ตั้งวอร์รูม ไข้หวัดนก-วาระแห่งชาติ-ระวังการเสนอข่าว


784 ผู้ชม


ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมพิจารณาแก้ไขสถานการณ์ไข้หวัดนก โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข นายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
หลังการประชุม นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการ แก้ไขปัญหาไข้หวัดนกขึ้น โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากกรมหลัก ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ มีรองอธิบดีกรมนั้นเป็นกรรมการ คาดว่าภายในวันเสาร์หรืออาทิตย์ คงทราบรายชื่อทั้งหมด โดยใช้กระทรวงสาธารณสุขเป็นสถานที่ทำงานของศูนย์ ปฏิบัติการ ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเสนอแนะต่อคณะกรรมการและตน ส่วนวอร์รูมของกระทรวงสาธารณสุข หรือกรมปศุสัตว์ยังคงดำเนินการต่อไป เพราะไม่ซ้ำซ้อนกับชุดนี้ และอาจจะทำงานร่วมกันได้ด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้การทำงานกระฉับกระเฉงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าในการตรวจสอบหมูที่ตายใน จ.ปราจีนบุรีนั้น ผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการยืนยันว่า ไม่พบเชื้อไข้หวัดนกในหมู แต่เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาต์ และถูกแทรกซ้อนด้วยยาฆ่ายุง ส่วนกรณีของสุนัขที่ยังมีข่าวสับสนว่าตรวจเชื้อผิดหลอดหรือไม่นั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าติดเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่ และกำลังเร่งตรวจสอบ เพื่อให้ได้ผลพิสูจน์ที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน เรื่องของแมวนั้นก็มีการศึกษาจากต่างประเทศมาอยู่ก่อนแล้ว ไม่มีกรณีตัวอย่างในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ก็ได้มอบหมายให้ทางคณะวิชาการ ดำเนินการศึกษาพิสูจน์ต่อไปเกี่ยวกับโอกาสติดเชื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะมีการศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องไข้หวัดนก ทั้งที่อยู่ในสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงสิ่งแวดล้อมและในทุกแง่มุมที่มีความสำคัญ โดยระดมนักวิชาการทั้งสายสัตวแพทย์ แพทย์ และนักวิชาการด้านอื่นมาช่วยกันคิด ส่วนการพัฒนาที่เร่งด่วนคือเรื่องนก ซึ่งได้ให้กรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ของกระทรวงทรัพยากรฯ ไปศึกษาโดยให้ไปทำการบ้านในช่วงวันหยุดนี้ ให้ไปทำแผนเกี่ยวกับการหาความรู้ว่าด้วยนกชนิดต่างๆอย่างเร่งด่วน และนำกลับมาเสนอในวันที่ 11 ต.ค.นี้ พร้อมกันนี้ยังต้องมีการปรับปรุงด้านการประชาสัมพันธ์ โดยจะมีการวิเคราะห์ประเด็นปัญหา และนำเอาข้อสรุปและมติสำคัญของหน่วยงานต่างๆ มารวบรวมและแยกแยะ เพื่อมาปรับวิธีการในการสื่อสารให้สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะมีการเผยแพร่เอกสารมากขึ้น

ด้านนายยุคล กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานมีตัวเลขไก่ตายทั้งหมด 26 จังหวัด 98 จุด อยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุการตาย เช่นเดียวกับตัวเลขการทำลายไก่นั้น ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบเช่นกัน ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะรับซื้อไข่เป็ดคืนจากเกษตรกรนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 8 ต.ค. ว่าจะรับซื้อคืนในราคาใบละกี่บาท ซึ่งเดิมตั้งไว้ว่าจะซื้อคืนในราคาใบละ 5 บาท แต่เนื่องจากไข่เป็ดมีหลายประเภท โดยเฉพาะไข่ห่านที่มีราคาสูงใบละ 50 บาท จึงต้องมีการตกลงกันอีกครั้งว่าจะรับซื้อคืนในราคาใบละเท่าใด

ที่รัฐสภา วันเดียวกัน มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษา และติดตามการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก วุฒิสภา มี พ.ญ.มาลินี สุขเวชวรกิจ ส.ว.นครสวรรค์เป็นประธาน และเชิญ น.พ.สมชาย ธีระประกร ตัวแทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ เข้าชี้แจง ซึ่งกรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นว่ากรมปศุสัตว์ ยังขาดเครื่องมือในการตรวจหาเชื้อไข้หวัดนก โดยเฉพาะห้องแล็บยังไม่มีมาตรฐานและน้อยเกินไป หลายคนแสดงความห่วงว่า เชื้อไข้หวัดนกจะกลายพันธุ์ และระบาดจากคนสู่คนได้

ด้าน น.พ.สมชายแสดงความเป็นห่วงว่า หากเชื้อไข้หวัดนกยังแฝงตัวในสิ่งแวดล้อม ก็ยังมีความเสี่ยงต่อคนอยู่ เพราะอาจมีการถ่ายทอดเชื้อจากสิ่งแวดล้อมสู่คนได้ ซึ่งยังมีเงื่อนไขที่ทำให้เชื้อโรคติดปีกหรือพัฒนาการสูงขึ้นกลายพันธุ์ ติดจากคนสู่คนและต้องใช้เวลานานนับปีจึงจะทำลายเชื้อลงได้ ยืนยันว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องจำกัดการเดินทางของประชากรทั่วโลก แต่แนะนำว่าควรงดเว้นการเข้าไปสัมผัสสัตว์ปีก ทั้งที่ฟาร์ม หรือบ้านที่เลี้ยงขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า พร้อมจะให้ความร่วมมือทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกให้หมดสิ้นโดยเร็ว เพราะถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายจะต้องทุ่มเทให้ความร่วมมือกัน โดยเฉพาะกับองค์กรระหว่างประเทศ เพราะขณะนี้เกิดผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินรวมถึงความเชื่อมั่นของประเทศ แต่เราคงไม่พูดว่าจะหนักใจหรือไม่ แต่จะเร่งแก้ไข เพราะวันนี้ยังไม่สายเกินไปที่จะป้องกันการระบาด

วันเดียวกัน น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการโรคไข้หวัดนก เผยว่า กระทรวงสาธารณสุขจะสั่งซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาฉีดให้แก่บุคลากร ที่ปฏิบัติหน้าที่กวาดล้างโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เป็นการป้องกันในเบื้องต้น และให้มีภูมิคุ้มกันโรคในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส ที่อาจจะกลายพันธุ์ได้ในอนาคต แต่ไม่ใช่เพื่อป้องกันไข้หวัดนก

น.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงการแก้ปัญหาไข้หวัดนกว่า สิ่งสำคัญคือต้องควบคุมโรคให้ได้ ตนมั่นใจว่าสามารถควบคุมได้ และขอติงสื่อมวลชนให้ระมัดระวังการเสนอข่าว เรื่องใดก้ำกึ่งไม่ชัดเจน ไม่ควรเสนอข่าวให้โลดโผน ให้สอบถามกระทรวงก่อน คนไข้ที่สงสัยนับร้อยราย อาจไม่ใช่โรคหวัดนกก็ได้ เพราะมีอาการคล้ายคลึงโรคหวัดธรรมดา โรคไข้หวัดนกติดต่อยากกว่าโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น วัณโรค การเสนอข่าวออกไป อาจทำให้ประเทศคู่แข่งเอาข้อมูลจากสื่อไปใช้เป็นกลยุทธ์แข่งขันด้านการค้า การท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวหน้าไปได้ดี ส่วนการแก้ปัญหาไข้หวัดนกที่เตรียมไว้คือ ต้องค้นหาผู้ป่วยในคนในสัตว์โดยเร็ว ถ้าติดในคนต้องวินิจฉัยโดยเร็ว ไม่คลุมเครือ จำเป็นต้องฆ่าไก่ก็ต้องฆ่า ส่วนที่ประชาชนนำไก่มาเป็นอาหาร ก็ต้องให้สุขศึกษา ประชาชน เพื่อให้มีความรู้ที่ถูกต้อง

ส่วนศพหนูน้อยชาวเพชรบูรณ์ ที่เสียชีวิตจากไข้ หวัดนกเป็นรายที่ 3 ของไทย ในการระบาดรอบ 2 ถูกฌาปนกิจแล้วท่ามกลางผู้ไปร่วมงานจำนวนมาก โดยเมื่อเย็นวันที่ 7 ต.ค. นายดิเรก ถึงฝั่ง ผวจ.เพชรบูรณ์ เป็นประธานพิธีฌาปนกิจศพ ด.ญ.กานดา สีเหลืองอ่อน ที่เสียชีวิตเพราะไข้หวัดนก ที่วัดหนองตาด มีผู้มาร่วมงานกว่า 1 พันคน นายดิเรกได้มอบเงินจำนวน 15,000 บาท ให้นายสุเทพ สีเหลืองอ่อน พ่อ ด.ญ.กานดา เป็นการช่วยเหลือ

ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อหวัดนก เข้ารักษาที่ รพ.เพชรบูรณ์ อีก 2 รายคือ น.ส.ศิราณี ลีละ อายุ 19 ปี อยู่ ต.พุทธบาท อ.ชนแดน ซึ่ง น.พ.วิเชียร ลัทธิวงศกร ผอ.รพ.เพชรบูรณ์ เผยถึงอาการผู้ป่วยว่า มีไข้สูง ไอ มีเสมหะและเหนื่อยหอบ ผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสไก่ โดยที่บ้านเลี้ยงไก่พื้นเมืองไว้ 12 ตัว เมื่อ 3 วันก่อนไก่ตายยกเล้า น.ส.ศิราณีใช้มือเปล่าจับไก่ที่ตายใส่ถุงพลาสติกไปทิ้ง หลังจากนั้นเกิดอาการคล้ายเป็นหวัด จึงไปซื้อยามากินแต่ไม่หาย จึงไปรักษาที่ รพ.ชนแดน และถูกส่งต่อมา รพ.เพชรบูรณ์ แพทย์เอกซเรย์เบื้องต้นพบปอดเป็นปกติ แต่นำตัวไปรักษาในห้องแยกเชื้อ และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ต้องสงสัยพร้อมเฝ้าระวังดูอาการ ส่วนอีกรายชื่อ ด.ช.ชิตณุพงษ์ สิงห์สถิตย์ อายุ 2 ขวบ ไม่มีประวัติสัมผัสไก่ แต่เด็กเคยให้อาหารไก่ ต่อมาเกิดตัวร้อน ไอ มีเสมหะ แพทย์เอกซเรย์ปอดแล้วพบว่าปกติ ขณะนี้ยังเฝ้าระวังอยู่

นายดำริ คำซื่อสัตย์ ปศุสัตว์อำเภอวิเชียรบุรี กล่าวว่า ขณะนี้มีไก่ตายหลายหมู่บ้านในพื้นที่ ส่วนมากเป็นไก่พื้นเมือง จึงได้ตั้งเครือข่ายชมรมคนเกลียดไข้หวัดนกขึ้น คอยแจ้งเบาะแสหมู่บ้านที่มีไก่ตาย เพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำลายไก่และได้ผลดี เพราะชาวบ้านทุกคนให้ความร่วมมือเต็มที่

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนกรอบ 2 ทำให้การขายไก่ย่างของอำเภอวิเชียรบุรี ซึ่งเป็นตลาดไก่ย่างที่ใหญ่ที่สุดในประเทศได้รับผลกระทบรุนแรง ไม่แพ้การระบาดของไข้หวัดนกในรอบแรก โดยนายประเสริฐ มหาไมตรี ประธานชมรมค้าไก่ย่างอำเภอวิเชียรบุรี กล่าวว่า ยอดขายไก่ย่างตกลงไปมากเพราะคนไม่กล้าซื้อกิน กลัวไข้หวัดนก แต่จริงๆแล้วไก่ย่างที่นี่มีความปลอดภัยสูง เพราะไก่ที่นำมาย่างเป็นไก่เนื้อที่เลี้ยงจากระบบฟาร์มปิดและช่วงเกิดไข้หวัดนกระบาด ได้ให้บรรดาร้านค้าหยุดนำไก่พื้นเมืองมาขายอย่างเด็ดขาด จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้

ส่วนความหวาดผวาของประชาชนที่มีต่อไข้หวัดนกและไม่ยอมซื้อไก่มารับประทานนั้น ผู้สื่อข่าวออกสำรวจตลาดพบว่า ที่ตลาดเทศบาล 2 อ.เมืองเพชรบูรณ์ แผงขายไก่และไข่ที่มีอยู่กว่า 10 แผง ต่างเลิกขายชั่วคราวเพราะไม่มีคนซื้อ เช่นเดียวกับร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ก็ไม่มีลูกค้าไปอุดหนุน ทำให้ร้านขายก๋วยเตี๋ยวปลามีลูกค้าหันไปกิน จนมีหลายคนหันไปเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวปลาเพิ่มขึ้น

ที่ จ.กาญจนบุรีมีรายงานการพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกเพิ่มอีก 4 ราย โดยเมื่อเวลา 18.30 น.วันที่ 7 ต.ค. น.พ.ธงชัย พุทธบริวาร ผอ.รพ.พหลพลพยุหเสนา เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือด่วนถึงนายเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผวจ.กาญจนบุรี แจ้งเรื่องที่พบผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกอีก 4 ราย ขณะนี้ รพ.ได้รับตัวไว้รักษาที่ตึกกาญจนราษฎร์บำรุง ประกอบด้วย น.ส.เดือน วงษ์มีอินทร์ อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 103 หมู่ 1 ต.หนองประดู่ อ.เลาขวัญ ด.ญ.กัญญารัตน์ ไทยใหม่ อายุ 3 ขวบ อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ 6 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ ด.ญ.สโรชา โพธิ์ทอง อายุ 1 ขวบ 6 เดือน อยู่บ้านเลขที่ 33 หมู่ 1 ต.ท่าม่วง อ.ท่าม่วง และ ด.ช.ชาคริต โพธิ์ทอง อายุ 3 ขวบ 8 เดือน ลูกพี่ลูกน้องกับ ด.ญ.สโรชา อยู่บ้านเลขที่ 150/135 หมู่ 10 ต.ปากแพรก อ.เมืองกาญจนบุรี ทั้ง 4 คนมีประวัติสัมผัสกับซากไก่ที่ล้มตายในบ้าน โดยส่งตัวอย่างน้ำลาย และเสมหะไปตรวจเชื้อแล้ว ในวันที่ 8 ต.ค. จะส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบตามหมู่บ้านของผู้ป่วยทั้ง 4 รายต่อไป
ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article538.html

อัพเดทล่าสุด