เคล็ดลับอ่านอารมณ์หนู


816 ผู้ชม


แม้ลูกยังพูดภาษาอย่างเราๆ ไม่ได้ แต่เขาก็พอควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้แล้ว เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่แล้วล่ะค่ะ ที่จะต้องเรียนรู้และแปรภาษาท่าทาง ภาษาใบหน้า และภาษาแววตาของลูกออกมาให้ได้มากที่สุด         แม้ลูกยังพูดภาษาอย่างเราๆ ไม่ได้ แต่เขาก็พอควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้แล้ว เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่แล้วล่ะค่ะ ที่จะต้องเรียนรู้และแปรภาษาท่าทาง ภาษาใบหน้า และภาษาแววตาของลูกออกมาให้ได้มากที่สุด 

 

 

 

เพื่อให้รู้ว่าเขาต้องการอะไรและเราจะตอบสนองเขาได้อย่างถูกต้องไหม ไม่ใช่ลูกหงุดหงิดแล้วเราคิดว่าเขาอยากเล่น หรือเวลาเขาอยากจะเล่นเราก็มัวแต่ป้อนข้าวเขาเสียร่ำไป วันนี้มาดูข้อสังเกตง่ายๆ ให้คุณได้รู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการจากสีหน้าและแววตาของลูกดังนี้....

 

มีความสุขจังเลย : ดวงตาของเจ้าหนูเบิกกว้าง พร้อมกับแววตาที่เป็นประกาย ส่งเสียงเอิ๊กอ๊ากเล็กน้อย ยิ้มกว้างราวกับจะบอกว่าฉันมีความสุขที่สุดในโลกเลย เช่น เวลาคุณแม่เล่นด้วย

 

ตื่นตาตื่นใจอะไรอย่างนี้นะ : ดวงตาของเจ้าหนูจะดูกลมโตเป็นพิเศษ พร้อมกันปากก็จะกว้างตามดวงตาไปด้วย (ประมาณว่าโอ้โห!!!) แถมหน้าผากยังย่นอีกด้วย เช่น เวลาได้ของเล่นชนิดใหม่

 

หลงรักแล้วล่ะสิ : เมื่อเขาให้ความสนใจกับอะไรสักสิ่งหนึ่งขึ้นมา ตาจะหรี่แคบลง แต่พยายามมองตาม ยิ้มกว้าง เวลาใครมาแหย่อะไรก็ไม่สะดุ้งสะเทือนสักนิด เช่น พาเจ้าหนูไปดูโมบายล์

 

แหวะ...ไม่เห็นชอบเลย : เวลากินอะไรที่ไม่ชอบมาพากลสำหรับเขา สีหน้าและปากเขาจะเบะออกเลยค่ะ และตาก็จะกระพริบถี่ๆ หลังจากนั้นไม่นานบางคนถึงกับอาเจียนออกมาเชียว เช่น เวลาลองอาหารเสริมชนิดใหม่

 

หวาย! น่ากลัวจัง : สายตาจะออกอาการหวาดระแวง ปากจะเผยอขึ้นครึ่งหนึ่ง ส่วนแขนนี่จะตึงแนบลำตัวเลยทีเดียว ถ้าถึงขีดสุดเขาจะหลับตาปี๋เลยทีเดียว เช่น เวลาคุณพ่อทำเสียงดุน่ากลัว

 

ถึงคราวหนูโมโหแล้วนะ : เจ้าหนูจะร้องไห้เสียหน้าแดงก่ำ จ้องตาเขม็ง และมีอาการหายใจเร็วพ่วงท้ายด้วย นี่แหละวิธีระเบิดความโกรธของหนู เช่น ผ้าอ้อมเปื้อนจนหนูระคายตัวไปหมดแล้ว

 

เฮ้อ...น่าเบื่อชะมัดเลย : เขาจะทำปากเบะเล็กน้อย หน้าผากย่น ขยับคางไปมา ทำหน้าเหมือนว่าหนูกำลังเซ็งเต็มที่แล้วนะเนี่ยะ เช่น เวลาอยู่ในเปลนอนกลิ้งไปมา ไม่เห็นมีใครมาเล่นกับหนูเลย

 

8 ข้อน่ารู้....ช่วยคุณอ่านใจลูก

1. คุณควรตอบสนองท่าทางที่ลูกแสดงออกมา ถึงแม้ว่าตัวคุณเองจะไม่แน่ใจว่าลูกต้องการอะไร แต่ถ้าคุณลองทำแล้วรู้สึกว่าลูกสงบและผ่อนคลายลงจากที่ร้องไห้งอแง ก็ควรจำวิธีนั้นไว้เพื่อใช้ในครั้งต่อไป เป็นการสร้างประสบการณ์ให้ตัวคุณเองค่ะ

 

2. อ่านหนังสือหรือสังเกตกิริยาของเด็กคนอื่นๆ เพื่อจำไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ว่าเด็กวัยนี้เขาอยู่ในอารมณ์ไหนและพอทำท่าอะไรได้บ้าง

 

3. ลองให้ลูกทำหน้าทำตาบ่อยๆ เพื่อเราจะได้แน่ใจว่าลูกอยู่ในอารมณ์นั้นจริงๆ เช่น เราลองให้ของเล่นลูกแล้วเขาขว้างทิ้ง พร้อมกับทำหน้าบูดบึ้ง เราลองให้ต่ออีก 2 ครั้งถ้าเขายังขว้างเหมือนเดิมอีกแสดงว่าเขาอยากเล่นอย่างอื่น หรืออยากเปลี่ยนกิจกรรมแล้ว แต่กรณีนี้คนละอย่างกับเด็กที่อยู่ในวัยขว้างของ (8- 9 เดือน) เพราะวัยนี้เห็นการขว้างของเป็นเรื่องสนุกเอิ๊กอ๊ากค่ะ

 

4. ใช้อารมณ์ยามแจ่มใสของเจ้าหนูให้เป็นประโยชน์ เพราะเขาจะบอกได้ว่าทำอย่างไหนเขาจะชอบหรือไม่ชอบกันแน่ เพราะถ้าทำตอนอารมณ์ไม่ดีแล้ว ไม่ว่าอะไรเขาก็ไม่ชอบและดูน่ารำคาญไปเสียทุกอย่างแหละค่ะ

 

5. กอดเขาให้บ่อยๆ เพื่อจะได้เข้าใจภาษากายว่าเรารักเขาและเขารักเรา รู้สึกดีโดยไม่ต้องใช้คำพูด

 

6. เล่นจ๊ะเอ๋ยามเหงาๆ เอามือมาปิดหน้าไว้และลองเล่นจ๊ะเอ๋กับเขาดู รับรองเลยว่าคุณจะได้รอยยิ้มกว้างจากเขาแน่ๆ

 

7. ใช่ว่าคุณจะพูดให้เขาฟังอย่างเดียวนะคะ คุณเองก็จะต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย ลูกจะได้อยากพูดอยากสื่อให้คุณรู้อย่างไรล่ะ และควรสอนให้เขาสื่อสารกับคนอื่นๆ ด้วย เช่น "น้องมายด์ให้ของเล่นพี่แมกซ์เขาสิ" เสร็จก็หันมาบอกเขาว่าเก่งจังเลย พร้อมกับให้พี่แมกซ์ยิ้มให้เขาด้วย

 

8. อีกเรื่องที่สำคัญคือต้องมีความอดทนในการตีความหมายจากภาษาของเขา เพราะลูกอาจจะฉุนเฉียวได้เมื่อคุณทำอะไรคนละอย่างกับที่เขาต้องการ

 

ภาษาของเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ทางที่ดีที่สุดคงต้องใช้วิธีใกล้ชิดกับลูกให้มาก เพื่อเข้าใจนิสัยใจคอได้อย่างถ่องแท้ และตอบสนองความต้องการช่วงขวบปีแรกนี้ให้ได้มากที่สุด เท่านี้คุณพ่อคุณแม่ก็จะกลายเป็นคนที่เข้าใจลูกอย่างแท้จริงที่สุดค่ะ

 

 ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1087&sub_id=2&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด