คิดต่างได้ แต่ไม่แตกแยก


1,232 ผู้ชม


คิดต่างได้ แต่ไม่แตกแยก ความคิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งอยู่ในตัวตน ความคิดให้ผลทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลาย พลังความคิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงสภาพของสังคมด้วย         คิดต่างได้ แต่ไม่แตกแยก ความคิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งอยู่ในตัวตน ความคิดให้ผลทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลาย พลังความคิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงสภาพของสังคมด้วย 

 

 


รุนแรง ตึงเครียด ก่อให้เกิดความฉุนเฉียว ความโกรธ มีคำพูดและการกระทำที่รุนแรง เป็นโทษตามมา

....

แต่ในความจริงของสังคมทุกวันนี้ คำถามหนึ่งที่ค้างคาใจและสร้างความวิตกกังวลให้กับพ่อแม่ได้มากมาย ก็คือเด็กๆ วันนี้จะเติบโตอย่างไร ท่ามกลางสังคมที่มีความคิดแตกแยก

รักลูกจึงอยากชวนคุณๆ มาร่วมกันหาคำตอบค่ะ

 

ความคิดแตกต่าง Vs ความคิดแตกแยก

2 คำนี้ฟังเผินๆ ดูเหมือนว่าความหมายจะใกล้เคียงกัน แต่จริงๆ แล้วมีความแตกต่างกันอยู่

ความคิดแตกต่าง หมายถึงการคิดได้หลายแบบ หลายอย่าง แต่ว่ายังรวมอยู่ด้วยกันได้ เพราะบนโลกนี้ ทุกอย่างมีความแตกต่างกัน ไม่ได้มีอะไรเหมือนกัน แม้กระทั่งในครอบครัวเดียวกันยังมี พ่อ แม่ ลูก ปู่ย่า ตายาย มีความแตกต่างแต่ก็สามารถรวมกันเป็นคำว่าครอบครัวได้

ความคิดแตกแยก หมายถึงการแยกออกจากกัน ไม่รวมกัน คำว่าแตกแยก จะถูกมองว่าเป็นด้านลบ แต่ว่าในความแตกแยกนั้น อาจจะมีที่มาที่ไปจากมุมมองที่แตกต่างกัน แม้คำว่ามุมมองที่แตกต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความต้องแตกแยกเสมอไปค่ะ

ความแตกแยกเกิดจาก...การที่คนเรามีทัศนคติ หรือเจตคติโน้มเอียง หรือยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามมุมมองของตนเอง หรือตามสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเอนเอียงไปทางทัศนคติเชิงลบ

แต่พ่อแม่สร้างรากฐานดีงามให้กับลูกตั้งแต่เล็กให้มีความคิดเชิงบวก ก็จะเป็นเกราะป้องกันชั้นเยี่ยม แม้คิดต่าง แต่จะไม่เกิดความแตกแยกค่ะ

 

ปลูกฝังความคิดเชิงบวก =ไม่แตกแยก

ความคิดของเด็ก เปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์น้อยๆ ที่เจริญเติบโตเป็นความรู้สึก ไปเป็นการกระทำ สู่นิสัย และกลายเป็นบุคลิกภาพติดตัว

ดังนั้น ถ้าอยากให้เติบโตเป็นต้นไม้ที่สวยงามได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยที่ดีด้วยสองมือพ่อแม่ดังนี้ค่ะ

เติมความรัก ความเข้าใจ เป็นรากฐานชีวิตที่ดีที่สุดให้กับลูกตั้งแต่ขวบปีแรก การที่พ่อแม่มอบความรัก ใส่ใจลูกอย่างเต็มที่ และเข้าใจถึงความต้องการของลูกแต่ละช่วงวัย จะสร้างความรู้สึกไว้วางใจ ปลอดภัย มั่นคงในชีวิตให้กับลูกค่ะ

 

ให้เวลา ใกล้ชิด ในการที่จะพูดคุยกับลูก และควรเป็นเวลาคุณภาพ คือการอยู่ด้วยกัน บางทีอาจจะไม่ได้คุยกันมาก แต่อยู่ด้วยกันก็ยังดีค่ะ แม้จะเป็นช่วงเวลาน้อย มีปฏิสัมพันธ์กันน้อย แต่ก็ยังดีกว่าต่างคนต่างอยู่ เช่น นั่งดูโทรทัศน์ด้วยกัน คอยแนะนำ หรือชี้แนะอยู่ข้างๆ กัน ส่งเสริมให้ลูกได้คิดเป็น โดยใช้วิธีการตั้งคำถามให้ลูกได้คิดเอง หรือให้ลูกได้ลองผิดลองถูกเอง ถ้าพ่อแม่สามารถทำให้บรรยากาศเป็นแบบนี้ได้ ลูกก็รู้ว่าพ่อแม่ห่วงใย เกิดความรู้สึกมั่นคงในชีวิต

 

รับฟัง เห็นอกเห็นใจ เปิดใจและรับฟังปัญหาของลูก และคอยเป็นที่ปรึกษาที่ดี บางครั้งพ่อแม่มักจะคาดหวังลูกแบบหนึ่ง ส่วนลูกก็คาดหวังพ่อแม่อีกแบบหนึ่ง ทำให้ความคิดสวนทางกัน ควรเปิดใจรับฟังกันบ้าง เพื่อเข้าใจปัญหาของกันและกัน ถ้าได้คุยกัน รับฟังถึงความต้องการของกันและกัน ก็จะเดินไปในทางเดียวกัน เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน และทำตามความต้องการของอีกฝ่ายอย่างเต็มใจ

 

สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวหล่อหลอม และปลูกฝังความคิดเชิงบวกให้กับลูก รวมถึงคนรอบข้างด้วย ไม่ว่าเจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็จะไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ

 

ทัศนคติเชิงลบ = ตัวการสร้างความแตกแยก

ตัวการที่ส่งผลให้เด็กๆ เกิดความคิดแตกแยก แล้วสร้างทัศนคติเชิงลบ จนเป็นเด็กที่มีความคิด และพฤติกรรมก้าวร้าวได้ มาจากหลายส่วนค่ะ ทั้งครอบครัว โรงเรียน และสื่อต่างๆ

 

1. ครอบครัว หน่วยเล็กสุด แต่ส่งผลมากสุด

สภาพแวดล้อมภายในครอบครัวแบบนี้ ทำให้ลูกเกิดความคิดเชิงลบค่ะ

 

สภาพครอบครัวการที่ทะเลาะกัน หรือการพยายามโจมตีซึ่งกันและกัน ด้วยคำพูดก็แล้วแต่ เวลาเถียงกันใช้อารมณ์เข้าหากัน ใครใช้อารมณ์ได้แรงกว่าก็ชนะไป ซึ่งการใช้วิธีชนะกันด้วยอารมณ์ไม่ใช่วิธีการที่ถูก เด็กๆ ก็ซึมซับ เพราะมันไม่ใช่วิธีการของเหตุผล และเป็นวิธีการที่ปราศจากความเข้าใจ ทำให้เด็กมีแต่ความคิดเชิงลบ และเคยชินกับภาพที่เลวร้าย จิตใจหดหู่

พ่อแม่ไม่ค่อยได้ใช้เวลากับลูก คือไม่ได้คอยชี้แนะ หรือให้มุมมองเชิงบวก ให้ลูกมองเห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นก็ตาม ทำให้เด็กไม่สามารถพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

 

ไม่ได้ใส่มุมมองด้านบวกให้ลูกเห็น การที่ไม่ว่าสถานการณ์ใดจะเกิดขึ้น ไม่สามารถชี้แนะให้ลูกมองเห็นทั้งด้านบวก และลบของสถานการณ์นั้น ว่าถ้าเป็นด้านลบจะคลี่คลายอย่างไร ถ้าด้านบวกจะทำอย่างไร ทำให้ลูกไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าอะไรดี หรืออะไรไม่ดี เช่น ลูกเจอเพื่อนไม่ดี ชวนหนีเรียนก็ใจอ่อนไปกับเพื่อน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี พ่อแม่รู้ก็ดุด่า ไม่สนใจไปเลยก็มี

เด็กก็ยิ่งจมอยู่กับสิ่งที่เลวร้าย บ่อยๆ เข้าก็ทำให้เด็กเห็นแต่สิ่งที่เป็นด้านลบและเก็บเกี่ยวแต่คุณสมบัติด้านลบด้านเดียว ซึมซับเข้าไปในตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมองเห็นด้านลบเป็นบวกค่ะ

 

2. โรงเรียน กล่อมเกลา หรือบ่มเพาะ ความแตกแยก

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าบทบาทของโรงเรียน และครู ที่กล่อมเกลา ขัดเกลา ให้เด็กมีแบบแผนขึ้น และต่อยอดจากกระบวนการบ่มเพาะของพ่อแม่มาขัดเกลาให้เป็นรูปทรงสวยงามมากขึ้นนั้น มันเริ่มจะเจือจางลงไปค่ะ โดยครูหันไปเน้นเรื่องการเรียนการสอนมากกว่าการกลับเข้าไปสู่เรื่องของทักษะชีวิต

 

นอกจากนี้ยังมีส่วนที่บ่มเพาะความรุนแรงมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเด็กกับเด็กเท่านั้น ครูกับนักเรียนเอง โดยการที่ครูใช้อำนาจกับเด็ก เช่น การสั่ง อย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งการใช้อำนาจกับเด็กส่งผล 2 อย่างคือ

1. เด็กเห็นแบบอย่างที่ไม่ดีของครู

2. ครูทำให้เด็กเก็บกด เป็นทุกข์ เครียด และระบายออกมาในรูปแบบความโกรธ ความก้าวร้าว

ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้ความร่วมมือร่วมกันระหว่าง พ่อแม่ ครู โรงเรียนที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จริงใจ เพื่อลดการซึมซับความรุนแรงในเด็ก

 

3. สื่อ เข้าถึงง่าย แต่กำจัดยาก

สื่อในบ้าน ทั้งโทรทัศน์ โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นระบบภาพเสมือนจริง ไม่ว่าจะเกม ภาพต่างๆ ซึ่งเลียนแบบโลกความเป็นจริง แล้วเด็กก็ไปเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้กับโลกความจริงด้วยตัวของเขาเองง่ายมาก และกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของเด็ก สื่อจึงกลายเป็นตัวการสำคัญที่สร้างความแตกต่างของความคิดได้ง่ายดายมากค่ะ

แต่สื่อก็มีหลายประเภท อยู่ที่พ่อแม่จะเป็นผู้คัดกรองเบื้องต้นที่ดีหรือไม่ ซึ่งสื่อที่เสนอข่าวความรุนแรงทางการเมืองก็มีผลมาก การใช้คำพูด และความรุนแรงจากสื่อที่เป็นข่าวก็ดี สารคดี หรือหนังก็ดี ซึ่งพ่อแม่จำเป็นต้องใส่ใจ การที่จะห้ามเลยก็เป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น มีปัจจัยกำจัดดังนี้ค่ะ

1. ใช้วิธีจำกัดชั่วโมง หรือตั้งกฎเกณฑ์ให้มีขอบเขตมากขึ้น

2. คอยอธิบาย แนะนำให้เด็กเข้าใจอยู่ข้างๆ โดยอาจจะใช้วิธีการถามคำถามกลับว่า ถ้าเราเจอคนแบบนี้ หรือถ้าเราโดนทำแบบนี้จะรู้สึกอย่างไร ซึ่งการถามเด็กแบบนี้ ทำให้เด็กคิดเป็น และเขาก็สามารถที่จะกลั่นกรองสิ่งที่เขาเห็นทางสื่อได้

3. สร้างความตระหนัก และให้เด็กได้คิดเองถึงความเสี่ยงที่จะเกิดกับชีวิต

4. คอยเฝ้าระวังสิ่งที่ไม่ดีที่จะเข้ามาได้ และคอยดูอยู่ห่างๆ

 

เส้นแบ่งระหว่างมั่นใจ vs ไม่ฟังใคร ก้าวร้าว

บางครั้งการแสดงออกแบบเชื่อมั่นตนเอง หรือการไม่ยอมรับความคิดคนอื่น ตัวเด็กเองก็แสดงออกมาแบบไม่รู้ตัว เพราะไม่รู้ว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน โดยเส้นแบ่งอยู่ตรงที่ว่าได้สำนึกรู้ไหมว่าสิ่งที่ตัวเองทำ ทำให้ใครเสียใจบ้าง และสิ่งที่ทำไม่ส่งผลกระทบดังนี้

1. ไม่ทำให้คนอื่นเกิดความเดือดร้อน

2. ไม่เกินความเป็นธรรมชาติของตัวตนที่แท้จริง

3. ไม่รู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวฉัน

ซึ่งความเชื่อมั่นหรือการแสดงออกของเด็กที่เป็นไปอย่างธรรมชาตินั้น จะมีความอ่อนโยน ความละเมียดละไม นุ่มนวล ความไร้เดียงสาที่มองดูว่ายังน่ารักสมวัยเขาอยู่ ไม่ใช่ดูเกินวัย แก่แดด การที่พ่อแม่บอกให้เด็กรู้ว่าการทำอะไรก็แล้วแต่แค่นี้พอเหมาะแล้ว เด็กก็จะแสดงออก กล้าพูดกล้าโต้ตอบ กล้าแสดงออก แต่ว่ายังรักษาความเป็นเด็ก ที่เป็นความบริสุทธิ์ ความนุ่มนวลอ่อนโยน และความเป็นไทยไว้ ซึ่งสำคัญมาก เพราะความเป็นไทย เป็นตัวบ่งบอกความสมดุลการแสดงออกที่พอเหมาะ ไม่ดูแก่นแก้วจนเกินไป

 

แม้มีสิ่งไม่ดี เป็นทัศนคติเชิงลบ หรือความคิดที่แตกต่างเข้ามาก็ไม่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้ เพราะการที่เด็กมีทัศคติเชิงบวกนั้นเป็นพื้นฐานนั้น จะทำให้เขาเกิดความเข้าใจ ยอมรับ เห็นอกเห็นใจคนอื่น และในขณะเดียวกันเขาเองก็จะไม่ทำตัวแตกแยก หรือสร้า้งความรุนแรงให้กับคนอื่นด้วยเช่นกันค่ะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของสังคมไทยในอนาคตเลยนะคะ

 
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1133&sub_id=2&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด