ประจำเดือนปกติมีลักษณะอย่างไร?
ประจำเดือนปกติมีลักษณะดังนี้ คือ ปริมาณและระยะห่างของรอบประจำเดือนมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล หนึ่งรอบของประจำเดือนปกติมีระยะเวลา 21-35 วัน การนับระยะห่างของรอบเดือน โดยนับวันแรกของการมีประจำเดือนเป็นวันที่หนึ่งของรอบเดือนจนถึงวันสุดท้ายก่อนมีประจำเดือนรอบใหม่ ระยะเวลาของการมีประจำเดือน (มีเลือดออก) ปกติ คือ 3-7 วัน เลือดประจำเดือนที่ออกในแต่ละรอบมีปริมาณ 20-80 มิลลิลิตร เฉลี่ยประมาณ 35 มิลลิลิตร โดยระหว่างรอบเดือนไม่ควรมีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด
อนึ่ง การจดบันทึกประจำเดือนทุกๆครั้ง ทำให้สามารถทราบค่าเฉลี่ยของระยะห่างของรอบเดือน จำนวนวันที่มีประจำเดือน ทำให้เราสามารถค้น พบความผิดปกติของรอบเดือนได้ง่ายและเร็วขึ้น ทั้งยังสามารถคาดคะเนวันที่จะเริ่มมีประจำเดือนรอบต่อไป และการคาดคะเนวันที่ไข่ตกได้
ควรดูแลตนเองระหว่างมีประจำเดือนอย่างไร?
การดูแลตนเองระหว่างมีประจำเดือน ได้แก่
- ระหว่างมีประจำเดือน สามารถใช้ผ้าอนามัยในการรองรับเลือดประจำเดือน ในปัจจุบันมีทั้งชนิดแผ่น และชนิดสอด มีทั้งแบบแผ่นบาง แผ่นหนา มีขนาดมาตรฐานและยาวพิเศษ โดยสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการ ขนาดรูปร่าง ปริมาณประจำเดือน ความสบาย ไม่ระคายเคือง ควรพยายามหลีกเลี่ยงผ้าอนามัยชนิดมีน้ำหอม เพือลดอาการระคายเคืองต่ออวัยวะเพศ
- ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างน้อยทุก 4-6 ชั่วโมง หรือเมื่อผ้าอนามัยชุ่มแผ่น เพื่อลดการระคายเคือง และกลิ่นอันไม่พึงประสงค์
- ช่วงที่มีประจำเดือนควรรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง หลีกเลี่ยง กาแฟ บุหรี่ สุรา เพื่อลดอาการก่อนมีประจำเดือน
- ควรออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่หักโหม เนื่องจากช่วงมีประจำเดือนมีการเสียเลือดและเกลือแร่บางชนิดออกจากร่างกาย อาจทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย และรู้สึกล้ามากกว่าปกติ
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ช่วงมีประจำเดือนไม่เป็นข้อห้ามของการออกกำลังกาย เนื่องจากระหว่างออกกำลังกาย ร่างกายจะมีการหลั่งสารแห่งความสุข (เอนดอร์ฟิน/ Endorphin) ช่วยผ่อนคลายความเครียด และบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้
- การว่ายน้ำในช่วงมีประจำเดือนสามารถทำได้ โดยอาจเลือกใช้ผ้า อนามัยแบบสอด เพื่อลดการเปรอะเปื้อน โดยต้องเลือกสระว่ายน้ำที่สะอาด มีมาตรฐาน เพื่อลดการติดเชื้อ
- ช่วงมีประจำเดือนสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ไม่เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด แต่ควรระมัดระวังเรื่องของความสะอาด เนื่องจากเป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิด และเลือดประจำเดือนเป็นอาหารที่ดีของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
อะไรคือสาเหตุของประจำเดือนผิดปกติ?
สาเหตุของประจำเดือนผิดปกติมีมากมาย ตั้งแต่ภาวะระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายผิดปกติจนถึงมีพยาธิสภาพที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของประจำ เดือน เช่น
- ความเครียด ความวิตกกังวล เช่น ในช่วงใกล้สอบ ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายผิดปกติ มักพบในหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุน้อยกว่า 35 ปี
- อาหาร การอดอาหาร น้ำหนักที่เพิ่ม หรือลดเร็วผิดปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ
- การคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด มีผลเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย กดการทำงานของรังไข่
- เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก หรือ ไมโอมา (Myoma uteri) ซึ่งเป็นพยาธิสภาพ/ความผิดปกติที่กล้ามเนื้อมดลูก มีผลต่อการบีบตัวของมดลูก ทำให้ประจำเดือนมามาก มานานมีเลือดออกกะปริดกะปรอย ปวดหน่วงท้องได้
- ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก มักทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ รบกวนระดับของฮอร์โมนเพศในร่างกาย
- กลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในรังไข่ พบได้ประมาณ 5-10% ของหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเป็นภาวะที่เกิดจากมีฮอร์โมนเพศชายสูงเกินปกติ (แอนโดรเจน/Androgen ผู้หญิงปกติทุกคน ในร่างกายมีทั้งฮอร์โมนเพศชาย และเพศหญิง แต่มีปริมาณฮอร์โมนเพศชายน้อยมาก) ผู้ป่วยมักมีอาการขนดก ผิวมัน มีสิวมาก มีระดับฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุล เกิดภาวะไม่ตกไข่ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ระยะห่างระหว่างรอบเดือนมากขึ้น
- การตั้งครรภ์ ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง จึงเกิดภาวะขาดประจำเดือน
- ภาวะรังไข่ล้มเหลวก่อนวัยอันควร เป็นความผิดปกติของการทำงานของรังไข่ ทำให้ไม่มีการตกไข่ จึงไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศได้ ทำให้ไม่มีประจำเดือน
สาเหตุอื่นๆ เช่น
- โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (มะเร็งเยื่อบุมดลูก) ส่วนใหญ่พบในสตรีอายุ 60 ปี โดยมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด โดย เฉพาะในวัยหลังหมดประจำเดือน
- โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในหญิงไทย พบมากในช่วงอายุ 40-50 ปี อาการที่พบมาก คือ เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด พบได้ทั้งมี เลือดออกกะปริดกะปรอยเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือ เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน
- ยาต่างๆ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด หรือสมุนไพรบางชนิด
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น ต่อมใต้สมองผิดปกติ เนื้องอกต่อมใต้สมอง หรือความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
รักษาประจำเดือนผิดปกติอย่างไร?
การรักษาภาวะประจำเดือนผิดปกติ ขึ้นกับสาเหตุของประจำเดือนผิด ปกติ อายุ ความต้องการมีบุตร และโรคประจำตัวของผู้ป่วย โดยมีวิธีต่างๆ ดังนี้
- การสังเกตอาการโดยไม่มีการรักษาใดๆ เพียงการอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ เช่น ในผู้หญิงอายุน้อย โดยเฉพาะ 1-2 ปีแรกของการมีประจำเดือน ซึ่งมักเป็นไปตามธรรมชาติที่ประจำเดือนจะมาไม่สม่ำเสมอ จากรังไข่ยังทำ งานไม่เต็มที่
- การใช้ยา เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มไม่ใช่สเตรียรอยด์ หรือ เอนเสดส์ (NSAIDs) มีฤทธิ์ลดอาการปวดประจำเดือนและลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออก ยาฮอร์โมน เช่นในผู้หญิงอายุน้อย ที่มีปัญหาการไม่ตกไข่
- การผ่าตัด ในผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีประจำเดือนผิดปกติ ควรพบแพทย์เมื่อ
- มีประจำเดือนก่อนอายุ 7 ปี
- อายุ 16 ปีแล้วยังไม่มีประจำเดือน
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ เช่น ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2-3 ชม. หรือ มีลิ่มเลือดปนต่อเนื่อง
- ระยะเวลาของประจำเดือนมานานผิดปกติ
- ประจำเดือนมาน้อยผิดปกติ ระยะห่างระหว่างรอบเดือนมากกว่า 35 วัน
- มีเลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน
- มีอาการในกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนอย่างรุนแรง
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน
- เมื่อกังวลในอาการ หรือ ในเรื่องเกี่ยวกับประจำเดือน
ที่มา
https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=2833&sub_id=103&ref_main_id=2