ลูกฉลาดแต่ไม่พูด


898 ผู้ชม


ช่วงอายุ 1-5 ปี ถือเป็นโอกาสทองของพัฒนาการทางภาษาของเด็กๆ  การที่เด็กมีพัฒนาการพูด การออกเสียง แต่การที่เด็กบางคนมีพัฒนาการในการพูดช้า สาเหตุมีหลายประการ เช่น...         ช่วงอายุ 1-5 ปี ถือเป็นโอกาสทองของพัฒนาการทางภาษาของเด็กๆ การที่เด็กมีพัฒนาการพูด การออกเสียง แต่การที่เด็กบางคนมีพัฒนาการในการพูดช้า สาเหตุมีหลายประการ เช่น... 

 

สาเหตุของการพูดช้าในเด็กมีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

1. มีปัญหาการได้ยิน – เด็กจะสื่อความหมายด้วยท่าทางแทน ไม่พูด เรียกไม่ค่อยหัน ไม่สะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดังๆ การวินิจฉัยต้องตรวจการได้ยินโดยใช้เครื่องตรวจการได้ยินโดยแพทย์นะคะ สาเหตุนี้มองข้ามไม่ได้เลยค่ะ เพราะว่าถ้าการได้ยินของน้องมีปัญหา ต่อให้ฝึกพูดอย่างหนักแค่ไหน น้องก็ไม่ได้ยินค่ะ

2. สติปัญญาบกพร่อง – พัฒนาการของเด็กจะช้าในทุกด้าน ทั้งการพูด กล้ามเนื้อมัดใหญ่/มัดเล็ก และการช่วยเหลือตนเอง/เข้าสังคม หากคุณแม่ตรวจสอบพัฒนาการด้านอื่นๆ ของลูกแล้วพบว่าช้าด้วย ก็อาจจะเข้าข่ายค่ะ

3. ออทิสซึ่ม – เด็กจะมีพัฒนาการด้านสังคมล่าช้า ไม่สบตา ไม่สนใจ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร ร่วมกับมีปัญหาด้านการสื่อสาร ไม่สามารถพูดสื่อความหมายกับคนอื่นหรือไม่สามารถแสดงท่าทางเพื่อสื่อความหมาย และมีพฤติกรรมหรือความสนใจหรือการกระทำ ที่ซ้ำๆ จำกัด และเปลี่ยนแปลงได้ยากมาก

4. การเลี้ยงดูที่ปล่อยปละละเลยหรือขาดการกระตุ้นอย่างเหมาะสม เช่น ให้เด็กดูโทรทัศน์มากเกินไป คือเกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน (โดยเฉพาะ2 ปีแรก) หรือผู้เลี้ยงดูขาดปฏิสัมพันธ์กับเด็ก พูดคุยและเล่นกับเด็กน้อย ปล่อยให้เด็กเล่นคนเดียวอยู่เรื่อยๆ ข้อนี้พบมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากพ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับพี่เลี้ยงหรือผู้สูงอายุมากๆ

 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากบอกคุณพ่อคุณแม่ คือเมื่อสงสัยว่าลูกจะพูดช้า อย่ารีรอนะคะ รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันทีที่สงสัยเลย เพราะที่หมอย้ำไว้ตั้งแต่แรก โอกาสทองในการพัฒนาทางงภาษามีแค่ 5 ปีนะคะ ถ้าลูกมีปัญหาที่ต้องแก้ไขจริง การไปฝึกตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมเป็นผลดีแน่นอนค่ะ

 

วิธีแก้ไขปัญหาพูดช้า

ขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากเป็นปัญหาการได้ยินก็ต้องใส่เครื่องช่วยฟัง

หากเป็นปัญหาสติปัญญาบกพร่องก็ต้องฝึกกระตุ้นพัฒนาการกันทุกด้านโดยจะมีทีมสหวิชาชีพ(กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด อรรถบำบัด) เป็นพี่เลี้ยงสอนคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

หากเป็นออทิสซึ่มก็ต้องเน้นด้านสังคม โดยเริ่มจากฝึกให้เด็กมองหน้าสบตา ฝึกพูด รู้จักบอกความต้องการ และอาจต้องใช้ยาร่วมด้วยถ้ามีปัญหาอารมณ์/พฤติกรรมก้าวร้าว หรืออยู่ไม่นิ่ง

ถ้าเป็นสาเหตุจากการเลี้ยงดูที่ขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม แนะนำให้ปิดโทรทัศน์เลยนะคะ และผู้ดูแลต้องหันมาพูดคุยและเล่นกับเด็กมากขึ้น ฝึกให้เด็กบอกความต้องการให้มากขึ้น

 

สิ่งที่หมอจะแนะนำให้ทำไปได้เลยระหว่างที่ยังไม่ได้ไปพบแพทย์ (แต่ขอย้ำอีกครั้งว่า ในกรณีของคุณแม่ ควรพาน้องไปพบแพทย์ด่วนเลยค่ะ) คือ

1. ผู้ดูแลต้องพูดคุยกับเด็กให้มากขึ้น ถึงแม้เด็กจะไม่พูดตอบก็ตาม ออกจากบ้านก็อาจชี้ชวนเด็กให้ดูนก ต้นไม้ ผู้คน หรือสิ่งน่าสนใจข้างทาง

2. หากิจกรรมทำร่วมกับเด็ก ย้ำว่าทำร่วมกันนะคะ ไม่ใช่ให้เด็กเล่นแล้วคุณแม่ดูอยู่ห่างๆ เช่น ต่อตัวต่อ ปั้นแป้งโดว์ วาดรูป โดยระหว่างเล่นให้มีการพูดคุยกับลูกตลอดเวลา

3. ฝึกให้เด็กบอกความต้องการให้มากขึ้น เช่น ลูกเดินถือขวดน้ำมาหาคุณแม่ อาจถามเขา

ว่า “ให้แม่ทำอะไรลูก..เปิดฝา(พร้อมทำท่าประกอบ) ใช่มั้ยคะ” หยุดรอการตอบสนองของเด็กสักครู่ แล้วค่อยเปิดให้เขา หรือลูกร้องไห้ตอนเย็น คุณแม่อาจจะทราบว่าลูกต้องการไปนั่งรถเล่น แต่คุณแม่อาจจะถามก่อนว่า “หนูอยากได้อะไรลูก” รอเขาตอบสนองสักพัก แล้วค่อยถามว่า “ไปนั่งรถเล่น ใช่มั้ย” บางครั้งเราอาจจะเข้าใจอยู่แล้วว่าเด็กทำท่าแบบนี้เขาต้องการอะไร แต่คุณพ่อคุณแม่ลองเข้าใจให้ช้าลงหน่อยนะคะ เพราะถ้าเรารู้ใจเขาไปเสียหมด เด็กๆ ก็ไม่จำเป็นต้องบอกว่าเขาต้องการอะไร จริงมั้ยคะ

 
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1130&sub_id=2&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด