สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยเผยโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่พบบ่อย แต่ผู้ป่วยยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอยู่มาก สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผยสถานการณ์โรคสะเก็ดเงินในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วงทั้งที่ไม่ใช่โรค ติดต่อ แต่ประชาชนยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน เผยโรคนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนกับข้อหรือมีอาการรุนแรงขึ้นหากผู้ป่วยเป็นโรค เบาหวานหรืออ้วน...
"สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยเผยโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่พบบ่อย" |
พล.ต.นพ.กฤษฎา ดวงอุไร นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโรคสะเก็ดเงินว่า ในปัจจุบันคาดว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินประมาณ0.5-1%ของประชากร หรือ 3-5แสนคน ทั่วประเทศแบ่งเป็นอาการรุนแรงประมาณ 20 %และไม่รุนแรง 80% ปัจจุบันมีความรู้และความเข้าใจในสาเหตุและการรักษาโรคนี้มากขึ้น โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุ์กรรม ถ้าหากพ่อหรือแม่เป็นลูกจะมีโอกาสเป็นมากขึ้น ความผิดปกติเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไปกระตุ้นผิวหนังให้ผลัดเซลล์เร็ว ขึ้นและที่เรียกว่า “สะเก็ดเงิน”เป็นเพราะผื่นมีสะเก็ดลอกจำนวนมากสีขาว เดิมเรียกว่า เรื้อนกวาง แต่เนื่องจากไม่ใช่โรคติดต่อเหมือนโรคเรื้อน (สำหรับโรคเรื้อนในประเทศไทยนั้น กองควบคุมโรคติดต่อสามารถควบคุมได้แล้ว) จึงเปลี่ยนชื่อจากเรื้อนกวางมาเป็นสะเก็ดเงิน โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ แต่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งสังคมยังไม่เข้าใจ บางครั้งตั้งข้อรังเกียจ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความไม่มั่นใจ ไม่กล้าสู้หน้าผู้คนในสังคม จึงขอฝากให้สังคมได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินให้ดีขึ้น พล.ต.นพ.กฤษฎา ดวงอุไร กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินนั้นคุณภาพชีวิตไม่ดีหากมีอาการมาก บางคนหางานทำยาก ตกงาน ไม่มีงานทำ เครียดและไม่กล้าออกจากบ้าน หากอยู่ในวัยเรียน เพื่อนนักเรียน คุณครูที่ไม่เข้าใจอาจตั้งข้อรังเกียจและบางครั้งส่งผลทำให้เป็นโรคซึม เศร้า ลักษณะของโรคสะเก็ดเงินจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงนูนหนามี ขุยสะเก็ด เป็นแผ่นๆ บนผื่นและมักเกิดบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น ศอก เข่า หลัง หรือ บนหนังศีรษะ แนวไรผม ถ้ามีผื่นบริเวณนี้ก็สันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคนี้ แต่ไม่ค่อยพบผื่นบริเวณใบหน้าหากผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ดูแลไม่ถูกต้องผื่นอาจลามไปทั้งตัว ซึ่งจะต้องใช้การรักษา หลายอย่าง โรคสะเก็ดเงินเป็นได้ทุกเชื้อชาติ ไม่เลือกเพศเลือกอายุ แม้เป็นกรรมพันธุ์ ก็จะมีอาการเมื่อมีสิ่งแวดล้อมมากระตุ้น ถ้าอายุมากขึ้น มักจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น
ด้านรศ.พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน กรรมการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยกล่าวว่า โรค สะเก็ดเงินเป็นโรคที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ผื่นที่รักษาหายแล้วจะไม่เกิดแผลเป็น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ อาการทางข้อ ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญ อาจทำให้ ข้อเสียรูป บิดเบี้ยว หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องทำการรักษาควบคู่ไปกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ อาการอักเสบที่ข้อ อาจคล้ายๆ รูมาตอยด์ แต่เมื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบค่าทางแลปที่บ่งชี้ภาวะรูมาตอยด์ ข้อที่ไม่ได้รับการรักษาอาจจะถูกทำลาย ผิดรูป และมีอาการปวด จากข้อมูลในปัจจุบันบ่งชี้ว่า คนที่อ้วนมีพุง เป็นโรคเบาหวานน้ำหนักตัวมาก จะทำให้โรคสะเก็ดเงินเป็นมากขึ้น สำหรับการรักษาของโรคสะเก็ดเงินในปัจจุบันจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยรูปแบบการรักษาจะรักษาตามความรุนแรงของโรคทั้งที่ผิวหนังและข้อ และขณะนี้มียาที่มีประสิทธิภาพดีได้มาตรฐานมาใช้กันมากขึ้น เชื่อว่าในอนาคต จะมีการพัฒนาแนวทางการรักษาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ขั้นตอนในการรักษาควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นโรค เช่น การเกา การดื่มแอลกอฮอลล์ การสูบบุหรี่ รักษาสุขภาพกายและใจให้สมดุล ระวังน้ำหนักไม่ให้อ้วน
แนวทางการรักษาจะแบ่งเป็น ยาทาภายนอก การฉายรังสี UVA และ UVB ยาชนิดรับประทาน และยาฉีดชีวภาพ โดยการรักษาด้วยยาทาประเภทยาสเตียรอยด์เป็นที่นิยมใช้มากที่สุด ยาสเตียรอยด์มีทั้งประโยชน์และโทษ จึงควรใช้อย่างถูกต้อง ถ้าเป็นผื่นที่ใบหน้าไม่ควรใช้ยาสเตียรอยด์ที่มีความแรงมากและไม่ควรใช้ ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ สำหรับก่อนการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน นอกจากยาทาสเตียรอยด์ผู้ป่วยอาจใช้ยาทาอื่นได้แก่ น้ำมันดิน วิตามินดี หรือยาตำรับผสมระหว่างยาดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยแสงแดดเทียมที่ช่วงคลื่นแสงยูวีบี และยูวีเอ โดยตู้ฉายแสงแดดเทียมมีบริการตามโรงพยาบาลรัฐบาล เช่น รามาฯ ศิริราช จุฬาฯ พระมงกุฎฯ เป็นต้น และถ้าการฉายแสงไม่ได้ผล ก็จะได้รับยากินหรือฉีดยาชีวภาพ โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ในการพิจารณา สะเก็ดเงินที่บริเวณหนังศีรษะ บางครั้งไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจากคิดว่าเป็นเพียงแค่รังแค ที่หลุดร่วงจากหนังศีรษะ จนทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะมักเห็นได้ ตามไรผม บริเวณหน้าผาก หลังหู อาจมีอาการคัน อาการแดงมาก ภาวะสะเก็ดเงินอาจไม่ได้เป็นตลอดเวลา อาจเกิดขึ้นและคงอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วอาจหายไปและสามารถ กลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้นควรใช้ยาให้ถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา ในอนาคตยาที่ใช้ในการรักษาสะเก็ดเงินจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากผู้ป่วยรายใด ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ทางเว็บไซต์ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่ง ประเทศไทยwww.dst.or.th