สภาพจิตใจ และความกลัวของเด็ก


702 ผู้ชม


สำหรับผู้ใหญ่ที่เริ่มมีครอบครัว การได้ทราบถึงภาวะ และสภาพจิตใจของเด็ก มีส่วนให้การดูแลบุตรหลานของท่านใกล้ชิด และเข้าใจเขามากขึ้น บทความดี ๆ ชิ้นนี้จากกรมสุขภาพจิตครับ

ในที่นี้เด็ก หมายถึง วัยแรกเกิดจนถึง 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเข้าสู่วัยรุ่น ทั้งนี้อาจจะพิจารณาเป็น 3 ระยะ คือ วัยทารก วัยก่อนเรียน และวัยเรียน ในแต่ละวัยมนุษย์เรามีความต้องการตามธรรมชาติแตกต่างกันไป ถ้าได้บรรลุความต้องการก็จะเกิดความพึงพอใจ เชื่อมั่นในตนเอง มานะพยายาม และเกิดการพัฒนาบุคลิกภาพในทางที่เหมาะสม ต่อไปถ้าผิดหวังก็เกิดขัดเคือง หมดความมั่นใจ ท้อถอย รู้สึกเป็นผู้แพ้ 3 สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ เด็กเล็กมีความต้องการทางร่างกาย ได้แก่ อาหาร อากาศ น้ำ สัมผัส ฯลฯ เมื่อโตขึ้นมีการเรียนรู้มากขึ้นก็เกิดความต้องการทางอารมณ์ สังคม ความต้องการของเด็กเล็กแบ่งได้เป็น 4 อย่างคือ

1. ความต้องการความรัก (Need for Affection) เมื่อเด็กจำความได้จะรู้สึกว่าความรักอบอุ่นนั้นเป็นของสำคัญ อยากให้คนอื่นรักและได้รักคนอื่น เด็กที่มีความอบอุ่นได้รับความรักจากพ่อแม่ พี่น้อง จะมีอารมณ์แจ่มใสคงที่ ไม่มีการเอาเปรียบ อิจฉาริษยา ซึ่งตรงข้ามกับเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่น

2. ความต้องการความปลอดภัย (Need for Security) เด็กต้องการความเสมอต้นเสมอปลาย หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เด็กไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จะทำให้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในฐานะไม่ปลอดภัย

3. ความต้องการสถานะในสังคม (Need for Status) เด็กทุกคนต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อยากให้คนอื่นเอาใจใส่ และชมเชย

4. ความต้องการอิสรภาพ (Need for Independence) เด็กต้องการรับผิดชอบการงาน ต้องการทำงานเป็นอิสระตามความสามารถของตน ความต้องการเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้เด็กเกิดมีการกระทำต่างๆ หรือแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมา เพื่อสนองความต้องการที่เกิดขึ้น

อารมณ์ของเด็ก

อารมณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก และมีการพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ จนกระทั่งมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional maturity) ได้แก่ ความโกรธ ความกลัว ความรัก และความริษยา

ความโกรธของเด็ก

ความโกรธเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งใด หรือบุคคลใดมาขัดขวางความปรารถนาไว้ ทำให้เกิดความคับข้องใจ (Frustration) ถ้าผิดหวังมากก็จะโกรธมาก สำหรับเด็กเล็กความโกรธจะปรากฏให้เห็นเมื่อเด็กไม่สามารถทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ต้องการได้ หรือเมื่อการกระทำของเด็กถูกขัดขวาง การแสดงอาการโกรธจะแตกต่างกันไปตามอายุของเด็กแต่ละคน ในวัยทารก เมื่อการกระทำของเด็กถูกขัดขวาง เด็กทารกจะแสดงการร้องไห้ แสดงอาการไม่เป็นสุข แต่เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ จะแสดงออกโดยการเตะถีบสิ่งของต่างๆ ลงมือลงเท้า ร้องไห้ ด่า ขว้างปาข้าวของ หรืออาการก้าวร้าวอื่นๆ เมื่อโตขึ้นอาจจะแสดงออกในลักษณะต่างๆ กัน เช่น แสดงออกทางสีหน้า การไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย จนถึงการทำร้ายผู้อื่น ในสถานการณ์เดียวกันอาจก่อให้เกิดความกลัวในระดับอายุหนึ่ง โกรธในอีกระดับอายุหนึ่ง และอีกระดับอายุหนึ่งอาจมีการขบขันก็ได้

ความกลัวของเด็ก

ความกลัวเกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกว่าตนเองขาดความปลอดภัย(insecurity) ซึ่งจะเกิดต่อเมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทำให้เกิดขึ้น เด็กจะแสดงความกลัวโดยการร้องและแสดงอาการกระเถิบหนีตามธรรมชาติ ความกลัวมักมีสาเหตุจากการที่เด็กต้องเผชิญกับสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ โดยทันทีทันใดหรือไม่คาดฝัน เด็กอายุ 1-3 ขวบ จะแสดงอาการกลัวความมืด กลัวฝันร้าย ความกลัวของเด็กอาจเนื่องมาจากผู้ใหญ่ก็ได้ถ้าผู้ใหญ่แสดงอาการกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เด็กก็จะพลอยกลัวไปด้วย หรือเกิดจากการที่ผู้ใหญ่หลอกให้เด็กกลัวสิ่งที่ไม่มีเหตุสมควร

สิ่งต่างๆ ที่เด็กกลัว พอจะแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ

1. สัตว์ ตั้งแต่สัตว์เล็กไปจนถึงสัตว์ใหญ่

2. สถานการณ์น่ากลัว

3. ธรรมชาติที่เด็กกลัว เช่น ฟ้าผ่า

4. สิ่งนอกเหนือธรรมชาติ เช่น ผี ยักษ์ ฯลฯ

โดยทั่วไปความกลัวของเด็กขึ้นกับอายุและการเรียนรู้ วัยทารกนั้นยังมีความกลัวไม่มาก แต่เมื่อโตขึ้น รับรู้แยกแยะได้มากขึ้น ความกลัวก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ยิ่งเริ่มจินตนาการได้บางทีเด็กก็จะมีความกลัวจากจินตนาการของตนเองเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กก็จะสามารถใช้สติปัญญาความรู้ความเข้าใจต่างๆ ขจัดความกลัวในบางสิ่งบางอย่างที่เคยกลัวลงได้ ส่วนอิทธิพลของการเรียนรู้ที่มีต่อความกลัวของเด็กนั้น มองเห็นได้ค่อยข้างชัดเจน การเรียนรู้นี้อาจมาจากประสบการณ์ของเด็กโดยตรง เช่น เคยถูกสุนัขกัด ทำให้กลัวสุนัข หรือมาจากคำบอกเล่าของคนอื่น หรือมาจากจินตนาการของเด็กเอง เมื่อเด็กเกิดความกลัว ปฏิกิริยาตอบสนองโดยทั่วไป คือ พยายามหนีสิ่งที่กลัว ส่วนการเผชิญหน้าหรือกำจัดสิ่งที่กลัวนั้น เด็กไม่ค่อยจะทำ แต่ถ้าหนีทุกครั้งไป ก็ทำให้ขาดประสบการณ์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการได้ การหนีสิ่งที่กลัวโดยไม่มีเหตุผลอันควรแสดงว่าเด็กยังขาดความรู้ความเข้าใจ บางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยอธิบายเท่าที่ควร มักตัดปัญหาด้วยการบอกให้เด็กหลบหลีกสิ่งที่กลัวเสีย เมื่อโตขึ้นก็กลายเป็นคนหวาดกลัวสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีเหตุผลอยู่เสมอ ถ้าเด็กรู้จักสิ่งต่างๆ มากขึ้น ควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้นเด็กก็จะค่อยๆ หายกลัว เด็กที่ตกใจต้องการคนปลอบใจมากกว่าการดุด่า เด็กต้องการที่จะเอาชนะสถานการณ์นั้นๆ ด้วยตัวของเขาเอง ถ้าเด็กได้พบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ มากและพ่อแม่คอยช่วยแนะนำอธิบาย เด็กก็จะมีเหตุผลเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ความกลัวต่างๆ ก็จะค่อยๆ หายไป


แพทย์หญิงศรีประภา ชัยสินธพ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี
ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article286.html

อัพเดทล่าสุด