ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง


742 ผู้ชม


เมื่อไรก็ตามที่ผมออกคลินิค มีหลายครั้งที่มักมีคนเข้ามาถามว่า อาการของโรคความดันโลหิตสูงเป็นอย่างไร ผมมักบอกเสมอว่า มันไม่มีอาการจนกว่าจะเป็นมาก และแนะนำให้เขามาตรวจวัดความดันเสมอ 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความดันโลหิตสูง
ตัวเลขความดันโลหิตที่วัดได้หมายถึงอะไร? 
ถ้าคุณเป็นโรคความดันโลหิตสูง นั่นคือ ความดันโลหิตที่วัดได้ จะเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือสูงกว่า (ค่าปกติจะอยู่ประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท) ตัวเลขแรก แสดงถึงแรงดันในเส้นเลือดแดง เมื่อหัวใจฉีดเลือดออกจากหัวใจห้องล่างซ้ายแต่ละครั้ง คือsystolic ตัวเลขที่สอง แสดงถึงแรงดันในเส้นเลือดแดง เมื่อหัวใจอยู่ในช่วงพักระหว่างการสูบฉีดเลือดแต่ละครั้ง คือ diastolic บางครั้งคนชอบเรียกว่าตัวบน กับตัวล่าง องค์การอนามัยโลก ให้คำนิยามว่า คือการที่ความดันสูงกว่า 140/90 มากกว่า 2 ครั้งในการวัดห่างกัน 1 เดือนขึ้นไป จึงจะถือว่าเป็น ความดันตัวล่าง จะถือว่ามีความสำคัญกว่า เช่นในผู้สูงอายุที่มีความดันตัวบนสูงอย่างเดียว อาจเป็นปกติจากเส้นเลือดขาดความยืดหยุ่นได้ แต่ถ้าตัวล่างสูง จะมีปัญหาทันที


อะไรคือสาเหตุของความดันโลหิตสูง?
ส่วนใหญ่มักไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ส่วนน้อยมีสาเหตุจากโรคของไต ต่อมหมวกไต โรคทางระบบประสาทส่วนกลาง โรคของหลอดเลือดแดงและอื่นๆ แต่..ไม่ว่าความดันโลหิตของคุณจะสูงจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องพยายามควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติให้ได้

อาการ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ยกเว้นจะมีบางคน มึน ๆ บริเวณท้ายทอย หรือถ้าขึ้นสูงมาก ๆ อาจมีอาการของเส้นเลือดตีบในสมอง เวียน ตาลาย อ่อนแรง อาเจียน นั่นหมายถึงมาพบแพทย์ด่วน

ถ้าควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ จะเกิดอะไรขึ้น?
สิ่งที่จะตามมาคือ หัวใจล้มเหลว (หัวใจวาย) อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือไตวาย

ทำอย่างไรจึงจะลดความดันโลหิตได้?
 
 หยุดสูบบุหรี่ นอกจากจะลดความดันโลหิตลงแล้ว ยังช่วยลดโอกาสที่จะเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ลดโรคของปอด 
และโรคของหลอดเลือดที่อื่นๆ ด้วย
 ลดน้ำหนัก ถ้าคุณอ้วน น้ำหนักส่วนเกินทำให้หัวใจของคุณต้องทำงานหนักตามไปด้วย
 จำกัดอาหารเค็มและอาหารไขมัน ยิ่งเค็มมากยิ่งทำให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้น
 ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ทำให้ความดันในเส้นเลือดแดงเพิ่มขึ้น
 ออกกำลังกายชนิดที่คุณทำได้ และต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินวันละ 20 นาที ทุกๆ วัน
 รับประทานยาลดความดันโลหิตตามแพทย์สั่ง อย่าละเลยแม้แต่มื้อเดียว ถึงแม้คุณจะรู้สึกสบายดี ถ้าคุณรู้สึก
อยากลดยาด้วยเหตุผลใดก็ตาม ให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลคุณก่อนเสมอ 

ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article246.html

อัพเดทล่าสุด