บาดทะยัก โรคนี้เป็นอย่างไร?


1,003 ผู้ชม


บาดทะยัก เป็นโรคที่เจอประปรายแต่ในสายตาของชาวบ้านจะรู้สึกน่ากลัว เรามาดูกันว่าเป็นอย่างไร ข้อมูลจากเอนไซโคลปีเดีย

บาดทะยัก (Tetanus)      
 บาดทะยัก เป็นโรคที่อันตรายร้ายแรง ซึ่งยังพบได้เป็นครั้งคราวในบ้านเรา พบได้ในคนทุกวัย ส่วนมากจะมีประวัติมีบาดแผลตามร่างกาย เช่น ตะปูตำ หนามเกี่ยว หรือมีบาดแผลสกปรก ในสมัยก่อนทารกคลอดตามบ้าน โดยใช้ไม้รวกหรือตับจาก ตัดสายสะดือ หรือการดูแลสายสะดือไม่ถูกต้อง (เช่น ใช้น้ำหมากน้ำลายบ้วน) ทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นบาดทะยักได้ เราเรียกว่า บาดทะยักในทารก (tetanus neonatorum) ชาวบ้านบางแห่งอาจเรียกว่า สะพั้น หรือ ตะพั้น  ซึ่งมักจะพบหลังคลอดประมาณ 4-14 วัน (ปัจจุบันเด็กคลอดตามบ้านน้อยลง จึงพบโรคนี้น้อยลง)
สาเหตุ
 เกิดจากการติดเชื้อบาดทะยัก ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า คลอสตริเดียมเตตานิ (Clostridiumtetani) เป็นเชื้อโรคที่พบมีอยู่ตามดินทราย และอุจจาระของสัตว์ ซึ่งมีชีวิตอยู่นานเป็นปีๆ และเจริญได้ดีในที่ๆไม่มีออกซิเจน เมื่อคนเราเกิดบาดแผลที่แปดเปื้อนถูกเชื้อโรคชนิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาดแผลที่ลึกและแคบ (ซึ่งมีออกซิเจนน้อย) หรือมีบาดแผลที่เปื้อนถูกดินทราย เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล แล้วปล่อยสารพิษออกมาทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย
 ระยะฟักตัว 5 วัน – 15 สัปดาห์ (พบมากระหว่าง 6-15 วัน)

ระยะฟักตัวยิ่งสั้น โรคจะยิ่งรุนแรงและอันตราย
อาการ
 ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ กลืนลำบาก กระสับกระส่าย
 ในทารกมักมีอาการร้องกวน ไม่ยอมดูดนม และอ้าปากไม่ได้กล้ามเนื้อตามแขนขา หน้าท้อง หลังและส่วนต่างๆ ของร่างกายจะมีอาการหดตัวเกร็งแข็งและปวด ทำให้มีอาการคอแข็ง หลังแอ่น ต่อมาจะมีอาการชักกระตุกของแขนขาและกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเป็นพักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาสัมผัสถูก หรือถูกแสงสว่าง หรือได้ยินเสียงดังๆ ผู้ป่วยมักจะรู้สึกตัวดี (ต่างกับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและสมองอักเสบที่ผู้ป่วยไม่ค่อยรู้สึกตัว) และทุกครั้งที่ชักจะรู้สึกปวดขณะที่มีอาการชักกระตุก ผู้ป่วยอาจหายใจลำบาก ตัวเขียว และอาจหยุดหายใจได้
สิ่งตรวจพบ
 อาจมีไข้ขนาดเล็กน้อยถึงปานกลาง (ไข้มักไม่สูงมาก ยกเว้นในรายที่มีปอดอักเสบแทรก)
  มักตรวจพบอาการขากรรไกรแข็ง คอแข็ง หลังแข็ง และอาการชักกระตุกเป็นพักๆ 
 รีเฟลกซ์ของข้อ (tendon reflex) มักจะไวกว่าปกติ
 ส่วนมากจะพบมีบาดแผลอักเสบ (ในทารกมักพบว่ามีสะดืออักเสบ แต่ในบางรายไม่พบบาดแผลชัดเจนก็ได้
อาการแทรกซ้อน
 อาจพบอาการขาดออกซิเจนขณะชัก, อาการขาดอาหารเพราะกลืนไม่ได้, ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะไม่ได้  เนื่องจากการแข็งตัวของกล้ามเนื้อหูรูด, ปอดอักเสบ, กระดูกหลังหักจากการชักในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจ และหัวใจวายถึงตายได้
การรักษา
 หากสงสัยให้ส่งโรงพยาบาลด่วน ก่อนส่งโรงพยาบาลอาจให้ไดอะซีแพม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเหน็บทางทวารหนัก เพื่อลดการชักเกร็ง
 ระหว่างอยู่ในโรงพยาบาลมักจะให้การรักษาด้วยการฉีดยาเพนิซิลลินจี 1 ล้านยูนิตเข้าหลอดเลือดดำทุก 4-6 ชั่วโมง (เด็ก 1 แสนยูนิต ต่อน้ำหนักตัว1 กิโลกรัมต่อวัน แบ่งฉีดทุก 4 –6 ชั่วโมง) หรือคลอแรมเฟนิคอลครั้งละ 1 กรัม ฉีดหรือกินทุก 6 ชั่วโมง (เด็ก 75-100 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน แบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง) นาน 10 วัน, ฉีดอิมมูนโกลบูลิน ต้านพิษบาดทะยัก (human tetanus immune globulin) 3,000-10,000 หน่วยเข้ากล้าม, ยากันชัก และอาจต้องเจาะคอช่วยหายใจ
 ผลการรักษา ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มที่เป็น ก็มักจะมีโอกาสหายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรง (เช่น หลังแอ่น) แล้ว โอกาสรอดก็น้อยลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในทารกหรือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีระยะฟักตัวของโรค (ระยะตั้งแต่ติดเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการ) สั้น ก็มีโอกาสมีอันตรายมากยิ่งขึ้น
   โดยเฉลี่ย ผู้ป่วยโรคนี้มีโอกาสรอดประมาณร้อยละ 50
การป้องกัน
1. ฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP) ตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน ถ้าไม่เคยฉีดตอนเด็กควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก หลังฉีดครบชุดแล้ว ควรฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี
2. หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้รวม 3 ครั้ง โดยเริ่มฉีดเข็มแรกเมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน (ถ้าฉีดไม่ทันขณะตั้งครรภ์ ก็ให้ฉีดหลังคลอด)
ถ้าหญิงตั้งครรภ์เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้มาแล้ว 1 ครั้ง ควรให้อีก 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ในระหว่างตั้งครรภ์
ถ้าหญิงตั้งครรภ์เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ควรให้อีก 1 ครั้ง ในระหว่างตั้งครรภ์
ถ้าหญิงตั้งครรภ์เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้ครบชุด (3 ครั้ง) มาแล้วเกิน 5 ปี ให้ฉีดกระตุ้นอีกเพียง 1 ครั้ง แต่ถ้าเคยฉีดครบชุดมาแล้วไม่เกิน 5 ปี ก็ไม่ต้องฉีดกระตุ้น
3. ควรแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์คลอดกับบุคลกรที่ รู้จักรักษาความสะอาดในการทำคลอด ไม่ใช้ไม้รวก ตับจาก มีดหรือกรรไกรที่ไม่ได้ทำการฆ่าเชื้อตัดสายสะดือเด็ก นอกจากนี้ควรแนะนำให้รู้จักทำความสะอาดสะดือเด็ก ไม่บ้วนน้ำหมากน้ำลายลงบนสะดือเด็ก  
4.  เมื่อมีบาดแผลตะปูตำ หนามตำ สัตว์กัด ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือบาดแผลสกปรก ควรชะล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที
     สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน ถ้าบาดแผลสกปรกหรือแผลใหญ่ ควรแนำนำให้ผู้ป่วยรับการฉีดอิมมูนโกลบูลินต้านพิษบาดทะยัก (human tetanus immune globulin) หรือเซรุ่มแก้พิษบาดทะยัก (tetanus antitoxin) ยาชนิดหลังนี้ทำจากเซรุ่มม้า อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ทางที่ดีควรฉีดในสถานพยาบาลที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตเตรียมไว้พร้อม
 ส่วนผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1 เข็ม ไม่ต้องฉีดอิมมูนโกลบูลินหรือเซรุ่มแก้พิษบาดทะยัก  แต่ถ้าเพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักภายใน 5 ปี ก็ไม่ต้องฉีดกระตุ้น
ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article517.html

อัพเดทล่าสุด