ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับออทิสติก


1,299 ผู้ชม


บทความจากสมาคมจิตเวชเด็กแห่งประเทศไทย


โรคออทิซึม


พญ.ชลทิพย์ กรัยวิเชียร

     โรคออทิซึมเป็นโรคทางจิตเวชเด็กที่มีความผิดปกติของสมอง ทำให้เกิดพัฒนาการที่ล่าช้า และผิดปกติใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม ด้านการสื่อความหมายและภาษา และการจินตนาการ
     โดยแสดงออกตั้งแต่ใน 3 ขวบปีแรก เป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติไปจากเด็กในวัยเดียวกัน เช่น ไม่สบตา แยกตัว ไม่สนใจใคร เรียกไม่หันจนไม่แน่ใจว่าได้ยินหรือไม่ เล่นไม่เป็น ไม่ชอบเล่นกับ เด็กอื่น เล่นสมมุติไม่เป็น ไม่พูด พูดเป็นภาษาที่ฟังไม่เข้าใจ พูดเลียนแบบคำพูดที่ได้ยิน หรือพูดเป็นประโยคที่เคยได้ยินมาในอดีต ถามซ้ำ ๆ โดยไม่ฟังคำตอบ มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ บางอย่างทั้งการกระทำและความคิด เช่น หมุนตัว เดินเขย่ง รับประทานอาหารซ้ำซาก มีกิจวัตรที่เป็นแบบแผนเปลี่ยนแปลงได้ยาก อารมณ์มักเปลี่ยนแปลงได้เร็ว มีปัญหาบอกความต้องการไม่ค่อยได้ ทำให้แสดงอารมณ์อย่างไม่เหมาะสม บางคนพบมีความจำดีมากในบางเรื่อง เช่น จำโลโก้ จำเส้นทาง จำยี่ห้อรถ ได้หมดแต่ความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ไม่ดีอย่างความจำ ผู้เลี้ยงดูมักรู้สึกว่าเด็กต่างจากเด็กอื่น ๆ โดยทั่วไปเด็กกลุ่มนี้มีลักษณะภายนอกปกติ มักจะมีหน้าตาน่ารัก แต่สีหน้าเฉยเมย เราเรียกเด็กที่เป็นโรคออทิซึมว่าเด็กออทิสติก ในเด็กแรกเกิด 2,000 คน พบเป็นโรคออทิซึม 1 คน โดยพบในเด็กชายมากกว่า เด็กหญิง 4 เท่า มีโอกาสพบในทุกเชื้อชาติ การศึกษา และฐานะ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรค แต่พบว่าอาการแสดงของโรคเกิดจากสมองบางส่วนทำหน้าที่ผิดปกติไป ดังนั้นปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง อาจมีผลต่อการเกิดโรคได้ เช่น ปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์ ภาวะขณะคลอด ภาวะการติดเชื้อ เป็นต้น
     ข้อสังเกต ในเด็กอายุ 1 ปี หากพบว่ามีอาการต่อไปนี้มากกว่า 2 ข้อ ให้นึกถึงโรคออทิซึม
- เด็กไม่สนใจสิ่งแวดล้อมหรือบุคคล
- เด็กยังไม่สามารถแสดงท่าทาง บอกความต้องการของตนเองได้
- เด็กยังเล่นสมมุติไม่เป็น
- เด็กไม่สามารถแสดงความสนใจร่วมกับบุคคลอื่นได้
     ในเด็กออทิสติกที่ไม่มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย หากได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว มีการรักษา 
ช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ตามศักยภาพที่มีอยู่ได้

ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article153.html

อัพเดทล่าสุด