การสูญเสียความสามารถในการได้ยินเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร
ปัญหาชวนหงุดหงิดทั้งสำหรับผู้สูงวัยและลูกหลาน แต่เทคนิคการสื่อสารที่เหมาะสมต่อไปนี้ น่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น |
ดึงความสนใจ ก่อนพูดอะไรกับท่าน ควรจะดึงให้ท่านหันมาสนใจในสิ่งที่เรากำลังจะพูดเสียก่อน เช่น บอกให้ท่านทราบว่าถึงประเด็นที่เรากำลังจะพูดถึง เพื่อช่วยให้ท่านตระหนักว่าจะได้ฟังเรื่องอะไร | |
ลดเสียงรบกวน พยายามกำจัดเสียงรบกวนอื่นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น การปิดวิทยุหรือโทรทัศน์ หรือหากว่าอยู่ในสถานที่ที่มีคนเยอะๆ เช่น ในร้านอาหาร หรือในงานเลี้ยงสังสรรค์ ก็ควรพยายามเลือกที่นั่งที่ห่างจากผู้คน หรือห่างจากบริเวณที่มีเสียงดัง | |
พูดทีละคน ถ้าอยู่ด้วยกันหลายๆ คน ลูกหลานควรพยายามพูดกับผู้สูงอายุทีละคน อย่าแย่งกันพูด และที่สำคัญคืออย่าตัดท่านออกจากวงสนทนา เพราะคิดว่าท่านคงฟังอะไรไม่รู้เรื่อง | |
พูดชัดๆ หันหน้าไปทางผู้สูงอายุและพูดชัดๆ ด้วยความเร็วที่พอเหมาะ อย่าปิดปากเวลาพูด หรือพูดในขณะที่กำลังกิน หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง | |
พูดดังๆ พูดด้วยเสียงที่ดังกว่าระดับปกติเล็กน้อย แต่ไม่ต้องตะโกน เพียงแต่เน้นคำพูดให้ชัดๆ ด้วยระดับเสียงที่เหมาะสม | |
พูดซ้ำ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยินบางคนอาจจะพยักหน้าหงึกหงักประหนึ่งว่าท่านเข้าใจสิ่งที่คุณพูด แต่เพื่อความแน่ใจ คุณอาจจะพูดซ้ำ หรือถามท่านกลับไปว่า ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องที่คุณพูด เพื่อตรวจสอบว่าท่านเข้าใจสิ่งที่คุณพูดได้ถูกต้อง | |
เรียบเรียงคำพูดใหม่ พยายามเรียบเรียงสิ่งที่ต้องการสื่อสารให้ท่านรับรู้เป็นคำพูดสั้นๆ หรือเป็นประโยคง่ายๆ หากสังเกตเห็นสีหน้าว่าท่านไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูดไปแล้ว | |
ใช้แสงช่วย ผู้พูดควรอยู่ในจุดที่มีแสงสว่างมากพอ เพราะการที่ผู้สูงอายุได้เห็นสีหน้าท่าทาง หรือริมฝีปากของผู้พูด จะเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ท่านเข้าใจสิ่งที่คู่สนทนากำลังพูดมากขึ้น | |
พยายามเข้าใจ ถ้าคุณรู้สึกหงุดหงิดกับการพูดคุยกับญาติผู้ใหญ่ที่มีปัญหาทางการได้ยิน ก็อยากให้ลองคิดดูว่า หากเรามีปัญหาเช่นนั้นบ้างจะรู้สึกอย่างไร ฉะนั้นควรพยายามเลือกใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย หรือใช้ประโยคให้ง่ายขึ้น ไม่ใช่คุณเพียงฝ่ายเดียวที่อยากให้คนที่มีปัญหาทางการได้ยินทราบว่าคุณกำลังพูดอะไรกับเขา พวกเขาเองก็อยากได้ยิน เข้าใจ และมีส่วนร่วมกับสิ่งที่คุณพูดด้วย เพียงแต่ว่าการแก้ปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ฉะนั้นนอกจากการใช้เทคนิคต่างๆ เหล่านี้แล้ว อาจจะต้องแนะนำหรือพาผู้ที่มีปัญหาไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมด้วย |
สัญญาณเตือนชวนสงสัย
หากว่าญาติผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุใกล้ตัวมีอาการต่อไปนี้ตั้งแต่ 3 อาการรวมกัน ควรรีบพาไปแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเรื่องการได้ยิน
- มีปัญหาในการฟังเสียงจากโทรศัพท์
- มีปัญหาในการฟังเมื่อมีเสียงรบกวนในระดับเสียงพื้นฐาน
- มีปัญหาในการสนทนาเมื่อมีผู้พูดมากกว่าหนึ่งคน
- รู้สึกเครียดเมื่อได้ยินการสนทนา หรือต้องขอร้องให้ผู้อื่นพูดซ้ำบ่อยๆ
- รู้สึกเหมือนมีคนพึมพำหรือพูดไม่ชัดตลอดเวลา
- ไม่เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด และไม่สามารถตอบสนองต่อการร้องขอของผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง
- ได้ยินเสียงที่คล้ายกับเสียงดังกังวาน ,เสียงคำราม หรือเสียงฟู่บ่อยๆ
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=2299&sub_id=6&ref_main_id=2