ไข้เลือดออก


1,039 ผู้ชม


เมื่อสองสามวันก่อน เจอคนไข้ไข้เลือดออก ในเขตที่ผู้เขียนอยู่ เลยคิดว่าน่าจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับไข้เลือดออกมาให้พวกเราได้ดูและระมัดระวังในลูกหลานของเราครับ 

ข้อมูลจาก thaihealth encyclopedia

ไข้เลือดออก เป็นการติดเชื้อไวรัส มีเชื้ออยู่สองชนิดใหญ่ๆที่ทำให้เกิดไข้เลือดออก คือเชื้อ เดงกี่ (dengue) และชิกุนกุนย่า(chigunkunya) มากกว่า 90% เกิดจากเชื้อตัวแรก เชื้อเดนกี่มี 4 พันธ์ โดยทั่วไป ในการรับเชื้อครั้งแรก มักไม่ค่อยมีอาการรุนแรงมากนัก ซึ่งสามารถเกิดในเด็ก ๆ ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป การติดเชื้อครั้งต่อไปจะรุนแรงขึ้น และภูมิคุ้มกันที่มีจะไม่ช่วยป้องกันไม่ให้เราเป็น แต่กลับทำให้การติดเชื้อครั้งหลังรุนแรงขึ้น หมายความว่าเป็นแล้ว เป็นอีกได้


 

อาการ ในการติดเชื้อครั้งแรก มักจะมีอาการไข้สูงลอย เหมือนไข้หวัดใหญ่ และจะไม่ค่อยมีอาการเลือดออกหรือช๊อค


 

ต่อมา ถ้าได้รับเชื้อซ้ำ ซึ่งอาจเป็นพันธุ์เดียวกัน หรือคนละพันธ์ ก็จะมีการกระตุ้นเกิดปฏิกิริยา จำไว้ว่า คนเป็นไข้เลือดออก แย่จากภูมิคุ้มกันของเขาเอง ที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ก่อให้เกิดอาการเลือดออก การบวมจากสารน้ำไหลออกจากหลอดเลือดที่โดนทำลาย อาจมีน้ำในปอด ตับ ลำไส้ กระเพาะ และช๊อคได้ โดยทั่วไป การติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง มักตามหลังการติดเชื้อครั้งแรก ไม่เกิน 5 ปี นั่นคือ เราพบว่า มันเป็นโรคของเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 10 ขวบ แต่ปัจจุบัน พบว่า มีการกลายพันธ์ของไข้เลือดออก ทำให้เป็นรุนแรงในผู้ใหญ่ได้


 

พาหะ ยุงลาย Aedes aegypti เป็นพาหะนำโรค ยุงนี้จะกัดคนที่เป็นโรค และไปกัดคนอื่น ๆ ในรัศมีไม่เกิน 400 เมตร ยุงนี้ชอบแพร่พันธ์ในน้ำนิ่ง หลุม โอ่งน้ำขัง และจะออกหากินในเวลากลางวัน


 

อาการของการติดเชื้อซ้ำ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้สูง จะมีไข้สูงลอย ไม่ยอมลง หน้าแดง ปวดหัว เมื่อย ดื่มน้ำบ่อย มักมีอาเจียน เบื่ออาหาร มักไม่ค่อยมีอาการหวัด คัดจมูก ไอ หรือเจ็บคอ แต่บางคนก็มี อาจมีท้องเสีย หรือท้องผูกราว ๆ 3 วันจะมีผื่นขึ้นตามตัว จุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามหน้า ซอกรักแร้ แขน ขา อาจมีปวดท้องในช่วงนี้ ถ้าทำการทดสอบที่เรียกว่า ทูร์นิเคต์(Tourniquet) โดยรัดแขนด้วยเชือกหรือเครื่องวัดความดันประมาณ 5 นาที จะพบจุดเลือดออกมากกว่า 20 จุด ในวงกลมที่วาดไว้ที่ท้องแขนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ถ้าไม่เป็นหนัก จะดีขึ้นใน 3-7 วันและเข้าสู่ระยะหาย


 

ระยะช๊อคและเลือดออก มักจะเกิดในวันที่ 3-7 ในระยะนี้ เด็กไข้ลง แต่แทนที่อาการจะดี พบว่า อาเจียนมาก ปวดท้อง ซึม กระสับกระส่าย ตัวเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะเข้ม ออกน้อย ชีพจรเต้นเบาเร็ว ความดันต่ำ ถ้าไม่รีบรักษาจะช๊อคและเสียชีวิตได้ ภายใน 1-2 วัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะมีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ เช่น จ้ำตามผิวหนัง อาเจียน ถ่าย เลือดกำเดา ประจำเดือนเป็นเลือดมาก ระยะนี้จะกินเวลา 2-3 วันและจะเข้าสู่ระยะต่อไป


 

ระยะฟื้นตัว  อาการจะดีขึ้น อาการแรกที่บ่งว่าหายคือ จะเริ่มอยากกินอาหาร มีผื่นของการหาย  ที่เป็นแดงสลับขาวแผ่ตามแขนขา ตัว


 

การรักษา ไม่มียาเฉพาะ รักษาตามอาการ พยายามให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ หรือน้ำเกลือแร่ ถ้ามีความสงสัย ว่าไข้ยังสูง มีตัวแดง เกิดในหน้าฝน ต้องรีบนำไปเทสต์ทันที


 

ห้ามให้เด็กรับประทานยา แอสไพริน หรือยาแก้อักเสบอื่น ๆ เพราะอาจทำให้เลือดออกในกระเพาะได้ ถ้าไข้ไม่ลง ให้เช็ดตัว และให้พาราเซตามอล ในกรณีที่ไข้ไม่ยอมลง ให้หมั่นเช็ดตัว อย่าให้พาราเซตามอลเกินขนาด


 

การป้องกัน


 

ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ของยุงลาย เช่น ฝาโอ่ง โอ่งน้ำ ที่รองขาตู้ กระถาง ยางรถยนต์ กระป๋อง กะลา แจกัน


 

วิธีที่สะดวกอีกแบบคือ ใส่ ทรายอะเบต(abate) ชนิด 1% ลงในตุ่มน้ำ และภาชนะ ในอัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร ควรเติมใหม่ทุก 2-3 เดือน


 

ให้เด็กนอนกางมุ้งเวลากลางวัน และในชุมชนเมื่อเข้าหน้าฝน หรือมีการระบาด ควรแจ้งอนามัยเพื่อมาจัดการทำลายแหล่งเพาะพันธ์หรือฉีดยากำจัดยุง

ข้อมูลอื่นๆที่น่าสนใจ

ข้อมูลดี ๆ จากกรมควบคุมโรคติดต่อครับ
ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article486.html

อัพเดทล่าสุด