ภาวะอาหารเป็นพิษ (food poisoning) เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อเช่น
ภาวะอาหารเป็นพิษ (food poisoning)เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อเช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และไข่เป็ด ไข่ไก่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ ถ้าไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอก่อนรับประทาน ก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้
สาเหตุของอาหารเป็นพิษมีมากมาย และอาการของอาหารเป็นพิษก็มีหลากหลายตามไปด้วย อาจแบ่งชนิดของอาหารเป็นพิษได้หลายแบบ แบ่งตามชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษก็ได้ แบ่งตามสารพิษหรือพิษในอาหารก็ได้ หรือแบ่งตามอาการเจ็บป่วยก็ได้
สาเหตุ
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ ซาลโมเนลลา (salmonella) เป็นตระกูลเดียวกับเชื้อที่ทำให้เกิดไข้ไทฟอยด์ พบในผลิตภัณฑ์เนื้อเป็ดเนื้อไก่ รวมทั้งไข่เป็ดไข่ไก่ โดยส่วนใหญ่จะพบในไข่ที่ปรุงไม่สุก หรือเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก หรือน้ำส้มคั้นที่ใส่ขวดเอาไว้ โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ อาการเกิดขึ้นหลังจากกินพิษของเชื้อซึ่งปนอยู่ในอาหารเข้าไป 8-48 ชั่วโมง อาการมักจะรุนแรง อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายมีมูกเลือดปนได้ อาการจะค่อย ๆ หายในภายใน 2-5 วัน บางคนอาจเรื้อรังถึง 10-14 วัน
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มที่เรียกว่า วิบริโอ (vibrio) ซึ่งมีอยู่ 4-5 สายพันธุ์ ที่ทำให้อาหารเป็นพิษระบาดบ่อยที่เรียกว่า อหิวาต์เทียม เชื้อกลุ่มวิบริโอพัฒนาการมาให้อยู่รอดในน้ำทะเลได้ดี การเกิดโรคเกิดจากการกินอาหารทะเลพวกปลา ปู กุ้ง หอย ที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อนเข้าไปโดยจำนวนเชื้อต้องมีปริมาณมากพอ จึงจะสามารถทำให้เกิดโรคภาวะอาหารเป็นพิษได้ อาการเจ็บป่วยอาจเกิดอาการทางระบบทางเดินอาหาร หรือติดเชื้อเข้ากระแสโลหิตได้ อาการปรากฏ หลังจากรับประทานอาหารที่มีเชื้อประมาณ 2 - 48 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อสภาพความเป็นกรดด่างในระบบทางเดินอาหารของแต่ละบุคคล เมื่อเชื้อเข้าไปถึงลำไส้จะทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างสารพิษขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง อาจมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ บางรายมีอาการคล้ายบิด คือถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด อาการมักจะหายไปในเวลา 2 – 5 วัน อัตราการตายต่ำ
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สแตฟฟิลโลคอคคัสออเรียส (Staphylococcus aureus) เป็นเชื้อแบคทีเรียตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดหนองฝีตามผิวหนัง อาจพบปนเปื้อนอยู่กับอาหาร เช่น พวกสลัด ขนมจีน ลาดหน้า น้ำปลาหวาน ซุป อาหารประเภทเนื้อ นอกจากนี้ยังพบมากในเนื้อสัตว์ แฮม มันฝรั่ง สลัดไข่ แซนด์วิช เชื้อชนิดนี้จะปล่อยพิษออกมาซึ่งไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน เมื่อคนเรากินอาหารนี้ 89 ไม่ว่าจะต้มสุกหรือไม่ก็ตาม เข้าไปหลังจากนั้นอีก 2-4 ชั่วโมง ก็เกิดอาการ บางครั้งอาจพบเป็นพร้อม ๆ กันหลายคน เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป อาการที่พบคือท้องเสีย อาเจียน มักเกิดอาการภายใน 1-6 ชั่วโมง หลังกินอาหาร อาการจะค่อย ๆ หายเอง ภายใน 1-2 วัน
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ แคมไพโรแบคเตอร์ (campylobacter) มักพบในเนื้อไก่ที่ใช้บริโภค
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ อีโคไล (E. coli) พบมากในผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาการที่พบคือท้องเสีย อาเจียน มักเกิดอาการภายใน 1-4 วันหลังกินอาหาร
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ ชิเกลลา (shigella) ส่วนใหญ่มักจะมีในผัก ผลไม้ อาการมักจะรุนแรง มีไข้ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายมีมูกเลือด
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ คลอสตริเดียม บอทูลินัม (Clostridium botulinum) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบในอาหารกระป๋องและอาหารหมักดอง ส่วนใหญ่จะพบในอาหารกระป๋องที่หมดอายุ หรือในเนยแข็ง น้ำผึ้ง ผักสด เชื้อจะปล่อยพิษออกมา ทำให้เกิดอากการหลังกินพิษเข้าไป 8-36 ชั่วโมง เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก ในรายที่รุนแรง อาจเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง
อาการ
ส่วนใหญ่แล้วภาวะอาหารเป็นพิษมักจะไม่มีอาการรุนแรง และอาการจะเป็นไม่นาน ผู้ป่วยอาจมีเพียงอาการท้องเสียเพียงแค่สองสามวัน อาจมีไข้ต่ำๆ หรือบางคนไม่มีไข้เลยก็ได้ อาการปวดท้องมักไม่รุนแรง อาจเพียงรู้สึกปวดมวนท้องบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม หากภาวะอาหารเป็นพิษนี้เกิดขึ้นกับกลุ่มที่จัดว่ามีภูมิต้านทานลดน้อยลง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ โรคเบาหวาน หรือโรคเอดส์ การติดเชื้อจะรุนแรงและทำให้ถึงกับเสียชีวิตได้
ปัญหาที่เกิดจากอาการท้องเสียแบบรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กหรือทารกคือ การสูญเสียน้ำมากเกินไป ซึ่งจะสังเกตระดับความรุนแรงของภาวะขาดน้ำได้จากอาการที่ปรากฏ เช่น ถ่ายบ่อยมาก ไม่ยอมหาย ของเหลวที่ออกมาเป็นน้ำเสียส่วนใหญ่ หรือบางทีอาจมีเลือดปนด้วย เป็นต้น
เชื้อโรคบางชนิดทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ซึ่งถ้าถ่ายมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้ และบางรายอาจมีอาการรุนแรง เนื่องจากมีการติดเชื้อและเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ข้อและกระดูก ถุงน้ำดี กล้ามเนื้อหัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตจะทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ โดยเฉพาะเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
การวินิจฉัย
สามารถให้การวินิจฉัยได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมทั้งการตรวจอุจจาระและเพาะเชื้อในอุจจาระ
การรักษา
การดูแลเด็กที่มีอาการของอาหารเป็นพิษควรให้กินยาแก้อาเจียนและดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป ระหว่างนั้นควรสังเกตว่าเด็กมีอาการขาดน้ำหรือไม่ อาการของการขาดน้ำได้แก่ ปากแห้ง กระบอกตาลึก กระหม่อมบุ๋ม ชีพจรเต้นเร็วและปัสสาวะน้อยลง ถ้าเด็กไม่มีการขาดน้ำ อาจดูแลที่บ้านเองได้ แต่ถ้าลูกมีอาการแสดงของการขาดน้ำ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ ถ้าอาการเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ควรให้เด็กดื่มน้ำเกลือแร่ต่อไป และพยายามให้เด็กดื่มนมทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ เพื่อไม่ให้อาเจียน ควรให้กินอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม จะดีกว่าอาหารแข็งๆ ที่ย่อยยาก
การป้องกัน
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร รับประทานอาหาร หรือก่อนเตรียมนมให้เด็ก และภายหลังจากการเข้าห้องน้ำ หรือห้องส้วมทุกครั้ง
- ดื่มน้ำที่สะอาด หรือน้ำต้มสุก และรับประทานอาหารที่สะอาด และสุกใหม่ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด และเก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง
- สำหรับผู้ประกอบอาหาร และพนักงานเสริฟอาหาร ควรหมั่นล้างมือก่อนจับต้องอาหารทุกครั้ง และดูแลรักษาความสะอาดภายในครัว และอุปกรณ์เครื่องใช้ในการประกอบอาหาร ตลอดจนกำจัดขยะมูลฝอย และเศษอาหารทุกวัน และหากมีอาการอุจจาระร่วง ควรหยุดปฏิบัติงานจนกว่าจะหายหรือตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ
- กำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลรอบๆ บริเวณบ้าน และถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธ์แมลงวัน และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
- ผู้ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานฆ่าสัตว์ จำหน่ายเนื้อสัตว์ รวมไปถึงร้าน อาหารทุกประเภท ควรดูแลสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยงไม่ให้เป็นโรคติดต่อ และหมั่นทำความ สะอาด สถานที่ประกอบการ และกำจัดขยะมูลฝอยบริเวณโดยรอบ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
- สำหรับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ควรจัดให้มีน้ำดื่มที่สะอาด มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ มีการกำจัดขยะมูลฝอย และน้ำเสียที่เหมาะสมในบริเวณชุมชนก่อสร้าง ตลอดจนมีการให้สุขศึกษาแก่คนงานในการป้องกันโรค
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=135&sub_id=54&ref_main_id=4