แผลในปาก...บอกสุขภาพหนู


898 ผู้ชม


ยังจำความรู้สึกเวลาเกิดแผลในปาก หรือที่เราเรียกว่าแผลร้อนในกันได้ใช่มั้ยคะ จะอ้าปากพูด หรือรับประทานอาหารแต่ละครั้งช่างเจ็บปวดนัก แล้วถ้าอาการที่ว่านี้ไปเกิดกับลูกน้อย เจ้าตัวเล็กจะเจ็บขนาดไหน อย่างนี้ต้องรีบป้องกันและแก้ไขค่ะ          ยังจำความรู้สึกเวลาเกิดแผลในปาก หรือที่เราเรียกว่าแผลร้อนในกันได้ใช่มั้ยคะ จะอ้าปากพูด หรือรับประทานอาหารแต่ละครั้งช่างเจ็บปวดนัก แล้วถ้าอาการที่ว่านี้ไปเกิดกับลูกน้อย เจ้าตัวเล็กจะเจ็บขนาดไหน อย่างนี้ต้องรีบป้องกันและแก้ไขค่ะ 

แผลในปาก...บอกสุขภาพหนู

แผลในปากเกิดจากอะไร
แผลในปากหรือที่เรามักจะเรียกกันว่าร้อนใน ทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า แผลในปาก ค่ะ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Cold Sore พบได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยในเด็กนั้นพบได้ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน และถ้าเป็นในเด็กเล็กมากๆ อาจจะเป็นเชื้อราในปาก โดยแผลในปากที่พบบ่อยๆมี 4 ประเภท คือ


1. แผลร้อนใน (Apthous Ulcer) เป็นแผลที่พบได้บ่อยที่สุด ลักษณะจะเป็นแผลเดี่ยว ขอบชัด ดูก้นแผลมีสีขาวๆ เจ็บมาก แต่บางคนอาจเป็นมากกว่า 1 แผลค่ะ แผลร้อนในประเภทนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร อาจเป็นการติดเชื้อไวรันชนิดใดชนิดหนึ่ง หรืออาจเกิดจากหลายสาเหตุปนกันระหว่างที่ระบบภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอลง เช่น กำลังไม่สบาย เป็นหวัด (สำหรับผู้ใหญ่อาจเกิดจาก อดนอน หรือเกิดจากความเครียด) แผลชนิดนี้มักจะจู่โจมและเกิดในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอค่ะ
การรักษา หากลูกเป็นแผลในปากแบบแผลเดี่ยว ถ้าดูแล้วเห็นเป็นแผลเล็กๆ แผลเดียวหรือ 2 แผล แต่ลูกยังแข็งแรงดี ไม่มีอาการอื่นๆ ก็อาจไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้หายเองได้ค่ะ ไม่มีอันตรายใดๆ แต่หากลูกเจ็บมากอาจซื้อยาป้ายแผลในปากประเภทยาสเตียรอยด์ ที่มีขายเช่น Kenalog in Orabase มาทาก็ได้ค่ะ แต่ต้องระวังไม่ควรใช้มากเกินไป ควรใช้เพียงเท่าหัวไม้ขีดไฟ อาจใส่ยาที่ปลายไม้พันสำลีแล้วป้ายไปให้ตรงตำแหน่งของแผล ภายใน 2-3 วัน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปค่ะ หากใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้นใน 1-2 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อดูว่าเป็นโรคอื่นหรือไม่
2. แผลจากเชื้อเริม เชื้อเริมเป็นเชื้อที่พบบ่อยๆ ในคนทั่วไป โดยเชื้ออาจอยู่ในน้ำลายหรืออยู่บนแผลค่ะ หากผู้ใหญ่เป็นแผลจากเชื้อเริมมักจะเกิดที่บริเวณ ขอบริมฝีปาก แต่ถ้าเป็นในเด็กอาจจะเป็นตุ่มใสๆ หรือตุมแตกเป็นแผลเหมือนแผลร้อนใน บางคนเป็นหลายๆแผลในปาก ทั้งบนลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดาน แผลเหล่านี้มักเจ็บมาก บางคนเป็นมากจนรับประทานอะไรไม่ได้เลย มักเกิดในเด็กเล็กก่อนวัยเรียนค่ะ
การได้รับเชื้อส่วนใหญ่มักบอกไม่ได้ว่าได้รับเชื้อจากที่ไหน เพราะคนที่แพร่เชื้อให้มักไม่ค่อยมีอาการ หรือมีอาการน้อย แต่บางครั้งอาจพอทราบได้ เช่น ผู้ใหญ่ที่มีแผลเริมไปหอมเด็ก เด็กก็จะติดเชื้อได้ค่ะ หรือบางครั้งเด็กๆอาจ ก็ติดกันเองจากของเล่น เวลาที่เด็กเล่นด้วยกัน หรืออาจติดจากการดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ดูดน้ำจากหลอดเดียวกัน เป็นต้น
การรักษา แผลชนิดนี้จะหายได้เองเช่นกันค่ะ แต่จะทรมานเพราะเจ็บและแสบแผลมากอยู่หลายวันกว่าจะหาย ดังนั้น จึงควรพาลูกไปหาหมอถ้าสงสัยว่าจะเป็นแผลในปากจากเชื้อเริม ในกรณีที่เป็นมากคุณหมอจะสั่งยาฆ่าไวรัสให้ แต่หากเป็นไม่มากนัก คุณหมอจะให้ยาทาเพื่อลดความเจ็บปวด และอาการจะค่อยหายไปเองภายในหนึ่งสัปดาห์ค่ะ
3. แผลจากโรคมือเท้าปาก โรคนี้เกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัสค่ะ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ และมีหลายชนิดที่ทำให้เกิดโรคได้ ลักษณะที่สำคัญคือ มีแผลเหมือนแผลร้อนในหลายแผลในปาก กระพุ้งแก้ม แพดาน แต่มักจะไม่มาถึงริมฝีปาก และมีผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย เด็กอาจมีไข้หรือไม่มีก็ได้ เด็กจะรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ และบางครั้งอาจมีเพียงแผลในปากโดยไม่มีผื่นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าก็ได้ บางคนมีผื่นที่ลำตัวร่วมด้วย ส่วนใหญ่ 99% โรคมือเท้าปากจะไม่รุนแรง และหายเองได้ภายใน 7 วัน แต่ช่วง 4-5 วันแรก
แม้โรคมือเท้าปากโดยทั่วไปจะไม่มีอะไรรุนแรง มีบางรายที่ติดเชื้อจากสายพันธุ์ที่รุนแรง คือเอ็นเทอโรไวรัส เบอร์ 71 (EV-71) เพราะเชื้อชนิดนี้บางครั้งจะขึ้นสมองและทำให้เด็กๆ เป็นโรคสมองอักเสบที่รุนแรงมากๆ ได้ค่ะ โดยเด็กจะมีไข้ มักมีอาการอาเจียน ซึม และชัก แต่ยังโชคดีที่เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก จะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงจนเป็นสมองอักเสบนั้น น้อยกว่า 1 ใน 2000 ราย
การรักษา สำหรับโรคมือเท้าปากจะไม่มียารักษาจำเพาะ ต้องปล่อยให้หายเองและรักษาตามอาการค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ก็จะหายเป็นปกติ แต่หากลูกรับประทานอาหารไม่ได้จนร่างกายขาดน้ำ ที่เรียกว่า แห้งน้ำ ก็ต้องพาลูกไปให้น้ำเกลือค่ะ และถ้าลูกมีอาการไข้ ซึม อาเจียน ควรให้แพทย์ดูแลอย่างไกล้ชิดค่ะ
4. แผลจากสาเหตุอื่นๆ คนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ก็สามารถเกิดแผลในปากขึ้นได้ค่ะ เช่น แผลในปากซึ่งเป็นอาการของโรคอื่นๆ เช่น แผลในปากที่สัมพันธ์กับโรค SLE โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือแผลในปากที่สัมพันธ์กับโรคเม็ดเลือดขาวต่ำ แผลในปากที่สัมพันธ์กับโรคภูมิต้านทานบกพร่อง หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้ ยาบางชนิดก็ทำให้เกิดแผลในปากได้ด้วย
แผลนี้ไม่ธรรมดา
อาการของแผลในปากในเด็กนั้น มักจะมีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก คือ เป็นเป็นแผลขาวๆ ในปากเหมือนกัน แต่อาจสังเกตได้โดยดูอาการทั่วๆ ไป และดูตำแหน่งของแผล คือ ถ้าอาการทั่วๆ ไปดีมาก จำนวนแผลมีแค่ 1 แผล ไม่มีไข้ และอาจดีขึ้นได้โดยไม่ต้องไปพบคุณหมอ แต่หากมีแผลหลายแผล รวมทั้งมีไข้ร่วมด้วย หรือลูกมีอาการซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรพาไปหาคุณหมอค่ะ สำหรับเด็กอ่อน แผลในปากอาจเกิดจากเชื้อรา ควรให้แพทย์ตรวจเพื่อสั่งยาฆ่าเชื้อราให้ค่ะ
ป้องกันแผลในปาก
วิธีป้องกันแผลในปากจากการติดเชื้อ ที่สำคัญคือการติดเชื้อในกลุ่ม เอ็นเทอโรไวรัส และเชื้อในกลุ่มเริม วิธีการที่ดีที่สุดคือ การรักษาสุขอนามัย เช่น ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทั้งตัวลูก คุณพ่อคุณแม่และพี่เลี้ยง ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำร่วมกัน เวลารับประทานอาหารควรใช้ช้อนกลาง ในกรณีเด็กเล็กควรระวังของเล่นที่ลูกมักจะเอาเข้าปาก ก็ต้องมีการล้างทำความสะอาดด้วยนะคะ หากลูกเป็นโรคมือเท้าปาก หรือเริม ไม่ควรให้ไปเล่นกับเด็กอื่น เพราะเชื้อแพร่ติดต่อได้ง่าย สถานเลี้ยงเด็กอ่อนและโรงเรียนโดยเฉพาะอนุบาล จะให้เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก หรือเริม หยุดไปโรงเรียน เพื่อจะได้ไม่เกิดการระบาดในโรงเรียน
เป็นแผลในปากดื่มน้ำมากๆ ช่วยได้หรือไม่ 
โดยส่วนใหญ่แล้วเวลาเป็นแผลในปาก เด็กๆ มักรับประทานอาหารไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดหากเด็กได้ดื่มน้ำ ก็จะช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ
อาหารที่เหมาะสม
เมื่อเกิดแผลในปากลูกจะรับประทานอาหารลำบาก ดังนั้น อาหารที่จัดให้ลูกควรเป็นอาหารอ่อน เหลว มีรสอ่อน อาหารที่มีรสเค็มหรือเปรี้ยวจะทำให้แสบปาก นอกจากนี้ เด็กจะกินอาหารที่เย็นได้ง่ายกว่า เพราะเจ็บน้อยกว่า อาหารที่อุ่นหรือร้อน
ขึ้นชื่อว่าแผล ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใด ก็ล้วนแต่สร้างความเจ็บปวดให้ทั้งนั้น แต่ด้วยวิธีง่ายๆ ที่ช่วยป้องกันปัญหานี้ และยังช่วยให้เจ้าตัวเล็กสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง คือการรักษาสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ ซึ่งเชื่อว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรงคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้วค่ะ 


ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1544&sub_id=108&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด