จำเป็นต้องปรึกษาทันตแพทย์ก่อนหรือไม่ จำเป็นต้องปรึกษาทันตแพทย์ก่อน เนื่องจากการได้รับฟลูออไรด์ในขนาดที่ไม่เหมาะสมจะทำให้ไม่ได้ผลเต็มที่ในการป้องกันฟันผุ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็จะทำให้เกิดอันตรายได้
การเกิดพิษของฟลูออไรด์ แบ่งได้เป็น
- การเกิดพิษชนิดเฉียบพลัน เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์เกินขนาด มักเกิดจากการรับ ประทานฟลูออไรด์ที่มีอยู่ในยาสีฟัน ยาบ้วนปาก ยาฟลูออไรด์โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงเพียงใด ขึ้นกับปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับเข้าไป ตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย จนกระทั่งถึงตายได้
- การเกิดพิษชนิดเรื้อรัง เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์ในขนาดที่เกินกว่าขนาดที่สมควรจะ ได้รับเป็นระยะเวลาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการที่แสดงออกได้แก่ ฟันตกกระ และจะมีปวดข้อมือ ข้อเท้า ถ้าเป็นมากลุกลามไปยังกระดูกสันหลังจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ทำให้หายใจลำบากและตายในที่สุด มักพบในผู้ที่ดื่มน้ำบาดาลในภาคเหนือ
การใช้ฟลูออไรด์อย่างต่อเนื่องจะมีอันตรายหรือไม่ ผลจากการศึกษาพบว่า การได้รับฟลูออไรด์ในขนาดที่เหมาะสมต่อเนื่องกันเป็นเวลานานไม่มีอันตรายใด ๆ และไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคทางระบบและไม่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งทุกชนิด รวมทั้งถ้าไม่ได้ใช้ฟลูออไรด์ก็จะไม่มีผลเสียถ้าสามารถดูแลสุขภาพช่องปากและฟันได้ดี แต่ถ้าเราไม่สามารถดูแลได้ดีการใช้ฟลูออไรด์จะช่วยป้องกันฟันผุได้ดีกว่าการไม่ใช้ฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์สามารถป้องกันฟันผุได้จริงหรือไม่ ฟลูออไรด์สามารถป้องกันฟันผุได้ โดยฟลูออไรด์จะไปสะสมอยู่ในฟันทำให้ผลึกเคลือบฟันแข็งแรงขึ้น ทนต่อกรดที่ทำให้เกิดฟันผุได้มากขึ้น นอกจากนี้ฟลูออไรด์ยังมีผลต่อแบคทีเรีย โดยจะไปลดการสร้างกรดของ แบคทีเรีย ลดการเกาะติดของคราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน นอกจากนี้ฟลูออไรด์ทำให้เกิดการสะสมกลับของแร่ ธาติที่ผิวฟัน เป็นผลให้ฟันผุในระยะเริ่มแรกหายเป็นปกติได้
ข้อแนะนำในการใช้ฟลูออไรด์ สำหรับในเด็กการได้รับฟลูออไรด์เสริมควรปรึกษาทันตแพทย์ โดยทันตแพทย์จะพิจารณาจากจำนวน ฟลูออไรด์ที่เด็กได้รับอยู่แล้ว อายุของเด็ก การกินยาฟลูออไรด์เสริม ควรกินในช่วงท้องว่าง เพราะจะทำให้ฟลูออไรด์ดูดซึมได้มากที่สุด แต่ถ้ากินพร้อมกับนมหรืออาหารที่มีแคลเซียมสูง ร่างกายจะดูดซึมฟลูออไรด์ลดลงร้อยละ 30 – 40 แนะนำให้กินก่อนนอนหลังจากแปรงฟันแล้วและให้เคี้ยวก่อนกลืน เพื่อให้ฟลูออไรด์ได้ผลในระบบทั่วร่างกายและระบบเฉพาะที่ด้วย..