โภชนาการน่ารู้สำหรับเด็ก


1,156 ผู้ชม


เอกสารนี้ได้มาจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

โภชนาการสำหรับเด็ก

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Breast feeding)
   
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยขอสนับสนุนการให้นมแม่อย่างเดียวแก่ทารกอย่างน้อย จนถึง 4 เดือน เนื่องจากนมแม่มีคุณค่าทางอาหารที่จำเป็น สำหรับการเจริญเติบโตที่ดีกว่านมผสม ในด้านไขมัน โคเลสเตอรอล โปรตีนและธาตุเหล็ก ทั้งยังย่อยง่ายกว่านมผสม ตลอดจนมีความสะอาด มีสารกระตุ้นการเติบโต และมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่างๆ ด้วย นมแม่สามารถใช้เลี้ยงลูกได้จนอายุ 2 ปี โดยไม่ต้องเสริมนมผสมนมสูตรดัดแปลงสำหรับทารก (Infant formula) ใช้เมื่อมีความจำเป็นเพื่อเสริมนมแม่ หรือในกรณีที่แม่ไม่สามารถให้นมแก่ลูกได้ โดยสาเหตุทางการแพทย์ ฯลฯ ควรจะได้มีการอธิบายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนเสมอ ควรเลือกใช้ชนิดที่เสริมธาตุเหล็กทั้งนี้ นมดัดแปลงสำหรับทารกใช้ได้จนถึงอายุ 1 ปี ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ไม่สนับสนุนการโฆษณานมผสมผ่านทางสื่อต่างๆ ตลอดจนการนำนมผสมสำหรับทารกมามอบให้กับทางโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล เพื่อแจกฟรีแก่แม่ที่กำลังให้นมลูกซึ่งเป็นการโฆษณาในรูปแอบแฝง

นมสูตรต่อเนื่อง (Follow- on formula)
   
ใช้หลังอายุ 6 เดือนไปแล้วจนถึง 3 ปี

นมวัวผงครบส่วน (Powder whole milk)
   
ใช้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป สำหรับเด็กอายุ 1-3 ปี ควรเลือกชนิดเสริมวิตามินและแร่ธาตุ

นมสด (Pasturized whole milk, UHT fresh milk)
   
ห้ามใช้สำหรับทารกต่ำกว่าหนึ่งปี ควรหัดดื่มจากถ้วย หรือใช้หลอดดูดเมื่ออายุ 1 ปี เด็กควรดื่มนมทุกวันๆ ละ 3 มื้อ จนถึงวัยหนุ่มสาว

นมพร่องไขมัน (Low fat milk, Skim milk)
   
ไม่ควรใช้ในเด็กปกติทั่วไปโดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะมีสารอาหารไม่เหมาะสมเนื่องจากมีโปรตีนสูง เกลือแร่สูง พลังงานต่ำ ขาดกรดไขมันจำเป็นและวิตามินชนิดละลายในไขมัน แต่สามารถใช้กับเด็กอ้วนอายุมากกว่า 2 ปี เพื่อการควบคุมน้ำหนักภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์

นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม (Liquid yogurt)
   
ใช้แทนนมสดไม่ได้ เด็กไม่ควรดื่มมากกว่า 1 กล่องหรือ 1 ขวดเล็กต่อวัน นมชนิดนี้ผลิตจากนมพร่องมันเนย นมธรรมดาหรือนมสด มีคุณค่าทางโภชนาการแตกต่างกันได้มากจึงห้ามใช้เลี้ยงทารก

ธัญญาหารสำเร็จรูป (Cereal ต่างๆ)
   
ประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล อาจเสริมวิตามินและเกลือแร่บางอย่าง ไม่สามารถใช้แทนอาหารทั้งมื้อได้ ไม่แนะนำให้ใช้เลี้ยงทารกและเด็กเล็ก เพราะมีลักษณะเป็นขนมมากกว่าทำให้มีบริโภคนิสัยไม่ถูกต้องและเกิดภาวะทุพโภชนาการได้ในภายหลัง อาหารมื้อหลัก (solid food) ควรเริ่มโดยใช้ช้อนป้อนเมื่ออายุ 4 เดือน เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต โดยใช้ข้าวบดกับน้ำแกงจืด หรือ กล้วยน้ำว้าบด เริ่มจากจำนวนน้อยๆ เช่น 1 ช้อนชา วันละครั้ง แล้วจึงค่อยเพิ่มจำนวนทีละน้อยๆ ทุกวันจนได้ถึง 4- ช้อนชาต่อวันควรเลือกใช้อาหารที่หาได้ง่าย สะอาดปลอดภัย เว้นระยะ 2 สัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มอาหารชนิดใหม่
    อายุ 4-5 เดือน ควรเริ่มอาหารโปรตีน เช่น ไข่แดงสุก ปลา ไก่ บดรวมกับข้าวบด อายุ 5-6 เดือน ควรเริ่มผักใบเขียวต้มสุกบดเติมลงในอาหารเสริมที่กินอยู่แล้ว เมื่ออายุครบ 6 เดือน ควรมีอาหารเสริมที่มีสารอาหารครบถ้วนแทนนมได้ 1 มื้อ อายุ 8 เดือน มี solid food 2 มื้อ และ 3 มื้อเมื่ออายุครบ 1 ปีไปแล้ว

อาหารเสริม
   
ต้องไม่ปั่น เพราะจะทำให้ไม่กิน solid food ในภายหลังได้ อาหารเสริมต้องไม่ใส่น้ำตาล เกลือ และผงชูรส

น้ำผลไม้สด
   
ต้องระวังเรื่องความสะอาดในการจัดเตรียม อาจเริ่มป้อนด้วยช้อนหรือดื่มจากถ้วยวันละครั้ง (โดยเริ่มจาก 1 ช้อนชา) หลังจากอายุได้ 3 เดือนไปแล้วควรเติมน้ำสุกให้เจือจางเท่าตัว และเพิ่มจำนวนครั้งละ 1 ช้อนชาไปทุก 1-2 วันจนได้น้ำผลไม้สดวันละ 3 ออนซ์ ถ้าไม่มั่นใจในความสะอาด ไม่จำเป็นต้องแนะนำน้ำผลไม้

กล้วยน้ำว้า
   ไม่ควรเริ่มก่อนอายุ 4 เดือน ควรครูดผิว ๆ ประมาณ 1 ช้อนชา ใส่ถ้วยสะอาดบดผสมน้ำสุกจนเหลว แล้วป้อนทารกด้วยช้อนเล็ก เพิ่มวันละน้อยๆ จนครูดได้รอบๆ กล้วย 1 ผลต่อวัน ควรบอกผู้ปกครองเด็กว่า ไม่ควรให้กล้วยครูดมากกว่า 1 ผล/วัน เพราะจะทำให้อิ่มและอาจจะจับตัวอุดตันลำไส้เด็กได้
    ควรเน้นให้ผู้ปกครองทราบถึงความสำคัญของ solid foods หลังอายุ 6 เดือน เพื่อการเจริญเติบโตของเด็ก ส่วนนมจะกลายเป็นอาหารเสริมแทน
    การปรุงอาหารสำหรับทารกควรใช้ความร้อนเพื่อทำให้อาหารสุกเท่านั้น เป็นการรักษาคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะวิตามินและเกลือแร่ แล้วจึงนำมาบดก่อนนำไปป้อน ไม่ต้องปรุงรสเพิ่มเติม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะมีผลต่อไปเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เช่น อาหารเค็มทำให้เกิดความดันโลหิตสูง อาหารไขมันสูงจะทำให้เกิด hypercholesterolemia และโรคอ้วน
    เมื่อเด็กเริ่มมีฟันควรบดอาหารอย่างหยาบๆ เพื่อฝึกให้เคี้ยวอาหารและฝึกให้ตักอาหารกินเอง เมื่อเด็กโตอายุ 1 ปี ควรให้ดื่มน้ำและนมจากถ้วย และควรเลิกขวดได้เมื่ออายุ 2 ปี

วิตามิน (Vitamins)
   ทารกที่กินนมแม่ที่มีการเจริญเติบโตดีและแม่มีภาวะโภชนาการปกติ ตลอดจนทารกและเด็กเล็กที่กินนมสูตรทารกและสูตรต่อเนื่องไม่มีความจำเป็นต้องเสริมวิตามินและเหล็ก ถ้าแม่ขาดอาหารควรเริ่มเสริมวิตามินในเด็กที่กินนมแม่ โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 3-4 วัน โดยใช้วิตามินรวมชนิดหยดสำหรับทารก

ธาตุเหล็ก
    ถ้าแม่ขาดอาหารควรเริ่มเสริมธาตุเหล็กในเด็กที่กินนมแม่เมื่ออายุ 3-4 เดือน เพราะปริมาณเหล็กที่สะสมในร่างกายจะลดลงมากในช่วงนี้ ควรเสริมธาตุเหล็กไปจนเด็กกิน solid food ได้เต็มที่เมื่ออายุราว 1ปี
    ในทารกเกิดก่อนกำหนด ถ้าเลี้ยงด้วยนมแม่หรือนมสูตรทารกเกิดก่อนกำหนดที่ไม่ได้เสริมธาตุเหล็ก ควรเสริมธาตุเหล็ก 2 มก./กก./วัน เริ่มเมื่ออายุ 4 สัปดาห์ แต่ถ้าเลี้ยงด้วยนมสูตรทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีการเสริมธาตุเหล็ก ไม่จำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็กอีก

ฟลูออไรด์ (Fluoride)
   ถ้าปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มต่ำกว่า 0.3 ppm ให้เสริมฟลูออไรด์ในรูป NaF ควรเริ่มเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน ให้ 0.25 มก./วัน จนถึงอายุ 3 ปี อายุ3-6 ปี ให้ 0.5 มก./วัน อายุ 6 ปี ขึ้นไปให้ 1 มก./วัน (คำแนะนำของสมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศไทย) และให้ในขนาดนี้ไปจนถึงอายุ 16 ปี

ผักและผลไม้สด
    ควรเริ่มให้เด็กหยิบแทะผักหรือผลไม้สดตั้งแต่ฟันเริ่มขึ้น โดยล้างให้สะอาดแล้วตัดเป็นแท่งเล็กๆ ควรอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ เพื่อแก้ไขทันท่วงทีถ้าเกิดติดคอหรือสำลัก

ลูกกวาด ขนมหวาน Junk food น้ำอัดลม ช๊อกโกแลต
   ไม่ควรให้เด็กกิน เพราะน้ำตาลจะทำให้เด็กไม่รู้สึกหิวเมื่อถึงเวลาอาหาร และทำให้ฟันผุด้วย อาหารกินเล่นที่เป็นถุงประกอบด้วยแป้ง ไขมัน เกลือ บางชนิดมีผงชูรสด้วย จึงไม่เหมาะกับเด็ก บะหมี่สำเร็จรูปห้ามเด็กกินแห้งๆ เป็นของว่าง เพราะจะเข้าไปพองอืดในกระเพาะและดูดน้ำทำให้ร่างกายเสียน้ำด้วย โรคอ้วนและไขมันในเลือดสูงกำลังเป็นปัญหาสุขภาพในบ้านเรา ต้องให้ความสำคัญและป้องกันโดยเฉพาะโรคอ้วนตั้งแต่วัยทารก

ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article145.html

อัพเดทล่าสุด