ภัยที่มาจากอาหารทะเล


1,278 ผู้ชม


Vibrio vulnificus เป็นแบคทีเรียแกรมลบทรงแท่งที่อยู่ในตระกูล (family) Vibrionaceae เช่นเดียวกับโรคอหิวาตกโรค         Vibrio vulnificus เป็นแบคทีเรียแกรมลบทรงแท่งที่อยู่ในตระกูล (family) Vibrionaceae เช่นเดียวกับโรคอหิวาตกโรค 
Vibrio cholerae ที่ทำให้เกิดโรคอหิวาตกโรค (cholera) และ Vibrio parahaemolyticus ที่ก่อโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis). โดยปกติ V. vulnificus มักจะอาศัยอยู่ในน้ำทะเลที่อบอุ่น ในประเทศตะวันตกมักจะพบผู้ป่วยติดเชื้อนี้ในหน้าร้อน แต่ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเขตร้อนสามารถพบโรคติดเชื้อ  V. vulnificus ได้ตลอดทั้งปี. เชื้อนี้มักจะก่อโรคในคนที่กินอาหารทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อนี้หรือมีบาดแผลเปิดที่สัมผัสกับเชื้อนี้. ในคนที่แข็งแรงดีเมื่อกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อนี้จะทำให้มีอาการในระบบทางเดินอาหาร. ในคนที่มีภูมิคุ้มกันไม่ปกติโดยเฉพาะถ้ามีโรคตับอยู่มักจะมีการติดเชื้อในกระแสเลือด (bacteremia) ร่วมด้วย ทำให้มีอาการรุนแรงและอาจถึงกับ  เสียชีวิต. มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าคนที่มีโรคตับจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดมากกว่าคนปกติ 80 เท่าเมื่อรับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย. อัตราการตายของ  คนที่มีการติดเชื้อ V. vulnificus ในกระแสเลือดจะสูงถึงประมาณร้อยละ 50. และร้อยละ 95 ของสาเหตุการตายที่เกิดจากการกินอาหารทะเลมาจากการติดเชื้อนี้. ไม่พบว่ามีการติดต่อของโรคนี้จากคนสู่คน.
อาการทางคลินิก
ในคนที่แข็งแรงดี เมื่อกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อนี้จะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว และปวดท้อง. โดยจะเริ่มมีอาการหลังจากกินอาหารทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ไปนานประมาณ 16 ชั่วโมง. ในคนที่มีภูมิคุ้มกันไม่ปกติ โดยเฉพาะถ้ามีโรคตับอยู่มักจะมีการติดเชื้อในกระแสเลือด. ทำให้มีอาการรุนแรงและ อาจถึงกับเสียชีวิต. โดยผู้ป่วยมักจะมาด้วยไข้เฉียบ พลัน หนาวสั่น ความดันเลือดตก (septic shock)และมีรอยโรคที่ผิวหนังเป็นแบบตุ่มน้ำ (bleb, blisters). รายที่มีการติดเชื้อรุนแรงมักจะพบว่ามีตุ่มน้ำที่มีเลือดปน (hemorrhagic bleb).
V. vulnificus ยังก่อโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อใกล้เคียง ถ้ามีบาดแผลเปิดที่สัมผัสกับน้ำทะเลที่มีเชื้อนี้ เช่น มีบาดแผลเปิดอยู่แล้วไปลงเล่นน้ำทะเล หรือเล่นน้ำทะเลหรือดำน้ำแล้วถูกปะการัง หรือเปลือกหอยบาดในน้ำทะเล เป็นต้น. เมื่อมีการติดเชื้อนี้ อาจมีรอยโรคที่เป็นแผลเปิดหรือมีการติดเชื้อในเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง เช่น cellulites, necrotizing fasciitis เป็นต้น. ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการแบบ cellulitis และพบว่ามีรอยโรคแบบตุ่มน้ำจึงต้องสงสัยการติดเชื้อนี้และภาวะ necrotizing fasciitis ทุกครั้ง.ในคนที่มีภูมิคุ้มกันไม่ปกติจะมีการลุกลามของเชื้อนี้จากบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและทำให้มีอาการของโรคที่รุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ. ในเหตุการณ์ Tsunami เมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 ก็พบว่า V. vulnificus เป็นเชื้อก่อโรคที่สำคัญของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง.
โรคติดเชื้อ V. vulnificus พบได้ไม่บ่อย. แต่มักจะได้รับการวินิจฉัยผิดเป็นอย่างอื่นเนื่องจากแพทย์ไม่ได้คิดถึงโรคนี้และไม่ได้ส่งเลือดหรือสิ่งส่งตรวจจากบาดแผลเพาะเชื้อ. 
ในคนที่มีภูมิคุ้มกันไม่ปกติโดยเฉพาะโรคตับจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคติดเชื้อนี้ เมื่อกินอาหารทะเลที่ดิบโดยเฉพาะหอยนางรม. ภาวะภูมิคุ้มกันไม่ปกติอื่นๆ ที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อนี้ได้แก่ 
โรคเบาหวาน, โรคไต, โรคมะเร็ง, โรคติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์, การใช้ยาในกลุ่มสตีรอยด์เป็นเวลานานและ hemochromatosis.
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการเพาะเชื้อจากอุจจาระ บาดแผล ตุ่มน้ำ และเลือด. มักเพาะเชื้อขึ้นจากเลือดในรายที่มีไข้หรือมีตุ่มน้ำ โดยเฉพาะตุ่มน้ำที่มีเลือดปน. ควรแจ้งให้ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาที่ทำการเพาะเชื้อทราบว่าเราสงสัยเชื้อ V. vulnificus เมื่อส่งเพาะเชื้อ. เนื่องจากสามารถใช้สารเพาะเชื้อพิเศษที่เพิ่มโอกาสที่จะเพาะเชื้อนี้ขึ้นได้. แพทย์ควรคิดถึงโรคติดเชื้อนี้เมื่อผู้ป่วยมาด้วยอาการทาง
ระบบทางเดินอาหาร และ/หรือความดันเลือดตก และให้ประวัติกินอาหารทะเลที่ไม่สุก หรือมีบาดแผลที่สัมผัสน้ำทะเลมาก่อน.
การรักษา
เมื่อสงสัยว่ามีการติดเชื้อ V. vulnificus ควรให้การรักษาทันที หลังจากที่เก็บสิ่งส่งตรวจเพาะเชื้อ (ถ้าสามารถทำได้) เพราะการให้ยาต้านจุลชีพที่ครอบคลุมเชื้อนี้จะช่วยลดอัตราตายของผู้ป่วยในรายที่มี แผลที่ติดเชื้อ ควรให้การรักษาทางศัลยกรรมอย่างพอเพียง เช่น การทำแผล การระบายหนอง การตัดเนื้อเยื่อที่ตายออก การทำ fasciotomy ในรายที่มี necrotizing fasciitis.ในบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจต้องถึงกับตัดขา (amputation).
จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกที่เปรียบเทียบการใช้ยาต้านจุลชีพแต่ละขนานในการรักษาโรคติดเชื้อนี้ การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับรักษาโรคติดเชื้อ V. vulnificus ในปัจจุบัน อาศัยข้อมูลจากการศึกษาแบบย้อนหลังและรายงานผู้ป่วยเป็นหลักยาต้านจุลชีพที่แนะนำคือ third-generation cephalosporin เช่น ceftriaxone 2 กรัมฉีดเข้าหลอดเลือดวันละครั้ง หรือ ceftazidime 1-2 กรัมฉีดเข้าหลอดเลือดทุก 8 ชั่วโมง โดยให้ร่วมกับ doxycycline 100 มก.วันละ 2 ครั้ง หรืออาจเลือกใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolone เช่น ciprofloxacin 400 มก.ฉีดเข้าหลอดเลือดทุก 12 ชั่วโมง ส่วนในเด็กที่ไม่สามารถใช้ doxycycline หรือ fluoroquinolones 
อาจเลือกใช้ trimethoprim-sulfamethoxazole ร่วมกับ aminoglycoside.
การป้องกัน
อาหารทะเลปนเปื้อนเชื้อ V. vulnificus ไม่อาจแยกแยะได้จากการดูจากภายนอกเพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง สี กลิ่น หรือรส จึงไม่ควรกินอาหารทะเลดิบโดยเฉพาะหอยนางรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่เป็นโรคตับหรือภูมิคุ้มกันไม่ปกติ ควรทำอาหารทะเลให้สุก อาหารจำพวกหอยจะต้องทำให้  สุกจนฝาหอยเปิดออก และต้มต่ออีก 5 นาทีหรือนึ่งต่ออีก 10 นาทีหลังจากที่ฝาหอยเปิดออก ไม่
กินหอยที่ฝายังปิดอยู่หลังจากที่ทำสุกแล้ว ควรระวังไม่ให้อาหารที่ตั้งใจกินดิบๆ เช่น ผักสด แตงกวา สัมผัสกับอาหารทะเลที่ยังดิบและรอทำให้สุก.
ผู้ที่มีบาดแผลเปิดที่ผิวหนังไม่ควรสัมผัสกับน้ำทะเลโดยเฉพาะน้ำทะเลที่อุ่นหรือถ้าเป็นคนที่เป็นโรคตับหรือภูมิคุ้มกันไม่ปกติถ้ามีบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการเล่นน้ำทะเล ควรรีบทำความสะอาดด้วยสบู่  น้ำและใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผลทันที. 
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1649&sub_id=54&ref_main_id=4

อัพเดทล่าสุด