ผู้หญิง..วัยหมดประจำเดือนระวังเข่าเสื่อม


730 ผู้ชม


เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายย่อมเสื่อมโทรมไปตามวัยเป็นธรรมดา โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องผจญกับโรคภัยทางสุขภาพของสตรี         เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายย่อมเสื่อมโทรมไปตามวัยเป็นธรรมดา โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องผจญกับโรคภัยทางสุขภาพของสตรี 

นอกจากนี้พบว่า ผู้หญิงยังมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกข้อเข่าผุกร่อนเสื่อมทรุดฉีกขาดมากกว่าผู้ชายอีกด้วย เนื่องจากผู้หญิงมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน้อยกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในหญิงหลังหมดประจำเดือน รวมถึงอิริยาบทในแบบฉบับเฉพาะของผู้หญิงที่อาจส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าปกติโดยไม่รู้ตัว

“ข้อเข่าเสื่อม” เป็นภาวะที่กระดูกอ่อนของข้อเข่าสึกหรอ ฉีกขาด จนไม่สามารถหล่อลื่นข้อเข่าให้ใช้งานเป็นปกติได้ บางครั้งอาจจะมีหมอนรองกระดูกฉีกขาดร่วมด้วย เมื่อกระดูกอ่อนสึกหรอจนถึงกระดูกแข็ง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเวลาลงน้ำหนักเข่าขณะเดิน หรือขึ้นลงบันได
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมที่สำคัญ ได้แก่ การมีน้ำหนักตัวมาก จะทำให้ข้อเข่าต้องทำงานหนักเกิดการสึกหรอได้เร็ว หรือผู้มีอาชีพที่ต้องใช้ข้อมากกว่าคนปกติและมีการใช้งานของข้อซ้ำๆ รวมทั้งมีแรงกดที่ข้อมาก และเป็นเวลานาน เช่น ผู้ที่ทำงานแบกหาม นักกีฬาที่ต้องมีการกระโดดบ่อยๆ พนักงานขายของในห้างสรรพสินค้า แม่บ้าน รวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ข้อแบบผิดๆ เช่น นั่งพับเพียบนานๆ นั่งยองๆ นั่งคุกเข่า ผู้ที่ชอบอยู่ในท่างอข้อเข่าเป็นเวลานาน หรือผู้หญิงที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูงมากๆเป็นเวลานาน เดินขึ้น-ลงบันไดบ่อยๆ และการใช้ส้วมแบบนั่งยองๆ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะข้อเสื่อมได้
อย่างไรก็ตาม หากสังเกตพบว่าตนมีอาการปวดข้อเข่าเวลายืน เดิน หรือขึ้นลงบันได แต่เวลาพักหรือใช้งานน้อยลงจะไม่ปวด จนเมื่อข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นจะทำให้มีอาการกล้ามเนื้อด้านหลังเข่าตึงและปวด อีกทั้งอาจมีอาการปวดข้อเข่าตอนกลางคืนหรือเวลาอากาศเย็นชื้น อาจมีเสียงดังขณะเคลื่อนไหว หรืออาจปวดมากเวลาเปลี่ยนท่านั่งเป็นยืน ซึ่งหากผู้ป่วยยังเพิกเฉยไม่ทำการรักษาอย่างจริงจัง จะส่งผลให้
ข้อเข่าโก่งงอ ปวดทุกครั้งที่เคลื่อนไหว โดยเฉพาะเวลาลงน้ำหนัก เนื่องจากกระดูกบริเวณข้อเข่าจะสัมผัสกันโดยตรง โดยไม่มีกระดูกอ่อนคั่นกลาง การทรุดตัวของกระดูกอ่อน และกระดูกข้อเข่า ทำให้ข้อเข่ามีลักษณะโก่งงอผิดรูปเพิ่มขึ้นจนเดินไม่ได้ ต้องใช้ไม้เท้า หรืออุปกรณ์ช่วยเดิน
การรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อม
แนวทางการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมเริ่มตั้งแต่การรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา คือ การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นอันตรายต่อข้อเข่า เช่น การนั่งพับเพียบ หรือนัดขัดสมาธิ การลดน้ำหนัก และการออกกำลังกายเพื่อบริหารกล้ามเนื้อข้อเข่า และการทำกายภาพบำบัด แต่หากอาการปวดข้อเข่ายังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาซึ่งมีอยู่ 2 แนวทาง คือ การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
 เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก มีขาผิดรูปน้อย แพทย์จะให้รับประทานยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่ Steroid หรือการฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า นอกจากนี้ การออกกำลังกาย การใช้ผ้ายืดพยุงเข่า หรือใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้ค้ำยัน และการทำกายภาพบำบัด สามารถบรรเทาอาการปวดได้
การรักษาโดยการผ่าตัด
การผ่าตัดจะทำในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ข้อเข่าของผู้ป่วยมีการเสื่อมค่อนข้างมาก และไม่สามารถรักษาโดยการใช้ยาหรือทำกายภาพบำบัดได้ ซึ่งการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดก็มีอยู่หลายวิธีตามสภาพและความรุนแรงของข้อเข่าที่เสื่อม เช่น การผ่าตัดโดยการส่องกล้องข้อเข่า การผ่าตัดผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันก็มีวิธีผ่าตัดแบบแผลเล็ก โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์นำวิถีเข้ามาช่วยในการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดแม่นยำขึ้น ภาวะแทรกซ้อนลดลง ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น 
การผ่าตัดจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป อีกทั้งยังได้มีการพัฒนาข้อเข่าเทียมรุ่นใหม่ ให้มีอายุการใช้งานที่นานยิ่งขึ้น และสามารถงอเข่าได้มากยิ่งขึ้น
หมั่นดูแลข้อเข่า
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับความชำนาญและประสบการณ์ในการผ่าตัดข้อเข่าเทียมของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อผลของการผ่าตัด
สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้จักดูแลความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอและถูกวิธี จะช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูกที่แข็งแรง ในผู้ป่วยที่มีอาการบ่งชี้ของภาวะข้อเข่าเสื่อมควรต้องมาพบแพทย์โดยเร็ว ก่อนที่ภาวะของข้อเข่าเสื่อมจะเป็นมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลต่อข้อสะโพกและหลังหากปล่อยอาการไว้เนิ่นนานเกินไป อย่างไรก็ตามแม้การผ่าตัดจะได้ผลดีและปลอดภัยมาก แต่การผ่าตัดทุกอย่างย่อมมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดแล้วแม้จะหายปวดข้อเข่าและกลับไปใช้งาได้ดีก็ตาม ผู้ป่วยควรกลับไปพบแพทย์เป็นระยะๆ ตามที่แพทย์นัดเพื่อให้สามารถใช้ข้อเข่าใหม่ได้นานที่สุด
ที่มา   https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1660&sub_id=5&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด