การมีสุขภาพกายและใจ ที่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นสุดยอดปรารถนาของทุกคน แต่การได้มาของทั้งสองสิ่งมีความต่างกัน
การจะมีสุขภาพกายที่ดี ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์, ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ, หลีกเลี่ยงมลภาวะ และสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่สำหรับจิตใจ การได้มาซึ่งสุขภาพจิตที่ดีมีสิ่งเดียวเท่านั้นที่ต้องการคือ การจัดการ "ความคิด" ของตนเอง ถ้าคิดดี คิดเป็น ก็ไม่เครียด ไม่ว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน ไม่วิตกกังวล สุขภาพจิตก็จะดี ...จะจัดการความคิดตนเองอย่างไร... การฝึกคิดให้มี "ความพอเพียง" คือหนทางสู่การมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขที่ "พอเพียง" แก่นแท้ของชีวิตที่พอเพียงไม่ใช่การถอยหลังเข้าคลอง ไม่ใช่นิยามความเชย หากแต่คือการใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล และพอประมาณ ความเครียด ความว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล ล้วนเกิดจากความไม่พอประมาณ และการใช้ชีวิตแบบไม่มีเหตุผล (คนมีเงินแสน ก็อยากมีเงินล้าน, มีเงินล้าน ก็อยากมี 10 ล้าน) ไม่มีที่สิ้นสุด เกิดการแก่งแย่ง ไขว่คว้า ชิงดีชิงเด่น เอาเปรียบคนอื่น แม้แต่สังคมและประเทศชาติเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองอยากได้ หากมองเข้าไปลึก ๆ จะพบว่า คนเราก็เพียงแค่วิ่งตามความสุขที่อยู่บั้นปลายชีวิต ด้วยความเชื่อที่ถูกฝังแน่นว่า ชีวิตที่ต้องทำงานและดิ้นรนแก่งแย่งเขานั้นจึงจะอยู่รอดปลอดภัย ทั้งที่บางคราวัตถุเป็นเพียง สัญลักษณ์แห่งความสุขที่มนุษย์อุปโลกน์ขึ้นมาเป็นเพียงแค่ความฉาบฉวย จริง ๆ แล้วความสุขที่ยั่งยืนไม่ได้อยู่ไกลจนถึงขนาดต้องวิ่งตาม ทุกอย่างอยู่ที่ใจเพียงแต่เก็บเกี่ยวจากสิ่งที่มี สิ่งที่เป็นก็สามารถเอื้อมถึงความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน "แก่นแท้ของความสุขไม่มีขาย ในขณะที่ชีวิตที่เหนื่อยล้า เพราะมัวแต่วิ่งตามหาวัตถุ ก็ไม่มีสถานบริการให้บำบัด หากแต่ต้องบ่มเพาะความคิด จิตใจของตนเอง แล้วสุขภาพจิตจะดี ความสุขที่แท้ ยั่งยืน และงอกงาม" |