ผลตรวจนกพิราบที่ปทุมธานีพบเชื้อหวัดนก


885 ผู้ชม



ผลตรวจนกพิราบเมืองปทุมติดเชื้อหวัดนก ผวาติดเด็กในศูนย์ ขณะที่เบลเยียมสั่งฆ่าตัดตอนนกแก้ว 200 ตัว สธ.ขอข้อมูลหนุ่มไทยหิ้วนกอินทรี พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ติดตามครอบครัว มากักตัวเพื่อดูอาการ รัฐชดเชยเป็ดไล่ทุ่งตัวละ 120 บ

เบลเยียมฆ่าตัดตอนนกแก้ว 200 ตัว

สำนักข่าวเบลกาของเบลเยียม รายงานเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ว่า กระทรวงสาธารณสุขเบลเยียม ได้สั่งฆ่าตัดตอนนกแก้ว 200 ตัว หลังตรวจพบว่านกแก้วทั้งหมดเคยถูกกักขังอยู่ในสนามบินบรัสเซลส์ในเวลาเดียวกับที่ตรวจพบนกอินทรีติดเชื้อไข้หวัดนก 2 ตัว ที่คนไทยแอบลักลอบนำเข้าประเทศเบลเยียม

รายงานข่าวเผยว่า นกแก้วทั้งหมดเดิมจะต้องนำส่งร้านขายสัตว์แห่งหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศ แต่ได้ถูกทางการสั่งฆ่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกก่อน นอกจากนี้ทางการยังได้เริ่มค้นหานกขนาดเล็กอีกกว่า 400 ตัว ที่เคยถูกกักไว้อยู่ในรัศมีที่สามารถติดเชื้อไข้หวัดนกภายในสนามบินได้

วันเดียวกัน ตำรวจเบลเยียม แถลงว่า สามารถยึดกบพิษ 600 ตัว ที่ซุกซ่อนมาในกระเป๋าเดินทางชาวเบลเยียม 3 คน ที่เดินทางกลับจากประเทศปานามา คนทั้งสามซุกซ่อนกบพิษหลากสีสันขนาดตัวละประมาณครึ่งนิ้วไว้ในกล่องใส่ฟิล์มที่บรรจุผ้าชุบน้ำไว้ข้างใน กบชนิดนี้ชาวอินเดียนแดงในอเมริกาใต้ใช้พิษอาบหัวธนูทำให้ศัตรูหรือเหยื่อเป็นอัมพาต ราคาในท้องตลาดตกตัวละ 130-320 ดอลลาร์สหรัฐ รวมมูลค่ากบพิษทั้งหมด 130,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.2 ล้านบาท

ทั้งนี้มีรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยว่า ขณะนี้ทราบข้อมูลเบื้องต้นของชายไทยคนดังกล่าวว่า เป็นคน กทม. อายุประมาณ 30 ปี อาชีพที่ระบุในหนังสือเดินทางคือ นักธุรกิจ

"หมอจรัล"ไม่เชื่อนกอินทรีมาจากไทย

น.พ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการโรคไข้หวัดนกของรัฐบาล กล่าวว่า ในช่วงค่ำจะทราบข้อมูลโดยละเอียดของชายไทยที่ลักลอบนำเข้านกอินทรีที่ถูกจับได้ที่เบลเยียม รวมทั้งผลการตรวจเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่พบในนกอินทรีว่าเป็นสายพันธุ์ใด เป็นชนิดเอช 5 เอ็น 1 ที่ระบาดในประเทศไทย หรือว่าเป็นเชื้อชนิดอื่น ซึ่งหากได้ข้อมูลจะบอกได้ว่า นกอินทรีมีถิ่นกำเนิดมาจากที่ใด

"ผมเชื่อมั่นว่า นกอินทรีภูเขาไม่น่ามาจากประเทศไทย น่าจะเป็นการนำเข้าจากประเทศอื่นแล้วแวะไทยเพื่อส่งไปยังประเทศอื่นๆ อีก แต่ก็จะเฝ้าระวังชายไทยคนนี้กับครอบครัวว่า จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่" น.พ.จรัลกล่าว

แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญเรื่องนก เปิดเผยว่า หากนกทั้ง 2 ตัวเป็นนกอินทรีที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ก็น่าจะเป็นนกที่นักสะสมสั่งซื้อเข้าไปเลี้ยงในฐานะ "สายพันธุ์แปลก" ไม่ใช่ "นกนักล่า" เช่น นกอินทรีหรือเหยี่ยวที่เลี้ยงเพื่อเป็นเกมกีฬาของชนชั้นสูงระดับ "ชีค" หรือ "สุลต่าน" ในตะวันออกกลาง เนื่องจากนกจากไทยอยู่ในแถบร้อนชื้น จึงมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่หนาวหรือร้อนเกินไป

"นกอินทรีหรือเหยี่ยวของชีคในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในดูไบ ส่วนใหญ่จะนำเข้าสายพันธุ์จากอังกฤษ ซึ่งแต่ละตัวมีมูลค่าสูงถึง 30-50 ล้านบาท แต่ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่ขณะนี้คนที่มีฐานะรองๆ ลงมาในตะวันออกกลาง ก็เริ่มสนใจกีฬาประเภทนี้ ทำให้เริ่มมีการกว้านซื้อนกนักล่าเหล่านี้จากจีน คาซัคสถาน หรือแม้แต่ไทยไป" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกกล่าว

ทั้งนี้ วิธีการลักลอบจะมีการเย็บหนังตาหรือพันผ้าปิดตาไว้ เพื่อให้นกเหล่านี้อยู่นิ่ง จากนั้นจะยัดใส่ในกล่องลักษณะเป็นท่อเพื่อทำให้ดูเหมือน "ตุ๊กตา" หากมองจากเครื่องเอกซ์เรย์ที่สนามบิน

อินโดฯ เจอหวัดนกระบาดรอบ 2 แล้ว

เจ้าหน้าที่อินโดนีเซีย เปิดเผยว่า พบสัตว์ปีกกว่าหมื่นตัวตายเพราะโรคไข้หวัดนก ใน 8 หมู่บ้าน ทางตะวันตกสุดบนเกาะชวา เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ต้องมีการให้วัคซีนเร่งด่วน หลังโรคไข้หวัดนกได้แพร่ระบาดไปในหลายพื้นที่ของประเทศ นับตั้งแต่พบการระบาดเมื่อเกือบ 1 ปีก่อน โดยพื้นที่บนเกาะชวาได้รับผลกระทบหนักที่สุด อย่างไรก็ดีรัฐบาลอินโดนีเซีย ยืนยันมาโดยตลอดว่า สามารถควบคุมการระบาดได้

ผอ.สำนักงานปศุสัตว์ ในเขตปันเดกลัง จ.บันเต็น เปิดเผยว่า ผลการตรวจพบว่า สัตว์ปีก 12,000 ตัว ตายเพราะโรคไข้หวัดนกเมื่อเดือนที่แล้ว ใน 8 หมู่บ้าน ซึ่งมีฟาร์มไก่ขนาดไม่ใหญ่นัก รวมถึงโรคหวัดนิวคาสเซิลด้วย การระบาดครั้งนี้ อาจเกิดจากการที่ชาวบ้านนำซากไก่ตายไปทิ้งลงในแม่น้ำใกล้เคียง

อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนก แต่ได้มีการกำจัดสัตว์ปีกไปแล้ว 16 ล้านตัว นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายให้วัคซีนสัตว์ปีกมากกว่าการกำจัดทิ้ง เพื่อยุติการแพร่ระบาด เนื่องจากไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เลี้ยงสัตว์ปีก

ขีดเส้น ม.ค. 48 เป็ดเนื้อไล่ทุ่งสูญ

นายจีระวัชร์ เข็มสวัสดิ์ รักษาการรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะทำงานควบคุมและตรวจสอบระบบการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งและไก่พื้นเมือง เปิดเผยว่า จากการสำรวจเอกซเรย์สัตว์ปีกทั่วประเทศ ตัวเลขเป็ดและห่านไล่ทุ่งล่าสุดที่รายงานเข้ามา 58 จังหวัด พบว่า มีเป็ดไล่ทุ่งกว่า 10 ล้านตัว ส่วนใหญ่เป็นเป็ดไข่ 10 ล้านตัว เป็ดเนื้อ 8 แสนตัว และห่าน 1,500 ตัว

"น่าสังเกตว่า เกษตรกรที่เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งจริง มีเพียง 3,300 รายเท่านั้น จากเดิมที่ระบุว่ามีถึงกว่า 1 หมื่นราย คาดว่าเมื่อได้ข้อมูลครบทั้ง 76 จังหวัด จะมีเป็ดไล่ทุ่งทั้งหมดไม่เกิน 13 ล้านตัว และเป็ดเนื้อทั้ง 8 แสนตัว ภายในเดือน ม.ค. 2548 จะหมดจากทุ่งเพราะครบกำหนดเชือด ส่วนเป็ดไข่จะทยอยลดจำนวนลงตามอายุ" นายจีระวัชร์ กล่าว

ขณะนี้กรมปศุสัตว์กำลังอยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานแบบแปลนโรงเรือน และแหล่งเงินกู้ ซึ่งจะเสร็จในสัปดาห์นี้ เพื่อให้เกษตรกรขอกู้เงินทำโรงเรือนแบบปิดได้ ตามนโยบายของนายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯ ที่ผ่อนผันให้เลี้ยงเป็ดในทุ่งได้อีก 45 วัน ก่อนจะต้องเข้าฟาร์มปิด

ส่วนเป็ดที่เข้าฟาร์มไม่ได้ คาดว่าจะมี 5 ล้านตัว ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาค่ารับซื้อเป็ด ซึ่งมีกระทรวงพาณิชย์ร่วมเป็นกรรมการ ราคาต้นทุนอยู่ที่ตัวละ 90 บาท คาดว่าจะรับซื้ออยู่ที่ตัวละ 120 บาท โดยจะเสนอคณะกรรมการแก้ปัญหาไข้หวัดนก ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในสัปดาห์หน้า หากอนุมัติก็จะจ่ายเงินชดเชยได้ภายในเดือน พ.ย.นี้

"ส่วนการชดเชยไข่เป็ดที่ถูกทำลาย 3,864,981 ฟอง วงเงิน 25,682,910 บาท โดยไข่เป็ด ลูกเป็ดฟัก ราคา 6 บาท ไข่เป็ดปักกิ่ง-ลูกผสม 10 บาท ไข่เป็ดเทศ-ลูกเป็ด 15 บาท และลูกห่าน-ไข่ห่าน 40 บาท โดยอยู่ระหว่างเสนอให้นายเนวิน พิจารณาอนุมัติ" นายจีระวัชร์กล่าว

รักษาการรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกว่า หากควบคุมผู้เลี้ยงทั้ง 3,300 รายต่อไปการทำงานจะง่ายขึ้น สามารถควบคุมเป็นรายฝูงได้ เพราะส่วนใหญ่มีการเลี้ยงอย่างมากแค่จังหวัดละ 1-2 ฝูงเท่านั้น จังหวัดที่เลี้ยงมากคือ ชัยนาท 1.2 ล้านตัว มี 400 กว่าฝูง กำแพงเพชร 1.2 ล้านตัว 218 ฝูง นครสวรรค์ 1.39 ล้านตัว 453 ฝูง และพิษณุโลก 380 ฝูง ซึ่งต้องควบคุมเป็นรายอำเภอ รายฝูง ส่วนที่อื่นๆ จะเลี้ยงฝูงเล็กๆ จึงจัดการได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการควบคุมไก่พื้นเมือง ไก่ชน ซึ่งจะใช้วิธีขอความร่วมมือเกษตรกรให้ทำเล้า หรือตาข่ายขึงให้อยู่เฉพาะในบริเวณ โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดไข้หวัดนกขึ้น ซึ่งคงจะไม่ใช้วิธีการบังคับ ขณะนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรมการปกครองที่ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้ามาช่วยดูแลการเคลื่อนย้ายไก่ชน ซึ่งจะนำแนวทางแก้ปัญหานี้ให้คณะกรรรมการชุดใหญ่พิจารณาสัปดาห์หน้า

ตรวจเชื้อครอบครัวด.ญ.ไข้หวัดนก

น.พ.สมชาย โรจนรัตนางกูล สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยถึงกรณีเด็กหญิงอายุ 14 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.ป่างิ้ว อ.ศรีสัชนาลัย ซึ่งถูกขึ้นบัญชีเป็นผู้เสียชีวิตด้วยเชื้อไข้หวัดนกเป็นรายที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. ว่า ขณะนี้ได้ส่งทีมแพทย์ไปตรวจคนในครอบครัวของเด็กหญิงรายนี้แล้ว แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีใครติดเชื้อเพิ่มแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อที่อาจจะยังตกค้างและแพร่กระจายในละแวกใกล้เคียงทั่วทั้งหมู่บ้าน ซึ่งมีชาวบ้านอยู่ราว 300 คน ผลการตรวจยังไม่พบใครมีอาการป่วย ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดทุกวันแล้ว

ด้าน ศ.น.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดนกให้คณะรัฐมนตรี ถึงการขึ้นบัญชีผู้ป่วยไข้หวัดนกอีก 1 รายจาก จ.สุโขทัย ซึ่งถือเป็นรายที่ 5 จากการระบาดในรอบ 2 แล้ว แม้ว่าจะมีประวัติยืนยันว่าสัมผัสไก่ แต่ก็เข้าพบแพทย์ล่าช้า จึงทำให้เสียชีวิต ตนจึงได้ปรับนโยบายใหม่ลงไปแล้วว่า หากมีไก่ตายในหมู่บ้านใด อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน จะต้องนำผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ทันที และหากโรงพยาบาลชุมชนพบผู้ป่วยปอดบวม ก็ให้ส่งตัวไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดทันที ส่วนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อไข้หวัดนกนำร่องในโรงพยาบาล 6 แห่งนั้น ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สรุปผลให้เสร็จภายใน 60 วันนี้

ปทุมธานีผวาพบเชื้อในนกพิราบ

นายสำคัญ ธรรมรัตน์ ปศุสัตว์จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อนามัยว่า พบนกพิราบป่วยที่วัดบุญบางสิงห์ หมู่ที่ 8 ต.สวนพริกไทย อ.เมืองปทุมธานี จึงได้ส่งตัวอย่างไปตรวจเชื้อ ล่าสุดได้รับผลยืนยันว่า พบเชื้อไข้หวัดนก คาดว่า นกพิราบทั้งฝูงคงจะติดเชื้อหมดแล้ว

ล่าสุด นายนิวัตน์ สวัสดิ์แก้ว ผู้ว่าฯ ปทุมธานี ได้สั่งการให้สำรวจแหล่งที่อยู่ของนกพิราบนับพันตัว ทั้งในสถานีอนามัยสวนพริกไทย 2 และวัดบุญบางสิงห์ เพื่อหาทางป้องกัน โดยเฉพาะประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนที่อยู่ใกล้กันและกำลังจะเปิดภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้เข้าฉีดยาฆ่าเชื้อรอบๆ บริเวณดังกล่าวแล้ว และในวันที่ 27 ต.ค.นี้ ในเวลา 10.00 น. จะเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหาแนวทางป้องอย่างเร่งด่วนต่อไป

สั่งเฝ้าระวังเสือศรีราชาอีก 3 ตัว

เมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ได้มาตรวจสถานการณ์ไข้หวัดนกที่สวนเสือศรีราชา โดยมีนายพิสิฐ เกตุผาสุข ผู้ว่าฯ ชลบุรี พร้อมคณะทำงานต้อนรับ

นายสุวัฒน์ เผยว่า หลังฟังบรรยายสรุปมาตรการต่างๆ ของจังหวัดแล้ว รู้สึกพอใจ คาดว่าน่าควรคุมไข้หวัดนกได้แล้ว ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจร่างกายเสือทุกๆ 7 วัน พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่อีก 21 วัน หลังจากนั้นจึงจะสรุปได้ว่า จะเปิดดำเนินการได้เมื่อไร ตนจะนำมาตรการทั้งหมดเสนอถึงนายจาตุรนต์ และรัฐสภาต่อไป

นายไมตรี เต็มศิริพงษ์ ประธานกรรมการบริษัท ศรีราชา ไทเกอร์ซู จำกัด เผยว่า ขณะนี้ไม่มีเสือตายเพิ่มจากที่ตายทั้งหมด 83 ตัว แต่ยังมีเสือที่ต้องเฝ้าระวังอีก 3 ตัว ซึ่งไม่น่าวิตกเพราะส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นหลังให้ยา ส่วนเสือตัวอื่นๆ ที่แยกออกไปก็ไม่มีอาการผิดปกติ

"ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยทุกอย่าง ทั้งจัดหาซื้อยาที่ดีมารักษาเสือ และต้องชมเชยคณะทำงานชุดนี้ ที่ทำงานกันอย่างจริงจังและรวดเร็ว" นายไมตรีกล่าว

นายพิสิฐ ผู้ว่าฯ ชลบุรี กล่าวว่า ส่วนการสอบสวนที่มาของโครงไก่ติดเชื้อที่นำมาให้เสือกินนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวน ส่วนการเปิดดำเนินการคาดว่าอีก 20 กว่าวันน่าจะอนุญาตให้เปิดได้

พิจิตรพบนกยูง-เลิฟเบิร์ดติดหวัดนก

ส่วนสถานการณ์ไข้หวัดนกนั้น นายนิชา เบญจรัตน์ ปลัดอำเภอสามง่าม จ.พิจิตร เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากนายบุญรอด เผือกทองใบ อยู่บ้านเลขที่ 23/5 หมู่ 16 ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ว่ามีสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ เข้าตรวจสอบพบว่า ติดไข้หวัดนก จึงได้สั่งทำลายนกเลิฟเบิร์ด 150 ตัว นกหงส์หยก 150 ตัว นกยูง 17 ตัว รวม 317 ตัว และไก่อีก 1 ตัว ทันที

ทั้งนี้ทางอำเภอยังได้รับรายงานเป็นระยะถึงการตายของสัตว์ปีกในหลายหมู่บ้าน เช่นที่หมู่ 2 และ 6 ต.เนินปอ หมู่ 2 และ 5 ต.รังนก ส่วนที่ ต.หนองโสน มีไก่ตายที่หมู่ 9, 10, 11, 12 และ ต.สามง่าม มีการแจ้งไก่ตายเพิ่มอีก 8 หมู่ คือ 2, 3, 4, 5, 6, 9, 13, 15 ซึ่งหลังรับแจ้งได้เข้าตรวจสอบและนำตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกต่อไป หากพบว่ามีเชื้อไข้หวัดนก จะต้องสั่งทำลายไก่ทันที 225,935 ตัว ขณะนี้ได้ประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังแล้วหลายหมู่บ้านแล้ว โดยมีพื้นที่ปลอดเชื้อที่ไม่มีสัตว์ปีกตายเลย คือ ต.กำแพงดิน

ด้านนางพยอม ภู่สอง อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 102/5 หมู่ 9 ต.รังนก อ.สามง่าม กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าทางปศุสัตว์อำเภอทำงานกันอย่างไร เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ตนได้แจ้งให้ปศุสัตว์ทราบว่า หมูของตนตายเพิ่มอีก 1 ตัว แต่ไม่มีใครสนใจ จนล่าสุดได้ตายเพิ่มอีกรวมเป็น 3 ตัว นอกจากนี้ยังเหลือหมูป่วยอีก 1 ตัว ซึ่งสงสัยว่า ทำไมปศุสัตว์จึงไม่นำไปตรวจว่าเป็นโรคอะไรตายกันแน่
ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article547.html

อัพเดทล่าสุด