คางทูม ข้อมูลจากไทยเฮลท์เอนไซโคลปีเดีย
คางทูม (Mumps/ Epidemic parotitis)
คางทูม เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำลาย โดยมากมักจะเป็นที่ต่อมน้ำลายข้างหู (parotid glands) พบมากในเด็กอายุ 6-10 ปี มักไม่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี อาจพบระบาดได้เป็นครั้งคราว
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อคางทูม ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่ม paramyxovirus) เชื้อจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัสถูกมือ หรือสิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ฯลฯ) ที่แปดเปื้อนเชื้อแบบเดียวกับไข้หวัด (1)
ระยะฟักตัว 14-20 วัน
อาการ
มักมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียและปวดในรูหูหรือหลังหู ขณะเคี้ยวหรือกลืนนำมาก่อน 1-3 วัน ต่อมาพบบริเวณข้างหูหรือขากรรไกร มีอาการปวด บวม และกดเจ็บ ผิวหนังบริเวณนั้นอาจมีลักษณะแดง ร้อน และตึง ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดร้าวที่หูขณะกลืน เคี้ยว หรืออ้าปาก บางรายอาจมีอาการบวมที่ใต้คางร่วมด้วย
2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบของต่อมน้ำลาย 2 ข้าง โดยห่างกันประมาณ 4-5 วัน
บางรายอาจมีอาการขากรรไกรบวม โดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อน หรือมีเพียงไข้ โดยขากรรไกรไม่บวมก็ได้
สิ่งตรวจพบ
ไข้ 38-40o ซ. บางรายอาจไม่มีไข้
บริเวณขากรรไกรบวม ข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
รูเปิดของท่อน้ำลายในกระพุ้งแก้ม (บริเวณตรงกับฟันกรามซี่ที่ 2) อาจมีอาการบวมเล็กน้อย
อาการแทรกซ้อน
ส่วนมากจะหายได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมา
ที่พบบ่อย ได้แก่ อัณฑะอักเสบ (orchiitis) ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาจากแอนติบอดี (ที่ถุกกระตุ้นด้วยเชื้อคางทูม )จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น อัณฑะปวดและบวม (จะปวดมากใน 1-2 วันแรก ) มักพบหลังเป็นคางทูม 7-10 วัน แต่อาจพบก่อนหรือพร้อม ๆ กับคางทูมก็ได้ ส่วนใหญ่เป็นเพียงข้างเดียวและน้อยรายที่จะกลายเป็นหมันมักพบหลังวัยแตกเนื้อหนุ่ม ( อาจพบได้ประมาณร้อยละ 25 )ในเด็กอาจพบได้บ้าง แต่น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก
อาจพบรังไข่อักเสบ ( oophoritis ) ซึ่งจะมีอาการไข้และปวดท้องน้อย มักพบในวัยแตกเนื้อสาว
อาจพบเนื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของเยื้อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุดมักจะมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง ส่วนสมองอักเสบ อาจพบได้บ้าง แต่น้อยมาก ถ้าพบอาจมีอาการรุนแรงถึงตายได้
นอกจากนี้ ยังอาจพบตับอ่อนอักเสบ หูชั้นในอักเสบ ประสาทหูอักเสบ ( อาจทำให้หูตึงหูหนวกได้ ) ไตอักเสบ ต่อมไทรอยด์อักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ล้วนเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก
การรักษา
1. ให้การักษาตามอาการเช่น ให้นอนพัก ดื่มน้ำมาก ๆ เช็ดตัวเวลามีไข้สูง ให้ยาลดไข้แก้ปวด ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่เป็นคางทูม ไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ
2. ถ้ามีอัณฑะอักเสบแทรก ให้ประคบด้วยน้ำแข็ง , ให้ยาลดไข้แก้ปวด และให้เพร็ดนิโซโลน ผู้ใหญ่ให้กินครั้งแรก 12 เม็ด (เด็กให้ขนาด 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ) ต่อไปให้วันละครั้งโดยค่อย ๆ ลดขนาดลงทีละน้อยจนเหลื่อวันละ 5-10 มิลลิกรัมภายในประมาณ 5-7 วัน ควรให้ยาลดกรดกินควบด้วยเพื่อป้องกันโรคกระเพาะ
3. ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง หรือซึมไม่ค่อยรู้สึกตัวให้ส่งโรงพยาบาล อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้เกิดจากไวรัส ถือเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่ต้องฉีดยาหรือให้ยาจำเพาะแต่อย่างใด การที่ชาวบ้านนิยมเขียน "เสือ" ด้วยตัวหนังสือจีนที่แก้มทั้ง 2 ข้าง หรือใช้ปูนป้ายแล้วหายได้นั้นก็เพราะเหตุนี้
2. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหากจนกว่าคางจะยุบบวม
3. ควรเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ หากสงสัยควรส่งไปตรวจที่โรงพยาบาล
4. เมื่อเป็นแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก
5. อาการคางบวม อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ ได้ควรซักถามอาการและตรวจร่างกายให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจดูภายในปากและลำคอ
การป้องกัน
โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน มักทำรวมในเข็มเดียวกันกับวัคซีนป้องกันหัดและหัดเยอรมันที่มีชื่อว่าเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) มักจะฉีดเมื่อเด็กอายุได้ 9-15 เดือน
ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article511.html