เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปวดหัว ตอน..พบแพทย์


905 ผู้ชม


เรื่องเหล่านี้ผมคิดว่า จำเป็นสำหรับคนไข้ ที่จะต้องรู้บ้างว่าแพทย์ถามเราเรื่องอะไร เพราะอะไรบ้าง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่แพทย์ถูกสอน ผมก็เอามาถ่ายทอดเป็นภาษาง่าย ๆ เผื่อพวกเราจะเป็นหมอของตัวเองกันได้
1.วิธีการแยกโรคของแพทย์ คำถามสำคัญที่สุดคือ "ปวดมานานหรือยังและปวดอย่างไร "
เป็นคำถามสำคัญที่สุด กว่า 90 % ได้คำตอบของอาการปวดหัวจากแค่สองคำถามนี้ เราลองมาดูว่า แพทย์ถามและเราตอบนั้น จะวิเคราะห์เป็นโรคใดได้บ้าง
- ปวดมาระยะสั้น และปวดรุนแรง สิ่งที่แพทย์จะคิดถึงคือ โรคเส้นเลือดในสมอง หรือเลือดออกในสมอง โดยเฉพาะถ้าคอตึงแข็ง หรืออาเจียน อื่น ๆ คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งมักมีไข้และอาเจียน โรคเกี่ยวกับตา ซึ่งมักปวดในกระบอกตา หรือตามัว อื่น ๆ เช่นความดันสูงมากเฉียบพลัน 
- ปวดสม่ำเสมอ เหมือนเดิม นาน มักจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับปวดจากความตึงเครียด ปวดไมเกรน
- ปวดมากขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลง อาจเป็นเนื้องอกในสมอง
- ปวดสม่ำเสมออยู่ดี ๆ แล้วช่วง 1-2 เดือนมามีอาการมากขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วม อาจเป็นจากมีโรคแทรกอื่น ๆ ในคนที่เป็นไมเกรนอยู่
2.ปวดอย่างไร และมีอาการอื่น ๆ หรือไม่
- ปวดหน้าผาก มีน้ำมูก - ปวดจากไซนัสได้
- ปวดแปลบ ๆ เหมือนไฟช๊อต หน้า แก้ม โดยเฉพาะเวลาเคี้ยว - ปลายประสาทอักเสบ
- ปวดที่สุด น้ำตา น้ำมูกไหล ในวัยกลางคน มาปีละครั้งสองครั้ง สม่ำเสมอ - ปวดหัวแบบคลัสเตอร์
- ปวดมึนบ่าย หรือเวลาใช้สายตา - ตรวจสายตา
- ปวดตึงท้ายทอยเวลาเครียด หลังการทำงานหนัก - ปวดหัวธรรมดา
- ปวดเวลาออกกำลังหรือมีเพศสัมพันธ์ - อาการปวดหัวชนิดหนึ่งที่รักษาได้
- ปวดหัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามัวมากขึ้น หรือเห็นภาพซ้อน เดินเซ อ่อนแรงหรือมีชา - ระวังมะเร็งสมอง โดยเฉพาะถ้าผอมลง กินไม่ได้ 
- ปวดหัวตุบ ๆ ข้างเดียวหรือสองข้าง ก่อนปวดมีอาการเห็นแสงแปลก ๆ อาจมีคลื่นไส้ - ปวดไมเกรน
- ปวดทันทีท้ายทอย เวียนหัว อาเจียนพุ่ง อาจอ่อนแรงทันที - ระวังเส้นเลือดสมองแตก
- ปวดหัวและปากเบี้ยวตาปิดไม่สนิท อ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก - เส้นเลือดในสมองตีบได้
- ปวดหัว ปวดหู บ้านหมุน เวียนหัว - สาเหตุจากในหู
- ปวดมากขมับ ปวดเมื่อยทั้งตัว ในคนอายุมาก - เส้นเลือดอักเสบ
3.อายุ เพศ โรคประจำตัวอื่น ๆ
- อายุน้อย มักไม่ค่อยมีโรคอะไรร้ายแรง โดยเฉพาะไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ
- อายุมาก ชาย ประวัติเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดสมอง หรือประวัติโรคไขมันในเลือดสูง - ระวังโรคเกี่ยวกับเส้นโลหิตในสมอง
จะเห็นได้ว่า แค่ส่วนหนึ่งของประวัติ แพทย์ก็ต้องให้เวลากับคนไข้เพื่อการวินิจฉัยพอสมควร และการตรวจร่างกายของแพทย์ ก็จะเป็นการตรวจเพื่อยืนยันประวัติ แพทย์ที่ดี จะให้เวลากับส่วนนี้เยอะ คนไข้ก็ควรให้ประวัติที่ตรงที่สุด การวินิจฉัยจึงจะออกมาได้

ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article126.html

อัพเดทล่าสุด