การประชุมเอดส์นานาชาติครั้งที่15


1,796 ผู้ชม


ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพ จัดประชุมครั้งสำคัญที่สุดเกี่ยวกับโรคเอดส์

การประชุมโรคเอดส์นานาชาติครั้งที่ 15 (XV International AIDS Conference) หรือเอดส์โลกในปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 11-16 กรกฎาคม 2547 คาดว่าจะเป็นการประชุมด้านเอดส์ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในปีนี้จะเน้นหลักการสำคัญคือ "ความทั่วถึงและเท่าเทียม"

วิสัยทัศน์ (Vision) ของการประชุมในปีนี้คือ ความสำคัญของความทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งนั่นหมายถึงความทั่วถึงและเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การป้องกัน งานวิจัย และการรักษา แม้ว่าโปรแกรมด้านวิทยาศาสตร์และชุมชนของการประชุมจะช่วยส่งเสริมโอกาสเหล่านี้ แต่การต่อสู้กับโรคเอดส์ต้องการกำลังสนับสนุนจากทุกฝ่ายทั่วโลก

การประชุมเอดส์นานาชาติแต่ละครั้ง จัดโดยความร่วมมือระหว่างสมาคมเอดส์นานาชาติ (International AIDS Society หรือ IAS) ประเทศเจ้าภาพที่ร่วมจัด และแกนนำต่างๆ ซึ่งรวมถึงโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) สภาองค์กรที่ปฏิบัติงานด้านเอดส์นานาชาติ (International Council of AIDS Service Organizations หรือ ICASO) กลุ่มสตรีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์นานาชาติ (International Community of Women Living with HIV/AIDS หรือ ICW) และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์นานาชาติ (Global Network of People Living with HIV/AIDS หรือ GNP+) การประชุมทุกครั้งที่ผ่านมาเป็นการรวมตัวของทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเอดส์จากทั่วโลกในทุกแขนง

"การประชุมครั้งนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตนเชื่อมั่นว่ากรณีศึกษาและประสบการณ์ในการต่อสู้กับเอชไอวีและโรคเอดส์ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยจะได้รับความสนใจในวงกว้าง" นายกสมาคมเอดส์นานาชาติกล่าว

สำหรับประเทศไทยนั้นสิ่งที่ได้จากการประชุมครั้งนี้คือ "การร่วมจัดการประชุมครั้งนี้เปิดโอกาสให้สังคมไทยได้ย้ำถึงคำสัญญาของเราทุกคนในประเทศไทยที่จะดำเนินงานด้านเอดส์ต่อไป เป็นโอกาสอันดีสำหรับคนทำงานด้านเอชไอวีและเอดส์ หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่จะมาร่วมประชุมและแลกเปลี่ยน ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์กับคนจากส่วนต่างๆ ทั่วโลกที่เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน"

คาดการณ์ว่าในการประชุมครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 15,000 คน จาก 160 ประเทศทั่วโลก ทำให้การประชุมนี้เป็นการประชุมด้านเอดส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีการถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ซึ่งจะช่วยขยายการเข้าถึงและรับรู้เนื้อหาการประชุมในวงกว้าง และทำให้จำนวนคนที่ได้รับประโยชน์จากการรับรู้ข้อมูลและรับฟังประสบการณ์ร่วมกันมีมากขึ้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

การประชุมเอดส์โลกครั้งนี้มีสัญลักษณ์เป็นช้าง 3 เชือก สื่อถึงการทำงานร่วมกันในการต่อสู้กับเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ของชุมชน ครอบครัว และผู้ปฏิบัติงานด้านเอชไอวีและเอดส์

ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article489.html

อัพเดทล่าสุด