เมื่อเปรียบเทียบการยิ้มกับการแสดงสีหน้าแบบอื่น การยิ้มใช้กล้ามเนื้อใบหน้าน้อยกว่าการแสดงสีหน้าแบบอื่นมาก การยิ้มจึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า
แล้วรู้ไหมว่า เรา "ยิ้ม" เพื่ออะไรกัน
ยิ้มเกิดขึ้นได้อย่างไร รอยยิ้ม เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อ 2 มัดใหญ่ คือ ไซโกเมติก เมเจอร์ ( Zygomatic major) ที่จะช่วยดึงมุมปากให้ยกขึ้นไปหาโหนกแก้ม และออร์บิคิวลาริส ออคิวไล (Orbicularis Oculi ) ที่จะช่วยดึงเนื้อแก้มและเบ้าตาให้ยกขึ้น ยิ้มมีผลต่อร่างกายอย่างไร จากการศึกษาพบว่า เมื่อกล้ามเนื้อใบหน้าเคลื่อนไหวจนเกิดเป็นรอยยิ้ม จะส่งผลทำให้โลหิตแดงที่ไปเลี้ยงสมองมีอุณหภูมิลดลง จะทำให้เกิดความรู้สึกสบายและผ่อนคลาย ซึ่งจะตรงข้ามกับการทำหน้านิ่วคิ้วขมวด ที่การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าจะทำให้สมองมีอุณหภูมิสูงขึ้น และเกิดความรู้สึกไม่สบาย นอกจากนี้ ในขณะที่คนเรายิ้ม หัวใจจะเต้นช้าลง ความดันโลหิตลดลง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะผ่อนคลาย ต่อมหมวกไตจะทำงานน้อยลง ฮอร์โมนอะดรีนาลีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดจะถูกขับออกมาน้อยลงด้วย การยิ้มจึงช่วยลดความเครียดได้ การยิ้มมีความสัมพันธ์กับความสุขอย่างไร เป็นที่สงสัยกันมากว่า คนเรามีความสุขแล้วจึงยิ้ม หรือยิ้มก่อนแล้วจึงมีความสุข ทำให้นักวิชาการต้องทำการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ให้ถ่องแท้ลงไป และผลที่ได้ก็พบว่าเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง นั่นคือ เมื่อคนเรารู้สึกมีความสุข เราจะแสดงออกทางสีหน้าด้วยรอยยิ้ม แต่ก็มีบางคนเหมือนกันที่ชอบเก็บกดอารมณ์ของตน เวลามีความสุขก็ยังพยายามบังคับสีหน้าให้ดูเคร่งขรึม ซึ่งต้องใช้กล้ามเนื้อใบหน้ามากกว่า เสียพลังงานมากกว่า และทำให้ไม่สามารถมีความสุขได้อย่างเต็มที่ ในทางตรงข้าม แม้คนเราจะยังไม่รู้สึกมีความสุข แต่เมื่อยิ้มแล้วสักพัก จะรู้สึกว่าอารมณ์ดีขึ้นและมีความสุขได้เช่นกัน |