
อาการหน้ามืด (impending faint หรือ presyncope) หมายถึง อาการวิงเวียนหัว ตามัวจนมองอะไรพร่าไปหมด หรือวูบไปคล้ายจะไม่รู้สึกตัว หรือหมดสติ แต่ยังรู้สึกตัวอยู่ ยังไม่หมดสติ อาการเวียนหัวในที่นี้ไม่ใช่อาการวิงเวียน ที่เกิดจากความรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวหมุน เช่น บ้านหมุน หรือความรู้สึกว่าตัวเองหมุน อาการเป็นลม (faint หรือ syncope) หมายถึง อาการหมดสติไปชั่วขณะ จากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงทันที ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายลดลงทันที ทำให้ปริมาณเลือดจากหัวใจลดลง เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด ส่งผลให้สมองโดยทั่วไปขาดเลือดไปเลี้ยงฉับพลัน จึงทำให้หมดสติไปชั่วครู่ ในเวลาพริบตาเดียว ไม่กี่วินาที หรืออาจเป็นเวลาหลายนาที แต่ไม่ถึงชั่วโมง
สาเหตุ
- หน้ามืดเป็นลมที่มีสาเหตุจากโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรง เช่น โรคสมองขาดเลือด หรือโรคหัวใจขาดเลือด อาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย คือมีอาการชาและความรู้สึกผิดปกติตามร่างกาย ตาพล่ามัว พูดลำบาก เคลื่อนไหวแขนขาไม่ได้เหมือนเดิม และอาจมีความสับสนเกิดขึ้น
- อาการเป็นลมที่เกิดขึ้นเพราะหัวใจเต้นผิดปกติ เช่น หัวใจหยุดเต้น (cardiac arrest) คนไข้จะหมดสติทันที และคลำชีพจรที่คอ และขาหนีบไม่ได้ ต้องรีบทำการฟื้นชีวิตทันที อย่าไปรอว่าคนไข้ล้มฟุบ ลงนอนราบแล้ว จะหายจากอาการเป็นลม เพราะการที่คลำชีพจรที่คอ และขาหนีบไม่ได้ ให้ถือว่า หัวใจหยุดเต้นแล้ว ต้องฟื้นชีวิตทันที มิฉะนั้น คนไข้จะเสียชีวิต
- เกิดจากหัวใจเต้นช้ามาก (severe bradycadia) คือ หัวใจเต้นช้ากว่า 30-40 ครั้ง/นาที คนไข้อาจจะหมดสติทันทีได้ ถ้าหัวใจเต้นช้าลงอย่างกะทันหัน แต่ถ้าหัวใจค่อยๆ เต้นช้าลง หรือเต้นช้าเป็นประจำอยู่แล้ว คนไข้อาจจะไม่มีอาการอะไร แม้หัวใจจะเต้นเพียง 30-40 ครั้ง/นาที ถ้าคนไข้เป็นลมหมดสติ เพราะหัวใจเต้นช้ามาก ให้กระตุ้น โดยการทุบหน้าอก การเขย่าตัว หรืออื่นๆ เพื่อทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้ฉีดยาอะโทรพีน หรืออะครีนาลีน เข้าเส้นครั้งละ 0.1-0.2 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ทุก 1-2 นาที จนหัวใจเต้น 50-60 ครั้ง/นาที ให้หยุดฉีดทันที
- หัวใจเต้นเร็วมาก (severe tachycadia) คือ หัวใจเต้นเร็วกว่า 160-180 ครั้ง/นาทีในผู้ใหญ่ คนไข้อาจจะหน้ามือเป็นลมได้ ถ้าหัวใจ (ชีพจร) เต้นสม่ำเสมอ อาจลองล้วงคอให้คนไข้อาเจียน และถ้าคนไข้เพียงแต่หน้ามืด แต่ยังไม่หมดสติ ให้คนไข้หายใจเข้าเต็มที่ กลั้นหายใจแล้วเบ่งอย่างรุนแรง จนกระทั่งกลั้นหายใจต่อไปไม่ได้ อาจทำให้หัวใจเต้นช้าลงได้ ถ้าไม่สำเร็จหรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ ให้ส่งโรงพยาบาล
- เป็นลมเพราะหัวใจผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจถูกบีบอัด หลอดเลือดปอดถูกอุด หลอดเลือดเอออร์ตาแยกเป็นต้น
- เป็นลมจากภาวะเครียด หงุดหงิด กังวล โกรธ ตื่นเต้น กลัว จนทำให้เกิดอาการหน้ามือเป็นลมขึ้น ป้องกันโดยพยายามหันเหความสนใจไปสู่สิ่งอื่น หรือนับ 1 ถึง 100 เพื่อให้จิตใจสงบลง นั่งพัก นอนพัก เพื่อป้องกันอาการหน้ามืดเป็นลม เป็นต้น
- เป็นลมเพราะอุปาทาน เกิดจากการที่คนไข้ผิดหวังในบางสิ่งบางอย่าง แล้วความผิดหวังนั้นแสดงออกมาเป็นอาการทางกาย เช่น เป็นลม ชัก ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้องรุนแรง หรืออื่นๆ คนไข้ที่เป็นลมเพราะอุปาทานจะยังรู้สึกตัวเป็นปกติ ไม่หมดสติ ไม่มีอาการหน้าซีด มือเท้าซีด ตัวเย็น หรือเหงื่อแตก ไม่ดีขึ้นแม้จะนอนราบลงแล้ว แต่อาการจะดีขึ้นหรือหายไปถ้าอยู่คนเดียว หรือเกิดความรู้สึกว่าจะถูกทอดทิ้ง หรือจะเป็นอันตราย ถ้ายังเป็นลมอยู่ต่อไปอีก หรือถ้าได้รับคำแนะนำที่แข็งขันว่า อาการเป็นลมที่เกิดขึ้นจะรักษาได้ ข้อควรปฏิบัติอย่างอื่นคือ ให้ดมยาดม และหายใจเข้าออกช้าๆ แล้วสักครู่จะดีขึ้น
- แกล้งเป็นลม อาศัยประวัติที่เป็นคนชอบแกล้งป่วย แกล้งเจ็บ และประวัติการทะเลาะเบาะแว้ง หรือความต้องการแกล้งใครสักคน ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด
- เป็นลมเพราะหายใจเกิน คืออาการหน้ามืดเป็นลมหลังหายใจเร็ว และลึกเป็นเวลานาน คนไข้มักมีอาการแน่นอึดอัด รู้สึกหายใจไม่สะดวก จึงหายใจเร็ว และแรง ต่อมาจะมีอาการมึนงง ตัวเบา หัวเบา รู้สึกริมฝีปาก และมือเท้าคล้ายเป็นเหน็บชา และแข็งเกร็ง ต่อมาจะหน้ามืดเป็นลม และชักได้ ให้ใช้ถุงใหญ่ๆ ครอบปากและจมูก ให้คนไข้หายใจในถุงสักพัก (5-10 นาที) แล้วจะดีขึ้น
คำแนะนำบางประการ
- หากท่านมีอาการหน้ามืดเป็นลม พร้อมกับรู้สึกว่าหัวใจท่านเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ ท่านควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาจากแพทย์ให้ทันท่วงที
- ในผู้ที่ต้องรับประทานยาเพื่อรักษาโรคประจำตัวบางอย่าง ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น ความดันโลหิตสูง ถ้ารับประทานยาขนาดมากไป อาจทำให้ความดันโลหิตลดลงมากจนมีอาการเป็นลมหน้ามืดได้หรืออย่างกรณีคนไข้เบาหวานรับประทานยาตามปกติ แต่คนไข้ไม่ได้รับประทานอาหารตามปกติ น้ำตาลในเลือดอาจจะต่ำเกินไปก็ทำให้เกิดหน้ามืดเป็นลมได้
- การที่คนไข้มีอาการหมดสติไปชั่วขณะประมาณ 1-2 นาที ภายหลังหน้ามืดเป็นลม แล้วรู้สึกตัวดีขึ้นในเวลาต่อมา ส่วนใหญ่แสดงว่าไม่น่าจะมีอะไรร้ายแรง เช่นพวกที่ยืนกลางแดดเป็นเวลานาน อาจเสียเหงื่อมากทำให้มีอาการ เป็นลมแดดได้ แต่หากว่าหมดสติไปนานกว่านี้หรือพอรู้ตัวแต่รู้สึกว่ายังผิดปกติ ควรที่จะพาคนไข้ไปพบแพทย์จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
การรักษา
- เบื้องต้นควรให้คนไข้นอนราบลง ยาขาสูง และคลายเสื้อผ้าให้หลวม ให้การไหลเวียนของอากาศรอบๆ คนไข้ดีเพียงพอ ถ้าหากกำลังนั่งอยู่ และนอนราบไม่ได้ อาจให้คนไข้ก้ม ศรีษะลงให้อยู่ระหว่างขา 2 ข้างสักพักหนึ่งจนอาการดีขึ้น
- การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการวูบขึ้นกับการวินิจฉัย และความเสี่ยงของผู้ป่วยที่จะได้รับอันตรายจากอาการวูบ หรือโรคที่เป็นอยู่ ่ในรายที่มีสาเหตุจากโรคหัวใจ หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายถึงชีวิต จำเป็นต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุ ที่แน่ชัดและรักษาอย่างเต็มที่ เช่น การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจในกรณีที่อาการวูบเกิดจากหัวใจเต้นช้ามากหรือหยุดเต้นชั่วขณะ การจี้ประสาทหัวใจลัดวงจรในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ การขยายหรือการผ่าตัดแก้ไขหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือลิ้นหัวใจตีบตัน เป็นต้น
- ในทางตรงกันข้าม รายที่ไม่มีสาเหตุร้ายแรง อาการไม่รุนแรง และเป็นไม่บ่อยอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา หรือเครื่องมือพิเศษใดๆ แพทย์อาจแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดอาการซ้ำ โดยทั่วไปควรหลีกเลี่ยงปัจจัย ที่อาจทำให้เกิดอาการวูบหรือหน้ามืดเป็นลม เช่น
- การอยู่ในที่อากาศร้อนหรือแออัด
- การสูญเสียน้ำและเกลือแร่
- การรับประทานอาหารปริมาณมากในมื้อเดียว หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การออกกำลังกายหักโหมกว่าปกติ
- ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดัน ยาขับปัสสาวะ ถ้ามีอาการดังกล่าวจากการใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- อาการวูบ หรือหน้ามืดเป็นภาวะที่พบได้บ่อย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากโรคหัวใจ และโรคอื่นๆ แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีสาเหตุและอาการไม่รุนแรง แต่บางครั้งอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะสาเหตุมาจากความผิดปกติของหัวใจ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เพราะไม่กล้าปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน หรือกิจกรรมบางอย่างเนื่องจากกลัวอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากอาการวูบ การค้นหาสาเหตุและการประเมินความเสี่ยง และหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำให้อาการต่างๆ และคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิต ทั้งจากสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการวูบและผลกระทบที่เกิดจากอาการดังกล่าว