คุณแม่ท้อง ทั้งที่รู้ตัวว่ากรน และไม่รู้ตัวว่ากรน แต่ต้องจำนนต่อหลักฐานจากคุณสามี ต่อไปนี้เลิกกังวลกันได้แล้วค่ะ เพราะเรามีกลยุทธ์...แก้กรนมาฝาก
กลยุทธ์ที่ว่ามาจาก ศ.นพ.อภิชาติ จิตต์เจริญ สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ
เสียงกรนมาจากไหน?
การหายใจเป็นการนำเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ก่อนจะถึงปอดจะต้องผ่านจมูก ลำคอ กล่องเสียง ถ้าระบบการหายใจเป็นปกติก็จะไม่มีเสียงใดๆ เกิดขึ้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ระบบหายใจถูกอุดกั้นขึ้นมา จะส่งผลให้ออกซิเจนเข้าสู่ปอดได้น้อยลง ร่างกายจึงตอบสนองเพื่อจะให้อากาศและออกซิเจนเข้าสู่ปอดมากขึ้น ด้วยการอ้าปากเพื่อให้ได้ออกซิเจนที่เพียงพอ และเมื่อลมหายใจจากปากและจมูกมาเจอกัน จะเกิดเป็นลมหมุน ส่งผลให้ผนังลำคอ ลิ้นไก่และเพดานอ่อนสั่น จนเกิดเป็นเสียงกรนขึ้นมา
ทำไมท้องแล้วนอนกรน?
สำหรับคุณแม่ที่เมื่อท้องได้ไม่เท่าไหร่ก็เริ่มกรนทั้งที่ไม่เคยกรนมาก่อน หรือที่เคยกรนเล็กน้อยพอท้องก็กรนเสียงดังสนั่นหวั่นไหว...ทำไมท้องแล้วนอนกรน? เป็นคำถาม ซึ่งมีคำเฉลยดังนี้ค่ะ
1. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณช่องคอส่วนบนจะขยายจนอาจมาปิดช่องทางเดินหายใจทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง ส่งผลให้ลมหายใจผ่านเข้าสู่ปอดได้น้อย
2. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นตอนท้อง ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณช่องปากส่วนบนและหลอดลมบวม และเกิดการหย่อนตัวลงมาปิดขวางช่องทางเดินหายใจ
3. ภูมิแพ้ สำหรับแม่ท้องที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว ถ้าอาการกำเริบก็มีส่วนทำให้กรนได้ค่ะ เพราะภูมิแพ้ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณช่องปากส่วนบนและหลอดลมบวมได้เช่นกัน ทำให้มีการอุดกั้นระบบทางเดินหายใจมากขึ้น
4. ต่อมทอลซิลหรือต่อมอะดินอยด์อักเสบเรื้อรัง ทำให้ต่อมทั้งสองข้างโต และมาบดบังในช่องทางเดินหายใจ ทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง
5. ท่านอน เช่น การนอนหงายและหัวไม่สูงเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ลิ้นและเพดานอ่อนตัวลงมาอุดกั้นช่องทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุของการกรนได้เช่นกัน
กรนแบบไหน อันตราย
การกรนจะแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ
ระดับที่ 1. นอนกรนอย่างเดียว ไม่ส่งผลกระทบกับสุขภาพแต่อย่างใด แต่เสียงกรนอาจสร้างความรำคาญให้กับคนข้างกายได้ จะรักษาหรือไม่ก็ได้ ถ้าจะรักษาก็เพียงเพื่อลดให้น้อยลง แต่ถ้าไม่รักษาต้องระวังเพราะอาจพัฒนาไปสู่ระดับที่ 2 ได้
ระดับที่ 2. นอนกรนแบบมีการหยุดหายใจร่วมด้วย (Sleep apnea) การกรนแบบนี้จะส่งผลกระทบกับสุขภาพตามมาด้วยค่ะ
สังเกต...การหยุดหายใจ
ลักษณะของการหยุดหายใจ คือ ขณะที่หลับและมีเสียงกรนอยู่ เสียงกรนจะนิ่งเงียบไปชั่วขณะ มีอาการสะดุ้งเฮือกหรือสำลักน้ำลาย ซึ่งเป็นกลไกของร่างกายที่ป้องกันตัวเองไม่ให้ขาดออกซิเจน ด้วยการปลุกให้ตื่นขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวและหลับต่อ การหยุดหายใจจะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ละประมาณ 10 วินาที อย่างน้อยติดต่อกัน 5 ครั้งต่อชั่วโมง บางคนอาจหยุดหายใจ 30-300 ครั้งต่อคืน
ซึ่งการจะรู้ว่าตัวเองหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ จึงต้องอาศัยคนข้างกายให้ช่วยสังเกต แต่ถ้าไม่แน่ใจว่ามีการหยุดหายใจร่วมด้วยหรือเปล่า สามารถปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนได้ค่ะ เพราะจะมีเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย โดยคุณแม่ต้องนอนที่โรงพยาบาล 1 คืน
นอนกรน ส่งผลข้างเคียง
จากการศึกษาในประเทศสวีเดนและอังกฤษในช่วงที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าแม่ท้องนอนกรนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
- โดยเมื่อปี 2539 พบว่าผู้หญิงทั่วไปที่ยังไม่ท้องจะนอนกรนเพียง 4% เท่านั้น แต่พอท้องกลับนอนกรนเพิ่มขึ้นเป็น 14%
- อีกการศึกษาหนึ่งเมื่อปี 2543 พบว่าแม่ท้องนอนกรนถึง 23 %
- และจากการศึกษาเมื่อปี 2548 พบว่าการตั้งครรภ์กลายเป็นปัจจัยทำให้ผู้หญิงนอนกรนเพิ่มมากขึ้นอีก จากการศึกษานี้ได้เปรียบเทียบแม่ท้องที่นอนกรน กับแม่ที่นอนปกติไม่กรน ถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นตามมาดังนี้
แม่ท้องที่นอนกรน
* เกิดภาวะความดันโลหิตสูงถึง 14%
* มีภาวะครรภ์เป็นพิษ 10%
* ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย 7.1%
ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบ คือเกิดภาวะเส้นเลือดในหัวใจอุดตัน หรืออาจมีภาวะเส้นเลือดในสมองอุดตันได้ (ถ้าเป็นแล้วทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ)
แม่ท้องที่นอนปกติ ไม่กรน
* เกิดภาวะความดันโลหิตสูงเพียง 6%
* ครรภ์เป็นพิษ 4%
* ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย 2.6%
การรักษา
จำเป็นต้องให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก เป็นผู้ประเมินในการรักษา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงด้วยค่ะ เช่น
1. ถ้าแม่ท้องที่นอนกรนมาก การใส่หน้ากากออกซิเจนเพื่อช่วยหายใจก็ช่วยได้ค่ะ
2. ถ้าเป็นการกรนที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ ต่อมอะดินอยด์และต่อมทอลซิลอักเสบ จะต้องรักษาโรคเหล่านี้ให้หายก่อน
3. ถ้านอนกรนมากและมีการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ต้องได้รับการผ่าตัดบริเวณเพดานอ่อน ซึ่งแพทย์จะผ่าตัดให้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ถ้าไม่รุนแรงมากก็อาจจะรอหลังคลอด เพราะการผ่าตัดระหว่างคลอดอาจทำให้ตกเลือดได้ แต่ถ้าอาการรุนแรงจนรอไม่ได้ก็ต้องผ่าตัดเลย
4. หลังคลอดอาการกรนจะดีขึ้นเพราะฮอร์โมนและน้ำหนักตัวลดลง แต่แม่ท้องบางรายอาจจะยังกรนอยู่ถ้าน้ำหนักตัวยังมาก ส่วนอาการอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของการกรนถ้ายังไม่หายก็ทำให้เกิดการกรนต่อไปได้ค่ะ
กลยุทธ์...แก้กรน
สำหรับแม่ท้องท่านใดที่รู้ตัวว่านอนกรน กลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยให้อาการลดลงได้ค่ะ
1. ที่นอนต้องแข็งพอประมาณ
2. หนุนหมอนให้สูงขึ้นประมาณ 4 นิ้วขึ้นไป
3. การนอนตะแคงซ้ายจะช่วยให้กรนน้อยลง และยังเป็นการช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเด็กได้ดีขึ้น เพราะเวลานอนตะแคงเส้นเลือดจะไม่ถูกกดทับทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
5. พยายามให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ขึ้นมากเกินไป
6. หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ เพราะจะทำให้หลับลึกมาก เมื่อนอนหลับลึกกล้ามเนื้อก็จะคลายตัวและไปอุดกั้นระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการกรนได้
7. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มสุรา
8. ควรทานอาหารก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และควรหลีกเลี่ยงอาหารหนักๆก่อนเข้านอน
ทราบข้อมูลกันแล้ว แต่ถ้ายังไม่แน่ใจว่าคุณนอนกรนและมีการหยุดหายใจร่วมด้วยหรือเปล่า ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางนะคะ
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1086&sub_id=1&ref_main_id=2