ความรู้เบื้องต้น มะเร็งลำไส้ใหญ่


872 ผู้ชม


มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยเงียบที่มาในผู้สูงอายุ วันนี้ขอเสนอความรู้สั้น ๆ ได้ประโยชน์ว่า เกิดจากอะไร และป้องกันอย่างไรครับ

สาเหตุของโรค
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่พบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในโครโมโซมของเซลล์เยื่อบุลำไส้ ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ กัน คือ
1. ท้องผูก ผู้ที่รับประทานอาหารมีกากน้อย ทำให้ของเสียหรือสารก่อมะเร็งค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน ส่งผลให้เยื่อบุลำไส้เกิดการระคายเคืองเรื้อรังจนเกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์เยื่อบุลำไส้ 
2. เนื้อสัตว์ที่มีสีแดง ที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนสูง จนเกิด heterocyclic amines เมื่อรับประทานเข้าไปเยื่อบุลำไส้จะเกิดการระคายเคือง ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานเกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
3. กรดน้ำดี พบในรายที่ตัดถุงเก็บน้ำดีทิ้งไปทำให้ไม่มีที่เก็บน้ำดี เมื่อน้ำดีไหลผ่านจากลำไส้เล็กไปลำไส้ใหญ่จะสร้างความระคายเคืองต่อเยื่อบุลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน
4. ขาดวิตามิน ดังนั้นจึงควรรับประทานผัก และผลไม้ที่มีวิตามิน A C E และ selenium เพราะจะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลง
5. มีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ส่วนมากเป็นมาตั้งแต่กำเนิด เมื่ออายุมากขึ้นก็มีโอกาสกลายพันธุ์ไปเป็นมะเร็งได้
6. การอักเสบเรื้อรังของลำไส้ใหญ่โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์เยื่อบุไปเป็นมะเร็งได้เช่นกัน

ทราบได้อย่างไรว่าจะเป็น
ผู้ป่วยจะอุจจาระเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย ซีด เพลีย บางรายอาจจะมาด้วยอาการลำไส้อุดตัน น้ำหนักลดลงมากผิดปกติ และปวดเบ่งบริเวณทวารหนัก ในกรณีที่ลำไส้เกิดมะเร็งที่ส่วนปลาย มักมาด้วยเลือดออก แต่ถ้าอยู่ส่วนต้น มักไม่ค่อยมใอการ และอาจมาด้วยก้อน หรืออุดตัน

ตรวจอย่างไรถึงพบ
ตรวจเลือดในอุจจาระ
ตรวจผ่านรูทวารหนักด้วยนิ้ว
ตรวจผ่านรูทวารหนักด้วยการส่องกล้องตรวจและตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์
สวนแป้งแบเรี่ยมทางทวารหนัก เพื่อตรวจดูว่าตำแหน่งที่เป็นสั้นหรือยาวมากน้อยเพียงใดก้อนเล็ก หรือก้อนใหญ่รอบลำไส้ ทำให้ลำไส้อุดตัน หรือมีก้อนอื่น ๆ อีกหรือไม่ หรือมีลักษณะของเยื่อบุลำไล้อักเสบเรื้อรังเป็นแถบยาว หรือมีติ่งเนื้อยื่นออกมาแต่กำเนิดหรือไม่
เอ็กซเรย์ปอด เพื่อดูว่ามีโรคกระจายไปปอดหรือไม่
ทำอัลตร้าซาวนด์ตับ เพื่อดูว่ามีโรคกระจายไปตับหรือไม่
เจาะเลือดดูระดับ carcino embryonic antigen (CEA) (ซึ่งเป็นสารที่เซลล์มะเร็งหลั่งออกมามากผิดปกติ ในรายที่พบว่ามีระดับ CEA สูง สามารถใช้เป็นแนวทางในการตรวจติดตามผลการรักษาต่อไป

จะมีวิธีรักษาอย่างไร
แพทย์แบ่งการรักษาเป็น 3 วิธีี คือ 
- การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาหลัก โดยแพทย์จะพยายามตัดเอาก้อนออกให้หมดรวมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกด้วย
- การฉายรังสีรักษา จะให้ในรายที่ตัดไม่หมดหรือผ่าตัดไม่ได้ มีโรคลุกลามเฉพาะที่ หรือให้ในรายที่มีโรคกระจายไกล
- การให้ยารักษามะเร็ง มีข้อบ่งชี้เช่นเดียวกับรังสีรักษา ส่วนใหญ่จะให้การรักษาร่วมกันทั้ง 3 วิธี

การป้องกัน
1. รับประทานผักสด ผลไม้มาก ๆ เพื่อไม่ให้ท้องผูกทำให้ของเสียไม่เกิดการคั่งค้าง
2. รับประทานวิตามินที่เป็น antioxidant ด้วย เช่น เบต้าคาโรทีน วิตามิน A C E และ selenium
3. ในรายที่มีลำไส้อักเสบเรื้อรัง มีติ่งเนื้องอกในลำไส้มาแต่กำเนิด หรือตัดถุงน้ำดีออกไปแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเฝ้าระวังโรคอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1 - 2 ครั้ง และแพทย์อาจจะให้ยาในกลุ่ม Chemo prevention มารับประทานด้วย เพื่อลดการอักเสบของลำไส้
4. ควรตรวจหาเลือดในอุจจาระปีละครั้ง
5. ในรายที่มีอาการไม่น่าไว้วางใจ มีประวัติครอบครัว และอายุมากกว่า 50 ปี อาจจะพิจารณาส่องกล้องตรวจดูลำไส้ใหญ่ หรือทำการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์แล้วแต่แพทย์เห็นสมควร

ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article310.html

อัพเดทล่าสุด