วันเอดส์โลก ตะลึงเด็กไทยละถุง เซ็กซ์แรกแค่15


951 ผู้ชม


วันนี้ (29 พ.ย.) ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) กรุงเทพฯนายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดงานรณรงค์วันรวมใจต้านภัยเอดส์ เนื่องในวันเอดส์โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี ในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดคำขวัญว่า “เอดส์หยุดได้ ร่วมใจรักษาสัญญา” (Stop AIDS. Keep the Promise) 
 เพื่อให้เยาวชนและประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ตลอดจนตระหนักถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และนำพาตนเองและบุคคลใกล้ชิด พร้อมใจกันสร้างเสริมสุขภาพ และรู้จักป้องกันให้ปลอดภัยจากโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
       
       กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การเสวนาเรื่อง “เอดส์ดูเหมือนไกล แต่ใกล้แค่เอื้อม” โดยนายแพทย์สุกมล วิภาวีพลกุล จิตแพทย์และวิทยากรชื่อดัง และกิจกรรมแรลลี่ 5 ฐาน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนจากสถาบันการศึกษาในเขต กทม. และปริมณฑล 200 คน ได้ร่วมแสดงพลังความคิดสร้างสรรค์ผ่านการเรียนรู้ทักษะและกระบวนการถ่ายทอดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเอดส์ นอกจากนี้มีการประกวดตัวแทนเยาวชน “หนึ่งเสียงล้านพลังยับยั้งเอดส์” เพื่อเป็นพรีเซ็นเตอร์ประชาสัมพันธ์เรื่องเอดส์ โดยทำการคัดเลือกเยาวชนจากสถาบันการศึกษาที่ส่งเข้าประกวด ที่มีลักษณะความเป็นผู้นำ เป็นผู้มีน้ำใจ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์อย่างถูกต้อง เพื่อร่วมกิจกรรมสัญจรพบสื่อมวลชน และเผยแพร่สื่อความรู้โรคเอดส์ในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม 2550
       
       นายแพทย์สมชัยกล่าวว่า สถานการณ์โรคเอดส์ทั่วโลกปี 2549 พบผู้ติดเชื้อประมาณ 39.5 ล้านคน เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ประมาณ 2.3 ล้านคน ผู้ใหญ่ 37.2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 2.9 ล้านคน คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในปี 2550 จำนวน 4.3 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 40 เป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี
       
       ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2550 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ประมาณ 14,000 ราย จากเดิมที่เคยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึงปีละประมาณ 140,000 ราย ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2550 คาดว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสมกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 558,895 คน ยังเหลือผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 546,578 คน และในจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์รายใหม่ 14,000 ราย เป็นหญิงวัยรุ่นและแม่บ้านประมาณร้อยละ 45 รองลงมาคือชายรักชายประมาณร้อยละ 20
       
       นายแพทย์สมชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรคเอดส์ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะเยาวชนและ วัยรุ่นจำนวนมาก มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากวัยรุ่นบางคนใช้การมีเพศสัมพันธ์ในเหตุผลเพื่อการเข้ากลุ่มให้เป็นที่ยอมรับจากเพื่อนๆ หรือด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าการติดเชื้อเอชไอวีจะมีมากเฉพาะในหญิงบริการเท่านั้น และคาดเดาเองว่าการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพื่อนหรือคนรู้จักน่าจะปลอดภัย จึงไม่ได้เตรียมตัวที่จะป้องกัน
       
       ผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงในปี 2549 พบอัตราการใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์แบบชั่วคราวในกลุ่มเยาวชน มีน้อยกว่าร้อยละ 50 และอายุเฉลี่ยในการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น เฉลี่ย 15 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้อายุการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เฉลี่ย 18 ปี โดยยาวชนชายร้อยละ 36 และเยาวชนหญิงร้อยละ 28 ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้ว โดยการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกกับแฟนหรือคู่รัก ในเยาวชนชายร้อยละ32 และเยาวชนหญิงร้อยละ 27 
       
       พฤติกรรมดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาการติดเชื้อเอชไอวี การตั้งครรภ์ที่ยังไม่มีความพร้อม ส่งผลให้ขาดโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนและการสร้างอนาคต อีกทั้งยังส่งผลต่อเนื่องไปยังครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศด้วย ข้อมูลจากการสำรวจความรู้เรื่องโรคเอดส์ของเยาวชนไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับทั่วโลก ในปี 2549 พบว่ามีเยาวชนชายเพียงร้อยละ 23 และเยาวชนหญิงร้อยละ 26 ที่ตอบได้อย่างถูกต้อง
       
       ทางด้านแพทย์หญิงพัชรา ศิริวงศ์รังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการป้องกันควบคุมโรคเอดส์ในกลุ่มเยาวชน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแกนนำด้านการป้องกันเอดส์ ตั้งแต่ปี 2549 ได้อบรมเยาวชนแกนนำไปแล้ว 2 รุ่น เพื่อให้เยาวชนแกนนำจัดตั้งชมรม จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวการป้องกันการติดเชื้อเอดส์ ทั้งในและนอกสถานศึกษา มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ 52 แห่งใน 15 จังหวัด ได้แก่ ตราด กาญจนบุรี ลพบุรี สระแก้ว เพชรบูรณ์ นครนายก นครสวรรค์ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำปาง สุรินทร์ และอุดรธานี ผลการดำเนินงานของเครือข่ายแกนนำใน 2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ จัดอบรมให้ความรู้แก่เยาวชน จัดรณรงค์และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันเอดส์ เช่น ประกวดคำขวัญ ประกวดร้องเพลง แข่งขันกีฬา จัดนิทรรศการ โต้วาที เป็นต้น มีเยาวชนในสถานศึกษาผ่านการอบรมและเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 28,189 คน และขยายผลกิจกรรมด้านการป้องกันเอดส์ให้แก่ชุมชน 16 ชุมชน และจัดตั้งชมรมที่ดำเนินงานเรื่องการป้องกันเอดส์ในสถานศึกษาอีก 11 ชมรม
ผู้จัดการ

ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article652.html

อัพเดทล่าสุด