หวัดนกเริ่มลามเข้ามีนบุรี ชาวบ้านขอความชัดเจนเรื่องวัคซีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่จะมีการสรุปเรื่องการนำวัคซีนไข้หวัดนกมาใช้กับไก่ชน และไก่พื้นเมืองได้ภายในสัปดาห์นี้ เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวที่ยังไม่สามารถสรุปได้ลงตัวมาก่อนหน้านี้ ว่า ขณะนี้นักวิชาการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย จึงให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ไปประชุมเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยในส่วนของผู้เลี้ยงไก่ชน อยากได้วัคซีน ส่วนไก่ที่เลี้ยงเพื่อส่งออกแม้จะมีการให้วัคซีน ผู้เลี้ยงก็ไม่ใช้ เพราะกลัวเสียภาพพจน์ว่าไก่ไทยใช้วัคซีน อีกทั้งหากใช้วัคซีนก็ไม่คุ้ม เพราะจะได้กำไรเพียงตัวละ 3-4 บาท สำหรับไก่ไข่นั้น ต้องไปวิเคราะห์ให้ละเอียดอีกครั้ง แต่ยังไม่สั่งให้มีการใช้วัคซีน รวมถึงยังไม่มีการผลิตวัคซีนด้วย เพราะวัคซีนที่จะใช้ป้องกันไข้หวัดนกต้องเป็นเอช 5 เอ็น 1 แต่วัคซีนที่มีการลักลอบใช้เป็น เอช 5 เอ็น 2 ที่ไม่สามารถใช้ฆ่าเชื้อเอช 5 เอ็น 1 ได้
ขณะที่นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าหน่วยงานราชการของไทย มีความหละหลวมเรื่องการจัดการปัญหาไข้หวัดนก จึงควรทำงานเชิงรุกมากขึ้นกว่าเดิม ว่า ขณะนี้ทางกรมปศุสัตว์ใช้อาสาสมัครปศุสัตว์กว่า 30,000 คน เข้าตรวจตราในพื้นที่ เนื่องจากต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มีจำนวนไม่เพียงพอ แต่ในกรณีที่มีเกษตรกรเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดนกที่ จ.ปราจีนบุรี นั้น ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากไม่มีการแจ้งสัตว์ป่วยมาก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับไก่ชนที่เหลืออีก 2 ตัวของผู้ที่เสียชีวิตนั้น หลังจากที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ คาดว่าในวันที่ 13 ก.ย.นี้จะทราบผลว่ามีเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่
"นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไข้หวัดนกแห่งชาติ ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 13 ก.ย.นี้ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เวลา 08.00 น. เพื่อหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งสมาคมไก่เนื้อที่คัดค้านการใช้วัคซีน เพราะหวั่นเกรงว่าจะกระทบกับการส่งออกไก่ต้มสุกไปสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่เป็นตลาดหลัก ส่วนอีกฝ่ายได้แก่ทางพวกกลุ่มสมาคมไก่ชน ที่นำโดยนายยืนยง โอภากุล หรือ "แอ๊ด คาราบาว" ที่กลุ่มนี้เคลื่อนไหวผลักดันให้มีการใช้วัคซีนไข้หวัดนกมาโดยตลอด คงจะให้ทั้งสองกลุ่มมาถกเถียงกันร่วมกับนักวิชาการ เพื่อให้ได้ข้อสรุป และนำไปกำหนดในแผนยุทธศาสตร์การเลี้ยงสัตว์ปีกต่อไป ซึ่งจะสรุปภายในวันที่ 15 ก.ย.นี้." อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
ด้านนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ความคืบหน้าของโรคไข้หวัดนก หลังจากพบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกที่ระบาดในรอบที่ 2 ที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย ว่า ขณะนี้ยังไม่มีคนป่วยที่เข้าข่ายสงสัย หรือน่าจะเป็นโรคไข้หวัดนกแม้แต่รายเดียว สำหรับคนป่วยที่มีอาการป่วยเป็นไข้ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้เสียชีวิตที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และเข้ารับการรักษาตัวใน รพ.ที่ อ.กบินทร์บุรี นั้น ผลการตรวจยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่าไม่ใช่เชื้อไข้หวัดนก เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ จ.ลพบุรีและลำปาง ทุกรายอาการเป็นปกติ แพทย์ได้ให้กลับบ้านแล้ว
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากจะขอเตือนประชาชนมี 2 เรื่อง เรื่องแรก คือวิธีการกำจัดไก่ที่ตายอย่างถูกวิธี เช่น อย่าใช้มือเปล่าจับซากไก่ ให้ใช้ถุงพลาสติกจับซากไก่ไปฝังหรือเผา ถ้าฝังต้องขุดหลุมให้ลึกประมาณ 1 เมตร โรยปูนขาวแล้วค่อยฝัง อย่าฝังใกล้แหล่งน้ำ และอย่านำไก่ป่วยไก่ตายไปทำเป็นอาหาร โดยเฉพาะไก่ชน ถ้าไก่ชนเริ่มซึมๆ หรือป่วยต้องสงสัยไว้ก่อน อย่าดูดเสมหะของไก่อย่างที่ทำกัน ส่วนเรื่องที่ 2 ถ้ามีไก่ ซึ่งอยู่บริเวณบ้านตายแล้ว และมีคนในบ้านหรือใกล้เคียงเกิดเป็นไข้เป็นหวัดเจ็บคอ อย่าประมาท ให้รีบไปพบแพทย์ แล้วแจ้งแพทย์ด้วยว่ามีไก่ที่บ้านตาย เพราะจะต้องขึ้นบัญชีเฝ้าระวังไว้ก่อน เพื่อการดูแลรักษา โดยจะมีชุดตรวจเบื้องต้นและให้ยาต้านไวรัสทามิฟลู ซึ่งได้กระจายไปทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว โดยยานี้สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้
ขณะที่ น.พ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับแจ้งมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง 12 คน จาก จ.ปราจีนบุรี 11 คน ในจำนวนนี้เป็นพยาบาล รพ.กบินทร์บุรี 6 คน ชาวบ้านใน อ.กบินทร์บุรี 5 คน และที่ กทม. 1 คน ปรากฏว่าผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ของพยาบาลทั้ง 6 รายและชาวบ้านใน อ.กบินทร์บุรี 3 คน ไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนก จึงตัดออกจากบัญชีไปรวมทั้งหมด 9 คน
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า สรุปว่าขณะนี้ยังมีคนป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่อยู่ระหว่างสอบสวนโรค และรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการอีก 3 คน คือที่ จ.ปราจีนบุรี 2 คน เป็นเด็กทั้งหมด และที่ กทม. 1 คน เป็นเด็กชาย อายุ 3 ขวบ อยู่ที่เขตมีนบุรี เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 10 ก.ย. มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก แต่ทุกรายมีอาการดี ผลการเอกซเรย์ปอดปกติดี ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. จนถึงวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา มียอดสะสมทั้งหมด 64 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกเพียง 1 ราย ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อจากสาเหตุอื่นๆ 59 ราย และยังเหลือที่รอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเพียง 4 ราย
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในเขตพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย และมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อเพิ่ม 3 รายถูกนำส่ง รพ.กบินทร์บุรีแล้วนั้น ต่อมา น.พ.ธวัช เจียมรัตนจรัส แพทย์อายุกรรม รพ.กบินทร์บุรี กล่าวถึงผลการเอกซเรย์ปอดและผลตรวจเลือดของผู้ป่วยทั้ง 3 คนที่เป็นเด็กทั้งหมด พบว่าติดเชื้อไวรัส 2 คนคือ ด.ญ. ปัทมวรรณ ฉิมพาลี อายุ 8 ขวบ และ ด.ช.ธวัชชัย พุ่มเจาะ อายุ 8 ขวบ ส่วนอีกคนคือ ด.ช.อภิชาติ ฉิมพาลี อายุ 6 ขวบ ไม่พบเชื้อ แต่เนื่องจาก ด.ช.อภิชาติ เป็นน้องชายของ ด.ญ.ปัทมวรรณ และอยู่บ้านเดียวกัน แพทย์จึงให้อยู่ใน รพ.เพื่อดูอาการก่อน
ส่วนเชื้อไวรัสที่พบ น.พ.ธวัชกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าเป็นเชื้อไวรัสชนิดใด ขณะนี้ทาง รพ.ส่งเลือดไปตรวจที่กรุงเทพฯ จะทราบผลในอีก 2 วัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีประชาชนในหมู่บ้านมีความหวาดกลัวไข้หวัดนก ทำให้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ต่างรีบเดินทางมาพบแพทย์ที่ รพ.ทันที ซึ่งทาง รพ.ได้จัดสถานที่คัดแยกผู้ป่วยออกจากผู้ป่วยทั่วไปเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในขณะที่มาเลเซียมีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ทำให้จังหวัดสตูลที่มีพรมแดนติดกับมาเลเซีย มีการเข้มงวดการนำสัตว์ปีกเข้ามา โดย พ.ต.ท.ธวัชชัย ไทรกระจ่าง สว.แผนก 4 กก.5 ตำรวจน้ำ จ.สตูล กล่าวว่า ทางผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้ เข้มงวดกวดขันให้ตำรวจน้ำสกัดกั้นไก่จากมาเลเซีย ที่อาจลักลอบนำเข้ามาฝั่งไทย โดยมีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจตราเรือประมงต่างๆ และตามท่าเรืออย่างเคร่งครัด.