ทำอย่างไร เมื่อลูกมีพัฒนาการช้า ตัวเกร็ง อ่อนแรง


722 ผู้ชม


เมื่อเด็กเริ่มถึงวัยที่น่าจะเดินได้ แต่เขากลับมีอาการเดินไม่ดี เกร็ง อ่อนแรง หรือพัฒนาการช้ากว่าปกติ เป็นอะไรได้บ้าง และแก้ไขอย่างไร รายละเอียดจากสมาคมเวชศาสตร์ฟื้นฟูครับ


ทำอย่างไรเมื่อลูกพัฒนาการช้า พูดช้า,เดินไม่ได้,กล้ามเนื้อเกร็ง,เดินผิดปกติ

ลูกเป็นเสมือนดั่งดวงใจพ่อแม่ไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองท่านใดต้องการให้บุตรหลานของท่านไม่สบาย หรือเกิดภาวะผิดปกติขึ้นมา บทความที่จะเสนอนี้จะเป็นการให้ความรู้ว่า ถ้าลูกหลานของท่านมี ภาวะผิดปกติดังกล่าว ท่านควรทำอย่างไร ผู้เขียนขอใช้คำรวม สำหรับ เด็กกลุ่มนี้ว่า เป็น เด็กที่มีพัฒนาการช้าหรือพัฒนาการผิดปกติ ซึ่งจะมีอาการแสดงดังนี้ เช่น เดินช้า พูดช้า เดินไม่ได้ 
เดินแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น เดินเขย่ง ในด้านของสาเหตุนั้นมีด้วยกันหลายประการ แต่จะขอกล่าวถึงเฉพาะกลุ่มโรคเด็กสมองพิการ ซึ่งมีระดับความรุนแรงได้ตั้งแต่ น้อย,ปานกลางถึงรุนแรง

โรคเด็กสมองพิการ มีสาเหตุอยู่ 3 ประการ
    1. การพัฒนาการสมองของเด็กระหว่างตั้งครรภ์
      เกิดภาวะผิดปกติกับมารดาขณะตั้งครรภ์ - มารดาอาจได้รับการติดเชื้อหรือมีโรคขณะตั้งครรภ์ ส่งผลถึงการพัฒนาสมองของเด็กระหว่างตั้งครรภ์
    2. ระหว่างคลอด เกิดภาวะผิดปกติระหว่างคลอด ซึ่งส่งผลให้สมองเด็กขาดออกซิเจน
      ยกตัวอย่างเช่น การคลอดช้า ,คลอดยาก เป็นต้น
    3. หลังคลอดจนถึงอายุ 7 ปี อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้ออักเสบของสมอง หรือได้รับ
      อุบัติเหตุที่สมอง เป็นต้น
      <>


อาการแสดง

1. มีความผิดปกติทางกาย

  • มีความผิดปกติของขาทั้ง 2 ข้าง มีอาการอ่อนแรง , เกร็งของขาทั้ง 2 ข้าง บางรายมีอาการเดินผิดปกติ บางราย มีอาการเดินไม่ได้
  • ความผิดปกติของขาและแขน ซีกใดซีกหนึ่ง เดินผิดปกติ , เดินไม่ได้ , มีอาการเกร็งของแขนและขาซีกใด ซีกหนึ่ง
  • ความผิดปกติของแขนขาทั้ง 2 ข้าง มีอาการอ่อนแรง และ/หรือเกร็งแขนขาทั้ง 2 ข้าง มีอาการเกร็งจนตัวงอ

2. มีการพัฒนาการช้า มีระดับสติปัญญาต่ำกว่ามาตราฐาน

3. มีปัญหาการพูด

4. มีปัญหาการมองเห็นและการได้ยิน

การรักษาและการวางแผนให้ลูกน้อยอย่างต่อเนื่อง( Rehabilitation program)

ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาการนี้เป็นอาการไม่หายขาด แต่สามารถทำให้สภาพร่างกาย การพัฒนาการเรียนรู้ รวมทั้งสภาพจิตใจของเด็กดีขึ้นได้ เด็กกลุ่มนี้จัดว่าเป็นโรคที่มีความพิการ ทางกฎหมายตาม พ.ร.บ. ปี 2534 หรือไม่นั้นขึ้นกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู จะทำการประเมินและพิจารณาเป็นรายๆไป ถ้าท่านมีบุตรหลาน หรือบุคคลรู้จักที่มีอาการข้างต้น โปรดนำบุตรหลานของท่านมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ณ โรงพยาบาลต่างๆ เพราะการรักษาเด็กกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง จากบุคลากรหลายฝ่าย แพทย์สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู จะมีความรู้ในการดูแล และติดตามผลการรักษาในทุกๆด้าน

การรักษาในด้านต่างๆ

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะเป็นผู้พิจารณาและประเมินว่าเด็กมีความต้องการบำบัดและรักษาในแง่ใด

    1. ประเมิน IQ. และฝึกการกระตุ้นพัฒนาการ

      * โดยการทำกายภาพบำบัด (Physical therapy)

      นักกายภาพบำบัดจะดูแลออกกำลังกายของกล้ามเนื้อ , ยืดกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายเพื่อเพิ่ม หรือคงพิสัยของข้อ ฝึกการเดินให้แก่เด็ก

      *โดยการทำกิจกรรมบำบัด ฝึกการใช้มือ , ฝึกการกระตุ้นพัฒนาการการทรงตัว , การนั่ง , การเคลื่อนไหว และการใช้อุปกรณ์ต่างๆให้เหมาะสม

      * การให้กายอุปกรณ์เสริม หรือ เครื่องช่วยเดินต่างๆ

      * การฝึกพูด ประเมินปัญหาและส่งให้นักฝึกพูดฝึกเด็ก

    2. การดูแลด้านอาการผิดปกติต่างๆ เช่น อาการเกร็ง หดสั้นของกล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆ

      ทำการรักษาโดยการให้ยาลดเกร็ง มีทั้งรูปแบบรับประทาน และยาฉีดเพื่อลดเกร็ง( Botulinum toxin A หรือ phenol nerve block) หรือ อาจมีการใส่อุปกรณ์เสริม เพื่อยึดกล้ามเนื้อมัดต่างๆ

    3. ดูแล และให้คำปรึกษาการจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.คนพิการ ปี 2534
    4. ดูแลและให้คำปรึกษาเกี่ยวกึบการศึกษาแก่เด็ก

บทสรุป

จากรายละเอียดที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ผู้เขียนหวังว่าคงเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ถ้าท่านมีบุตรหลาน หรือ
คนรู้จักที่มีปัญหาดังกล่าวสามารถนำหรือแนะนำให้มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
ได้ตามโรงพยาบาลต่างๆในกรุงเทพมหานคร หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด

ด้วยความปรารถนาดี
พญ. รัตนา รัตนาธาร
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู


ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article225.html

อัพเดทล่าสุด