อาการหอบหืดในเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียนจากการศึกษาวิจัยในเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียน อายุ 2-5 ปี จำนวน 689 คน พบว่าผู้ปกครอง และคุณครูรายงานอาการหอบหืดและการกำเริบของอาการหอบหืดมากถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด
ในขณะเดียวกันผู้ปกครองรายงานว่าเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียนเรียนมีการกำเริบของอาการและต้องไปพบแพทย์บ่อยมาก อีกทั้งได้รับการรักษาควบคุมอาการด้วยยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานบ่อยกว่าเด็กในวัยอื่นๆ คณะผู้วิจัยประเมินว่าข้อมูลดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริง สาเหตุที่สำคัญเป็นเพราะอาการหอบในเด็กเล็กนั้นผู้ป่วยไม่สามารถบอกเองได้ ต้องอาศัยการสอบถามข้อมูลจากผู้ปกครอง บิดามารดา ทำให้ข้อมูลที่ได้ทำการเก็บรวบรวมน่าจะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
การวินิจฉัยเด็กเล็ก หรือเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียนที่มีอาการหอบหืด คำที่ใช้เรียกกลุ่มอาการนี้มีหลากหลายและแตกต่างกัน ในสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า asthmatic bronchitis ในประเทศสวีเดนใช้คำว่า obstructive bronchitis ในประเทศนอรเวย์ใช้คำว่าbronchiolitis อาการเหล่านี้เป็นโรคในกลุ่มเดียวกันที่มีความแตกต่างกันบางประการ ไม่ได้เป็นโรคเดียวกันทั้งหมด กลุ่มที่เป็นโรคภูมิแพ้ชัดเจนพบว่าเมื่อโตขึ้นจะมีอาการของโรคภูมิแพ้โรคใดโรคหนึ่งปรากฎอย่างเด่นชัด จากการศึกษาในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่เป็นหอบหืด พบว่าร้อยละ 80 ของกลุ่มนี้จะมีอาการก่อนอายุ 2 ปี
อย่างไรก็ดี เด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียนกลุ่มหนึ่งจะเกิดอาการหอบหืดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักจะหายไปเมื่อโตขึ้น บางคนมีลักษณะที่อยู่กึ่งกลางระหว่างภูมิแพ้กับหอบหืดจากการติดเชื้อไวรัส ไม่สามารถแบ่งแยกกันได้อย่างเด็ดขาดชัดเจน ทำให้สามารถมองเห็นภาพทั้งหมดของกลุ่มอาการ "cough and wheeze" ในเด็กเล็กได้ว่าประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ ที่อาจแยกออกจากกันได้ยาก หรืออีกนัยหนึ่งอาการอย่างเดียวกันอาจเกิดจากโรคที่มีพยาธิสภาพที่แตกต่างกันก็ได้
การรักษาในปัจจุบันใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ชนิดพ่น เช่น fluticasone 200 microgram ติดตามการตอบสนองของการรักษาอย่างใกล้ชนิด และใช้ยาต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง ในกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเท่าที่ควรอาจพิจารณาใช้ยาต้านสารลิวโคไทรอีน montelukast ร่วมด้วย พบว่าผลการรักษาและป้องกันอาการหอบหืดดีขึ้นมาก ก่อนหน้านี้มีการศึกษาวิจัยวัดปริมาณของสาร leukotriene ในสารคัดหลั่งของเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้พบว่าสูงกว่าคนที่ไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
นอกจากนี้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับจีโนมิกส์ พบว่าเด็กที่มี polymorphism ของ IL-8 gene หรือยีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง IL-4 และ IL-10 จะไม่เป็นโรคหอบหืดและอาการต่าง ๆ อาจหายไปได้เมื่อโตขึ้น แต่การวินิจฉัยจากลักษณะอาการทางคลินิกและพยาธิสภาพของหลอดลมไม่สามารถแยกจากเด็กที่เป็นโรคหอบหืดตอนโตได้ จะเห็นได้ว่าความรู้ใหม่นี้จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นตัวชี้ disease predictor ได้เป็นอย่างดีในอนาคตอันใกล้
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1244&sub_id=2&ref_main_id=2