ทำอย่างไร เมื่อลูกไอเรื้อรัง


1,109 ผู้ชม


ทำอย่างไรดี เจ้าตัวเล็กไอมาเป็นเดือนแล้ว บทความอ่านง่ายจากรายการพบหมอศิริราช อ.จักรพันธ์ สุศิวะครับ

โรคไอเรื้อรังในเด็ก
ผศ.นพ.จักรพันธ์ สุศิวะ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
1. ลักษณะใดจึงจะเรียกว่าเป็นการไอเรื้อรัง
ตอบ. การไอเป็นกลไกทางร่างกายอันหนึ่งในการป้องกันตนเองหรือกำจัดสิ่งแปลกปลอมของตนเองที่เกิดขึ้น และพยายามรักษาตนเองให้แข็งแรง ให้หายใจได้สะดวก กำจัดเสมหะ แต่ว่าถ้ามันเกิดขึ้นนาน โดยเฉพาะที่เรียกว่า "ไอเรื้อรัง" ไอเรื้อรังหมายความว่า มีอาการไอต่อเนื่องยาวนานถึง 1 เดือน ขึ้นไป ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้เด็กไอนานถึง 1 เดือนนี้ ซึ่งระยะเวลาค่อนข้างนานมาก ก็คงจำเป็นที่จะต้องพบแพทย์หรือต้องมาทำการศึกษากันว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กมีอาการไอเรื้อรัง


2. สาเหตุของการไอ เกิดจากอะไรได้บ้าง
ตอบ โดยทั่วไปของอาการไอ อย่างที่เรียกว่ามันเป็นกลไกของร่างกายในการพยายามรักษาตัวเองให้หายใจได้สะดวก หรือ กำจัดสิ่งแปลกปลอม เพราะฉะนั้นเวลาเราเป็นหวัดธรรมดาก็ดี เราก็จะไอ เวลาเราไปเจอควัน หรือว่าสิ่งที่ระคายเคืองทางเดินหายใจเราก็จะมีอาการไอ แต่อาการไอเรื้อรังมานานตั้งแต่เดือนหนึ่งขึ้นไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่กังวลใจกัน เราก็มักจะแยกแยะสาเหตุที่ทำให้คนไข้เด็ก ไอไม่รู้จักหาย ไอนาน เราก็มักจะแยกออกได้เป็น 2 อย่างด้วยกัน คือ ส่วนหนึ่งเป็นการไอจากการเป็นโรคติดเชื้อ อีกอย่างก็เป็นอาการไออันเนื่องมาจากเป็นอาการแพ้หรืออาการโรคภูมิแพ้ของร่างกายนั่นเอง ในแง่ของการไอด้วยโรคติดเชื้อนี้ ถ้าหากเราสงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อและทำให้คนไข้ไอ นอกเหนือจากไอเรื้อรังแล้วก็อาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ทานอาหารไม่ได้ เบื่ออาหาร ผอมลง น้ำหนักลด โรคที่เป็นโรคไอเรื้อรังแล้วพบกันบ่อยว่ามีมากในประเทศไทย ที่เรารู้จักกันดีก็คือ วัณโรค นั่นเอง ซึ่งก็ยังคงมีอยู่ แม้กระทั่งในเด็ก ก็สามารถที่จะป่วยเป็นวัณโรคได้ โรคติดเชื้ออีกอย่างหนึ่งที่ทำให้มีอาการไอนาน ไอโดยที่ไม่มีไข้ก็ได้ จนกระทั่งชาวบ้านเขาใช้คำว่า "ไอ 100 วัน " ซึ่งปัจจุบันนี้เราก็มีวัคซีนป้องกัน โรคนี้ก็ชื่อว่า " โรคไอกรน " ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นโรคติดเชื้อแบบหนึ่งก็คือ การได้รับเชื้อไอกรนเข้าไปแล้วก็อาจจะมีการระบาดในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ แล้วก็ทำให้เด็กมีอาการไอไม่รู้จักหาย ไอนานถึง 100 วัน จนกว่าจะมีอาการทุเลาไปได้เองในที่สุด
ส่วนการไอที่เป็นจากอาการแพ้ ซึ่งมักจะพบกันมากในระยะนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของโรคภูมิแพ้ หมายความว่า ร่างกายมีการตองสนองต่อสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งเร้าที่มากกว่าธรรมดา ก็จะทำให้มีสารหลั่งออกมามาก เช่น ถ้าแพ้ที่จมูก ก็จะมีน้ำมูกหรือคัดจมูกเรื้อรัง ถ้าแพ้ที่ทางเดินหายใจในลักษณะของการแพ้ที่หลอดลมก็จะทำให้มีหลอดลมตีบ หลอดลมมีภูมิไวเกิน มีเสมหะเรื้อรัง ก็จะทำให้ไอเรื้อรังเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นส่วนของการที่จะเดินทางไปสู่โรคภูมแพ้ที่เป็นโรคหอบหืดต่อไป ในส่วนของเด็ก นอกเหนือจากอาการแพ้ที่มีลักษณะแบบนี้แล้ว ยังมีลักษณะอาการแพ้ที่เป็นลักษณะแพ้แบบภูมิไวเกินที่หลอดลม ที่ถูกกระตุ้นด้วยการออกกำลังกายมากแล้วทำให้เด็กไอไม่รู้จักหายอีกก็ได้ ที่เราเรียกว่า เอ็กเซอร์ไซอินดิวส์ การออกกำลังกายหรือเล่นมากของเด็ก ก็จะทำให้เด็กมีอาการไอเกิดขึ้นได้ พอจะแยกแยะออกได้เป็น 2 กลุ่ม ใหญ่ ๆ คือ กลุ่มของโรคติดเชื้อ กับที่เกิดจากการแพ้


3. ลักษณะของการไอที่เกิดขึ้นจากสาเหตุที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่เชื้อจากเด็กไปสู่อีกคนหนึ่งได้หรือไม่
ตอบ อาการไอที่เกิดจากโรคติดเชื้อ ก็เนื่องจากว่ามีอาการไอ จาม ออกมา เพราะฉะนั้นก็จะสามารถแพร่กระจายโรคไปสู่คนอื่นๆ ได้ เช่น การไอเรื้อรังที่เกิดจากโรควัณโรคนี้ ส่วนใหญ่แล้วเด็กก็จะได้รับเชื้อมาจากการไอ มีเสมหะปนเชื้อวัณโรคจากผู้ใหญ่หรือคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ในแง่ของเด็กเอง เมื่อป่วยเป็นวัณโรค ก็ทำให้มีอาการไอ เด็กกลับไม่ค่อยปล่อยเชื้อออกมาทางการไอของตัวเอง แต่ว่าก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า ในบ้านเรือนหรือในชุมชนที่เขาอยู่ ได้รับเชื้อมาจากผู้ใหญ่ที่มีการแพร่เชื้อออกมา ส่วนโรคไอกรน เวลาไอจามออกมาก็พร้อมจะมีเชื้อกระจายออกมาแล้วทำให้คนอื่นติดได้ ถ้าพูดถึงลักษณะการไอ ในผู้ที่มีความชำนาญสูงมาก
ก็พอจะฟังเสียงไอแล้วแยกแยะได้ว่า ไอแบบนี้น่าจะเป็นไอที่ไม่น่ากลัว ไอแบบนี้น่าจะเป็นไอที่น่ากลัว เช่น ถ้าไอแบบแห้งๆ ไอแบบคันระคายคอ ไอเสียงเหมือนคนที่มีอะไรติดที่ลำคอ แบบนี้ก็ไม่น่ากลัว เพราะแสดงว่าไออันเนื่อมาจากหรือว่าคันและระคายคอแต่ถ้าหากว่าไอแล้วมีเสมหะ ไอจนอ้วกออกมา หรืออาเจียนมีเสมหะออกมาด้วย ไอสึกๆ ลักษณะแบบนี้ก็อาจจะเป็นการไอเนื่องจากมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างหรือในทรวงอกของรา ลักษณะแบบนี้น่ากลัวที่จะต้องพามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่า ป่วยเป็นโรคอะไรแน่ หรือว่าเสียงไอบางอย่าง ไอแบบก้องๆ อาจจะหมายถึงการไออันเนื่องมาจากมีเส้นเสียงอักเสบ หรือบางครั้งไอแล้วมีเสมหะออกมาเป็นคำ ๆ เป็นก้อน ๆ อาจจะบอกถึงอาการไอที่เนื่องมาจากมีโรคหลอดลมโป่งพอง รวมทั้งลักษณะการไอบางอย่าง เช่น ไอเป็นชุด ๆ ไม่หยุดเลย อาจจะบอกว่ามีอาการสำลักสิ่งแปลกปลอมด้วยทางเดินหายใจหรือไม่ ไอแบบไอกรนหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น
4. การที่พบเด็กไอในฤดูหนาว พบบ่อยหรือไม่ และเกิดจากอากาศที่หนาวหรือไม่
ตอบ คนเราเป็นสัตว์เลือดอุ่น พออากาศหนาวมากร่างกายก็จะต้องปรับตัวครั้งหนึ่ง ปกติแล้วหน้าหนาวที่น่ากลัวมากก็คือ อากาศเย็น มันก็ไม่ใช่เย็นเปล่า ๆ มันเย็นและแห้ง อากาศที่เย็นและแห้งจะระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจของเราทุกส่วนตั้งแต่เยื่อบุจมูกภายในลำคอ หรือทั้งเยื่อบุทางเดินหายใจของเรา คือ ในหลอดลมหรือในท่อลมด้วย อากาศที่เย็นและแห้งจะพาให้จมูกของเราต้องปรับความชื้นแล้วก็ทำให้อากาศที่เราหายใจเข้าไปในปอดอบอุ่นขึ้น ด้วยการทำให้มีเลือดมาเลี้ยงที่จมูกมากขึ้น พอมีเลือดมาเลี้ยงที่จมูกมากขึ้น เยื่อบุจมูกก็จะบวม ทำให้เกิดการคัดจมูก แล้วก็ทำให้มีน้ำมูกไหลเล็กๆ เกิดขึ้นได้ ซึ่งจากลักษณะที่ร่างกายต้องปรับตัวเพราะอากาศหนาวเย็นก็จะทำให้ภูมิต้านทานในเฉพาะที่ของเยื่อบุจมูกเกิดการบกพร่องไป ถ้าหากว่าเราไม่รักษาร่างกายให้อบอุ่น ออกไปเผชิญลมหนาวอย่างสู้ฟ้าสู้ดิน ไม่ระมัดระวังตัวเองให้ดี ก็พร้อมจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายจนทำให้ร่างกายสู้ไม่ไหว เกิดเป็นไข้ การเกิดไข้ในช่วงที่มีอากาศหนาวนี้ ก็มักจะเป็นการติดเชื้อหวัดเป็นส่วนใหญ่ ก็คือ เป็นหวัดก่อน หลังจากนั้นแล้ว แทนที่ร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่หายจากหวัดได้ แต่ว่าอากาศที่ยังเย็นต่อเนื่อง ก็จะเกิดทำให้มีลักษณะเรื้อรังหรือไม่หายง่าย ๆ นอกจากนั้นแล้วถ้าหากผู้ป่วยคนนั้นป่วยเป็นกลุ่มอาการของโรคภูมิแพ้ซ่อนเร้นอยู่ ก็คือเขามีภูมิไวหรือมีอาการต่อการแพ้มากกว่าคนธรรมดาก็จะทำให้เขาเกิดอาการไอน้ำมูกไหลยาวนานกว่าธรรมดา ก็อาจแยกแยะได้ง่าย ๆ ว่า ถ้าตัวเราเป็นหวัด เรามักจะมีองค์ประกอบของการเป็นไข้ร่วมอยู่ด้วย ปวดเนื้อปวดตัวร่วมด้วย เป็นประมาณ 1 สัปดาห์ก็หายไปได้เอง ทานยาบรรเทาอาการเพียงแค่ยาแก้ปวดลดไข้ธรรมดาก็พอ แต่ว่าถ้าหากเป็นยาวนานต่อไป ก็มักจะไม่มีไข้ร่วมด้วยแล้ว แต่อาการก็ไม่หาย อันนี้ก็ชวนให้คิดถึงว่า จะเป็นกลุ่มอาการของภูมิแพ้ซ่อนเร้นอยู่ในตัวคนผู้นั้น ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจนพร้อมกับวางแผนการรักษา มิฉะนั้นก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนของอาการแพ้ต่าง ๆ เกิดขึ้น
5. คุณพ่อคุณแม่มีวิธีการดูแลอย่างไรบ้างในเบื้องต้นก่อนที่จะมาพบแพทย์
ตอบ การป้องกันย่อมดีที่สุด ดีกว่าการต้องมารักษาที่ปลายเหตุอยู่เสมอ เรื่องแรกก็คือ ต้องอย่ากล้ามากนักที่จะใส่เสื้อตัวเดียวออกไปเผชิญกับลมหนาวแรง ๆ หรือการออกจากบ้านเป็นประจำก็ควรจะหลีกเลี่ยง คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะรักษาร่างกายเด็กให้อบอุ่นอยู่เสมอ ซึ่งก็หมายถึงทั้งตัว สวมถุงเท้า ใส่หมวกกันความหนาวเย็น รักษาร่างกายให้อบอุ่น นอกจากนั้นแล้วยังต้องรับประทานอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ แล้วก็เน้นหนักที่ต้องดื่มน้ำให้มาก ๆ อยู่เสมอ นอกจากนั้นแล้ว การออกกำลังกายในหน้าหนาวก็เป็นเรื่องที่ดีทำให้ร่างกายอบอุ่นมากขึ้น แต่ก็ไม่ควรจะเล่นให้เหนื่อยเกินไป ร่างกายก็จะอ่อนแอลง แล้วก็พร้อมที่จะไม่สบาย อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราสังเกตดูในช่วงอากาศเย็นและแห้งแบบบ้านเราก็มักจะมีลมโชยมา ที่ไหนที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือมีฝุ่นควันมาก หรือการหุงหาอาหารในบ้านเรือน สมมติว่าเราใช้เตาถ่านแล้วฟุ้งอยู่นาน ๆ ที่ไหนมีการใช้รถมอเตอร์ไซค์ ควันรถควันท่อไอเสียที่ฟุ้งแล้วได้กลิ่นเป็นเวลานานต่อเนื่องกัน พวกนี้ก็จะเกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจก็พร้อมเป็นต้นเหตุของให้เกิดความไม่สบาย หลังจากนั้นก็ตามด้วยอาการไอเรื้อรังเกิดขึ้น น่าจะสรุปได้ว่า การป้องกันที่สำคัญ ก็จะต้องรักษาร่างกายให้อบอุ่น ทานอาหารให้ครบถ้วนออกกำลังกายให้เหมาะสม สุดท้ายก็ต้องรักษาร่างกาย จิตใจให้แจ่มใส
6. การไปซื้อยามารับประทานเอง มีผลหรือมีอันตรายต่อเด็ก ๆ ควรทำหรือไม่ควรทำ
ตอบ ต้องยอมรับโดยข้อเท็จจริงว่าในการโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ เราก็เห็นโฆษณาถึงเรื่องยาแก้ไอหลายขนานด้วยกันแต่ในลักษณะวิชาการทางการแพทย์แล้ว เรายอมรับกันว่ายาแก้ไอที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ดี ก็คือการรับประทานน้ำ น้ำจัดเป็นยาแก้ไอที่ดีที่สุด แล้วก็ระหว่างน้ำเย็นกับน้ำอุ่น ก็ขอแนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นเพราะน้ำอุ่นจะทำให้ชุ่มคอและไม่ระคายเคืองในคอ แทนที่จะทานน้ำเย็น ทีนี้ยาอื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอปของยาที่ช่วยบรรเทาอาการหรือมีการโฆษณาเกิดขึ้นกันอยู่ ในแง่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยาที่ชื่อว่ายาละลายเสมหะ นั้น ในกลุ่มผูป่วยเด็ก เรายังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า เป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการไอได้ ถึงแม้จะมีการโฆษณายานี้หรือมีการใช้ยานี้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กก็ตาม เพราะฉะนั้นแล้วหากเด็กมีอาการไอ อาการไอที่เกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มอาการของไข้หวัด คือ ระคายคอ เราก็อยากจะแนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ ดื่มน้ำอุ่น ๆ หรือพยายามอย่าใช้เสียงมาก พักผ่อนให้เพียงพอ คือนอนหลับให้มากกว่าปกติ ถึงอย่างไรเด็กก็ยังคงเป็นเด็ก การส่งเสียงแหลม ส่งเสียงดัง ก็จะทำให้เด็กระคายคอมาก ก็จะทำให้เกิดอาการไอได้เราน่าจะพิจารณาในด้านของการป้องกันมากกว่า ส่วนเด็กที่อยู่ในกลุ่มของอาการหวัดและไอ ยาแก้ไอก็ยังไม่มีความจำเป็นอีกเช่นเคย อาการไอในกลุ่มของการเป็นหวัดมักจะเป็นผลจากมีการติดเชื้อไวรัสในบรรยากาศ ทำให้เด็กมีไข้ มีน้ำมูกไหล และระคายคอบ้างเล็กน้อยการรักษาร่างกายคือ การทานน้ำให้เพียงพอแล้วก็ทานยาแก้ปวดบ้าง เพียงเท่านั้นก็จะมีอาการที่ทำให้เด็กดีขึ้นได้ แต่ว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มอาการแพ้ กลุ่มอาการแพ้ก็คือ มีโรคภูมิแพ้เป็นต้นเหตุของเขา ทำให้เขามีอาการคันและระคายคอมากกว่าธรรมดา พร้อมกับทำให้เกิดอาการไออันเนื่องมาจากมีน้ำมูกไหลลงไปในคอ ทำให้คันและระคายคอ การรับประทานยาลดน้ำมูก ก็อาจจะทำให้อาการไอดีขึ้น เป็นการรักษาที่ต้นเหตุแทนที่จะมาทานยาละลายเสมหะหรือรักษาอาการไออื่น ๆ และถ้าเกิดอาการแพ้และเป็นผลทำให้มีอาการอักเสบ คือมีหลอดลมตีบตัว แล้วทำให้เกิดอาการไอ หรือเป็นกลุ่มอาการหืดก็ควรจะทานยาที่ขยายหลอดลมซึ่งเป็นยาที่ทำให้ผุ้ป่วยหายใจได้โล่ง สะดวก ก็จะบรรเทาอาการไอได้ จะเห็นว่ายาแก้ไอที่มีขายอยู่หรือยาแก้ไอที่มีชื่อว่า ยาแก้ไอละลายเสมหะแทบจะไม่มีที่ใช้ 
อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มอันตรายมาก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก็โฆษณาอยู่เสมอ คือกลุ่มยาที่มีชื่อว่า "อาการไอ" กลุ่มนี้จะมีกลุ่มของยาเสพติดบางชนิดที่รุนแรงผสมอยู่ในตัวยาด้วย กลุ่มยานี้ไม่มีที่ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กเลย เพราะว่าการให้ยาในกลุ่มนี้ในทางผูป่วยเด็ก อาจทำให้เกิดการกดการหายใจจนกระทั่งหยุดหายใจหรือติดยาได้ คือจะติดยานี้มากยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษและไม่ควรนำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก

7. ลักษณะใดที่พ่อแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์
ตอบ ถ้าไอเกิด หรือไอแบบเฉียบพลัน สิ่งที่พ่อแม่สังเกตเห็น เช่น ป่วยเป็นหวัด ไปพูดตะโกนเสียงดังมากก็เลยทำให้ไอขึ้นมา เราก็อาจจะรักษาด้วยตนเองที่บ้านก่อนก็ได้ ด้วยการให้พักการใช้เสียง ทานน้ำอุ่น ๆ แล้วก็ทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ๆ บ้านเราก็เน้นหนักไปทางข้าวต้มโจ๊ก หลังจากนั้นแล้วเราก็สังเกตดูอาการ หากมีอาการแล้วก็บรรเทาไปได้เอง ภายใน 3-5 วัน ในลักษณะของการติดเชื้อหวัดธรรมดา อย่างนั้นก็คงไม่มีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์ตรวจ ในส่วนของไอเรื้อรัง ถ้าเด็กเริ่มมีอาการไอนานขึ้นไปกว่านั้น เช่นไอนานกว่า1-2-3 สัปดาห์ จนกระทั่งเข้ากับคำจำกัดความการไอเรื้อรังว่า ไอนานถึง 1 เดือนแล้ว หากไอยาวนาน 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป ก็ควรต้องพบแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าอาการไอเกิดขึ้นเนื่องมาจากสาเหตุใด ซึ่งโดยปกติก็ต้องเฝ้าสังเกตอาการว่า อาการไอของเด็กเป็นลักษณะอย่างไร เพื่อแจ้งให้คุณหมอทราบ เช่น ไอ ตอนเช้า กลางคืน หรือตอนนอนหรือว่าไอพร้อมกับควันบุหรี่ของพ่อ ไอทุกครั้งที่เข้ามานั่งในรถ ซึ่งลักษณะอย่างนี้อาจจะพอบอกคุณหมอได้ในบางส่วน เช่น เมื่อใดที่นอนก็จะไอได้ทุกครั้งเลย อาจจะเกิดจากว่ามีน้ำมูกไหลลงไปในคอไอทุกครั้งที่เข้าไปอยู่ในรถ ซึ่งปัจจุบันรถเกือบทุกคันจะติดแอร์ มีอะไรสะสมกลิ่นไว้ในพรม ไม่ดูดฝุ่นในรถแล้วก็ฟุ้งกันอยู่ในรถโดยตลอดซึ่งเป็นสารที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มีกลิ่นหรือฝุ่นเล็กมากจนระคายตัวเด็กทุกครั้ง ซึ่งก็อาจเป็นกลุ่มของโรคภูมิแพ้ อย่างนี้เป็นต้น ไออีกอย่างก็คือไอตอนกลางคืน กลางวันเหมือนคนปกติ พอตกกลางคืนก็มีอาการไอ ก็อาจบอกได้ว่าอาการดังกล่าว อาจเป็นโรคภูมิแพ้ มักเป็นอาการไอในช่วงกลางคืน อันเนื่องมาจากอากาศมันเย็นกว่ากลางวัน แล้วก็มีผลทำให้หลอดลมมันตีบตัว ลักษณะนี้ก็จะช่วยชี้ให้คุณหมอพอจะหาแนวทางในการตรวจค้นหาโรคแล้วก็ตรวจพิสูจน์บางอย่าง เพื่อที่จะได้วินิจฉัยให้ถูกต้องและวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง นอกเหนือจากนี้แล้วก็คงต้องเฝ้าดูด้วยว่า คนอื่นเขาไอกันหรือไม่ ในละแวกท้องถิ่นของเรา อาจจะบอกถึงมีการระบาดของโรคในช่วงนั้นหรือไม่ รวมทั้งการที่เราอยู่ในบ้านช่องอย่างไร บ้านเราอากาศถ่ายเทได้สะดวกหรือไม่ เราไปเที่ยวไปอยู่ที่ไหนมาหรือเปล่า ไปกระทบร้อนกระทบเย็นมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะเป็นข้อมูลแจ้งให้คุณหมอทราบ

8. วิธีการรักษาในกรณีที่ไอเรื้อรังมาก ๆ จะมีวิธีการรักษาในปัจจุบันอย่างไร
ตอบ แนวทางการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมในกรณีไอเรื้อรังก็ต้องได้มาจากการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง อย่างเช่น เราพูดกันถึงโรคติดเชื้อกับไม่ใช่โรคติดเชื้อ ถ้าสมมติว่าอาการไอเรื้อรังในเด็กนั้นเป็นสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อ ซึ่งโรคที่ยังมีชื่อเสียงในบ้านเราก็คือ โรควัณโรค ถ้าเราคาดว่าการวินิจฉัยของโรคน่าจะเป็นจากวัณโรค ทำให้เด็กคนนี้ไอเรื้อรังซึ่งเราจะได้เงื่อนงำจากการให้ประวัติจากพ่อแม่ว่า มีผู้ป่วยเป็นวัณโรคในละแวกบ้านใกล้เคียง หรืออาจจะไม่ทราบก็ได้ แต่ว่าเราอาจจะเห็นคนคนนี้เขาไอเรื้อรังเกิดขึ้น และอาการไอของน้องนี้มีอาการไอยาวนานเหลือเกิน พร้อมกับมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้เรื้อรังไม่รู้จักหาย เลี้ยงไม่โต รวมทั้งผอมลง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย เมื่อจะให้การรักษาเราก็คงตรวจค้นให้ชัดเจนว่าเขาป่วยเป็นโรควัณโรค ซึ่งอาจจะได้มาจากเงื่อนงำการฉายภาพรังสีทรวงอกดูชัดเจน การทดสอบว่าได้รับเชื้อวัณโรคเข้าไปมากน้อยแค่ไหน ถ้าเรารู้ว่าเขาเป็นวัณโรค เมื่อนั้นเราก็จะให้การรักษาด้วยการให้ยาต้านเชื้อวัณโรคเข้าไปกับคนไข้ ถ้าการวินิจฉัยถูกต้อง การให้ยาตามผลการรักษานั้นก็จะถูกต้อง ทำให้เขาหาย อย่างโรคติดเชื้อตัวที่สองที่เราพูดไปชื่อว่า โรคไอกรน โรคนี้กว่าจะวินิจฉัยได้ ค่อนข้างยาก เพราะต้องแยกออกจากโรคอื่น ๆ ไปก่อน แล้วเราก็ซักประวัติได้ว่า ในทางผู้ป่วยเด็กคนนี้ เขาไม่เคยได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาเลยเผอิญเข้าอยู่ในแหล่งของคนที่เขาไอไม่รู้จักหาย แล้วเขาก็ไอต่อเนื่องยาวนานมา ทีแรกก็มีน้ำมูกไหลเฉย ๆ ก่อน ต่อมาก็ไออย่างเดียว บางครั้งไอจนอาเจียน ไอแล้วบางทีหายใจไม่ออก บางครั้งไอจนหน้าเขียว บางครั้งไอเสียงเหมือนปืนกล ถ้าเราเห็นเป็นแบบนั้น เรามาตรวจเลือดกัน เรามาฉายภาพรังสีทรวงอกกัน แล้วมีข้อมูลสนับสนุนว่าติดเชื้อวัณโรค ถ้าเห็นเป็นอย่างนั้น เราอาจจะให้ยาต้านเชื้อวัณโรค อาจจะช่วยบรรเทาอาการได้เล็กน้อย แต่ว่าโดยทั่วไปเรามักค่อย ๆ แนะนำคุณพ่อคุณแม่แล้วก็ให้อาการค่อย ๆ หายไป แต่ถ้าอาการไอซึ่งเกิดขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่กว่าโรคติดเชื้อ คือ กลุ่มอาการแพ้ กลุ่มนี้เกิดขึ้นแล้วทำให้อาการไอเรื้อรังไม่หาย ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับอากาศที่หนาวเย็น แล้วทำให้มีอาการหลอดลมตีบตัวก็ดี หรือเล่นมากแล้วทำให้หลอดลมตีบตัวก็ดี เกิดอาการไอเรื้อรังเกิดขึ้น ลักษณะอย่างนี้เราก็มักจะได้ประวัติจากพ่อแม่ก่อนว่า เขามีโรคภูมิแพ้ในครอบครัว พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อาเขาก็เป็น แล้วน้องก็มีอาการไอเรื้อรังต่อมาไม่หาย เคยป่วยเป็นโรคลมพิษ ซึ่งเป็นกลุ่มของโรคภูมิแพ้ เคยแพ้อาหารบางอย่างคุณหมอก็ตชจะมาตรวจร่างกายให้ชัดเจนแล้วก็มาฉายภาพรังสีทรวงอก แล้วก็มาทำการวัดประเมินสมรรถภาพทางปอด แล้วก็มียาพ่นขยายหลอดลมแบบนี้ เป็นต้น ถ้าเห็นว่าเป็นแบบนี้ การวางแผนในการรักษาในลักษณะของอาการไออันเนื่องมาจากโรคภูมิแพ้ ก็ต้องให้ยาขยายหลอดลม ซึ่งก็อยู่ในรูปของเด็กเล็ก ไม่สามารถพ่นยาได้อย่างดีนัก ก็อาจจะให้ยารับประทาน เด็กโต เห็นว่าตอบสนองต่อยาพ่น พ่นยาได้ดี สูดยาเข้าไปทางปอดสำเร็จได้ผลดี ก็วางแผนการรักษาด้วยการสูดยาหรือพ่นยาเข้าไปทางปอด ถ้าวินิจฉัยถูก รักษาถูกคนไข้ก็จะดีขึ้น หยุดอาการไอเรื้อรังที่ไอไม่รู้จักหายเกิดขึ้นได้ครับ

ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article260.html

อัพเดทล่าสุด