คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หมาดมักมีเรื่องกังวลในการเลี้ยงลูกอ่อนจนอาจทำอะไรไม่ถูก มาดูกันค่ะว่ามีเรื่องอะไรบ้าง และคุณพ่อคุณแม่จะรับมือกับเรื่องเหล่านั้นอย่างไร
1.น้ำเข้าหูและจมูกขณะอาบน้ำ
วิธีรับมือ : จับลูกนอนตะแคงไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ต้องเขย่าตัว หรือจับหัวคว่ำหรือหงายนะคะ ให้ใช้คอตตอนบัตเช็ดหรือใช้ลูกสูบยางดูดออกมา โดยธรรมชาติน้ำจะถูกกำจัดออกไปเอง ยกเว้นถ้าลูกเป็นหวัดแล้วมีน้ำเข้าหู มีโอกาสที่แก้วหูชั้นกลางอักเสบ หรือถ้าเด็กมีแก้วหูทะลุอยู่แล้วและมีน้ำเข้าก็จะไปเพิ่มการติดเชื้อในหูของเขาได้ค่ะ
2.ลูกสำลักนม น้ำ ข้าวหรือสิ่งแปลกปลอม
วิธีรับมือ : เช็กเรื่องการไหลของน้ำนม ถ้าไหลเร็วและมากเกินไป เวลาลูกดูดใช้นิ้วคีบที่หัวนมเอาไว้ และระวังไม่ให้เต้านมไปปิดปากหรือจมูกของลูกด้วย
ส่วนการป้อนน้ำจากขวดก็ควรตรวจเรื่องความร้อนและการไหลของน้ำ อย่าปล่อยให้น้ำไหลเร็ว เพราะเด็กอาจกลืนไม่ทันแล้วเกิดอาการสำลักน้ำได้
ข้าวและสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ส่วนมากจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป โดยมากจะพบในกรณีของว่าง เช่น ถั่วหรือขนมที่เป็นเม็ด ที่เด็กยังเคี้ยวไม่ได้ ทำให้เกิดอาการติดคอหรือสำลักได้ ควรให้ลูกนอนตะแคงใช้ผ้าอ้อมพันนิ้วหรือลูกสูบยางดูดออกมา
ถ้าสำลักขั้นร้ายแรง น้ำหรือนมเข้าปอดแล้วเกิดอาการปอดบวม อาการคือตัวเขียว เหมือนจะหยุดหายใจ ควรรีบเอาลูกสูบยางดูดแล้วรีบน้ำส่งโรงพยาบาลค่ะ
3.สิ่งสกปรกเข้าหู
วิธีรับมือ : คุณหมอไม่แนะนำให้แคะหูให้ลูก เพราะจะไปดันสิ่งสกปรกเข้าไปข้างใน ซึ่งโดยธรรมชาติสิ่งสกปรกจะออกมาเป็นไขแล้วหลุดลอกออกมาเอง ถ้าดันเข้าไปก็ยิ่งเข้าไปสะสมจนแข็งต้องพาไปพบแพทย์เพื่อดูดออก
แต่ถ้ามีเลือดออกควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าแคะไปโดนอะไร ขั้นร้ายแรงที่สุดคือแก้วหูทะลุจะมีการอักเสบของหูชั้นกลาง มีน้ำหนองอยู่ในหู ที่ส่งผลต่อการได้ยิน และการพูดอาจไม่ชัด
4.ตัดเล็บเลือดออก
วิธีรับมือ : ประมาณ 2 อาทิตย์แรกลูกจะเริ่มมีเล็บยาวขึ้น ก่อนตัดควรใช้โลชั่นหรือนำมือและเท้าไปแช่น้ำเพื่อให้นิ่มและตัดได้ง่าย การตัดควรเว้นเนื้อเล็บสีขาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ใช้กรรไกรสำหรับทารกโดยเฉพาะ และใช้แอลกอฮอล์เช็ดก่อนทุกครั้ง
ถ้ามีเลือดออกควรทำความสะอาดล้างด้วยน้ำเกลือหรือฟอกสบู่ให้สะอาดแล้วใส่เบตาดีน ถ้ากลัวลูกอมนิ้วก็เอาผ้าพันได้
5.น้ำร้อนเกินไป
วิธีรับมือ : น้ำร้อนที่จะใช้กับลูกควรมีการตรวจสอบก่อนเสมอ อย่าให้ร้อนจนเกินไปเพราะอาจจะลวกตัวหรือปากของลูกได้ค่ะ
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อลูกโดนน้ำร้อนลวกตัว ควรรีบพาลูกขึ้นจากน้ำทันที ใช้ผ้าเช็ดตัวให้แห้งใช้ผ้าอ้อมสะอาดพันหลวมๆ ไว้ ไม่ต้องใช้น้ำเย็น ขี้ผึ้ง น้ำปลา ยาสีฟันหรือว่านหางจระเข้ทา เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้ง่าย
-อย่าอุ้มลูกแบบเขย่าตัว เพราะการควบคุมกล้ามเนื้อคอของลูกยังไม่แข็งแรง ควรอุ้มแบบประคองที่ต้นคอ ไม่ควรโยกหรือให้ลูกนอนในเปลซึ่งคล้ายการเขย่าตัว เพราะอาจเกิดอันตรายทำให้เส้นเลือดในส่วนของสมองระหว่างตัวเปลือกสมองกับกะโหลกศีรษะ ที่เรียกว่าDura มีภาวะเลือดออกทางสมอง มีอาการซึม อาเจียน ภาวการณ์รับรู้สติลดลง ชักและหมดสติในที่สุด -ท่านอนดีที่สุด คือท่านอนหงาย ส่วนการนอนตะแคงทางด้านขวาหลังจากดูดนมหรือกินข้าวจะช่วยให้อาหารไหลลงกระเพราด้านซ้ายได้เร็วขึ้น หากให้ลูกนอนคว่ำอาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรค SIDS หรือการนอนแล้วเสียชีวิตโดยไม่รู้สาเหตุได้ |
ทุกเรื่องมีทางแก้ไขเสมอค่ะ พ่อแม่มือใหม่พลั้งเผลอกันได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือสติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แก้ไขทันที ลูกน้อยก็สบายตัวไวขึ้น คุณแม่ก็สบายใจไวขึ้นด้วยเช่นกันค่ะ
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1134&sub_id=2&ref_main_id=2