พฤติกรรมขี้โม้ของลูก


880 ผู้ชม


“บ้านเรามีเครื่องบินบังคับด้วยล่ะ ลำใหญ่มาก บินได้รอบหมู่บ้านเลย” “โธ่...เครื่องบินบังคับของเราเจ๋งกว่าอีก ลำใหญ่กว่าของเธอตั้งเยอะ แถมบินได้ไกลกว่าด้วย เดี๋ยวเราจะบินไปรอบโลกเลย” แมงโม้บินว่อนเลยค่ะ...ต้องหาวิธีรับมือกันหน่อยแล้ว           “บ้านเรามีเครื่องบินบังคับด้วยล่ะ ลำใหญ่มาก บินได้รอบหมู่บ้านเลย” “โธ่...เครื่องบินบังคับของเราเจ๋งกว่าอีก ลำใหญ่กว่าของเธอตั้งเยอะ แถมบินได้ไกลกว่าด้วย เดี๋ยวเราจะบินไปรอบโลกเลย” แมงโม้บินว่อนเลยค่ะ...ต้องหาวิธีรับมือกันหน่อยแล้ว 

พฤติกรรมช่างโม้

จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนูน้อยวัยอนุบาล 3 จะชอบเล่าและชอบคุยฟุ้งไปสักหน่อย เพราะวัยนี้มีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น มีความรู้รอบตัวมากขึ้น และภูมิใจในตัวเองมากขึ้น...จนต้องนำมาพูด แต่บางครั้งก็มากเกินไปหน่อย อาจกระทบต่อลักษณะนิสัยและการเข้าสังคมเหมือนกัน อย่างนี้คงต้องช่วยเหลือเจ้าตัวเล็กให้ช่างโม้แต่พอดีพองามแล้วค่ะ

 

แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องแยกให้ออกก่อนนะคะ ว่าเจ้าหนูน่ะ เขาตั้งใจโม้ หรือเป็นเรื่องของจินตนาการอันไร้ขีดจำกัดของเขากันแน่

ความช่างพูดช่างคุยของวัยอนุบาล 3 ที่ดูเหมือนคุยโม้อาจมีสาเหตุต่างๆ ดังนี้ค่ะ

 

• อยู่ในวัยช่างพูด

วัยนี้จะรู้จักภาคภูมิใจในตัวเองแล้ว มีความเป็นตัวของตัวเอง เริ่มมองและสนใจตัวเองมากขึ้น รู้จักเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แถมยังต้องการให้คนอื่นยอมรับ จึงมักพูดอะไรในทำนองว่า “หนูดีกว่า” อยู่บ่อยๆ เพราะเขาไม่อยากแพ้ ไม่อยากด้อยกว่าคนอื่น การเล่นหรือการสนทนาของวัยนี้ จึงมักวกมาเรื่องเปรียบเทียบกันและไม่ยอมแพ้กันอยู่บ่อยครั้ง

 

• สภาพแวดล้อมชักนำ

นอกจากพฤติกรรมตามวัยแล้ว อาจมีสาเหตุจากการเลียนแบบสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพแวดล้อมในโรงเรียนหรือในห้องเรียน ที่มีการแข่งขัน การประกวดเพื่อชิงความเป็นที่หนึ่ง การเล่นกับกลุ่มเพื่อน พี่น้อง หรือคุณพ่อคุณแม่มีพฤติกรรมชอบโอ้อวด

 

กลเม็ดปรับพฤติกรรม

ถึงแม้ความภาคภูมิใจและความมั่นใจในตนเองนั้น เป็นสิ่งดีที่ควรสร้างเสริมตั้งแต่วัยเด็ก แต่อย่าลืมว่าต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอดี เด็กที่มีพฤติกรรมคุยโม้โอ้อวดส่วนใหญ่ มักเกิดจากความมั่นใจในตนเองมากเกินไปและอยากเป็นที่หนึ่ง ทั้งยังไม่รู้วิธีแสดงความมั่นใจอย่างเหมาะสม จุดนี้เองที่อาจส่งผลกระทบต่อการเข้าสังคม ทำให้เขามีเพื่อนน้อยและอาจไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน

 

- เมื่อคุณเห็นเจ้าตัวเล็กกำลังโม้ หรือมาเล่าให้คุณฟังถึงเรื่องที่เขาคุยโม้ไว้กับเพื่อน เช่น“หนูวาดรูปสวยกว่าใครอยู่แล้ว คุณครูบอกว่าหนูวาดสวยที่สุดในห้อง พี่บีสิวาดไม่สวยเลย” ให้ลองอธิบายกับเขาว่า “แม่รู้ว่าหนูเก่ง แต่เพื่อนๆ คงไม่อยากเล่นกับคนที่ชอบบอกว่าตัวเองดีและคนอื่นไม่ดีหรอกจ้ะ ถ้าหนูพูดแบบนี้บ่อยๆ เพื่อนจะไม่ชอบและไม่เล่นด้วยนะ”

และลองบอกให้เขาสังเกตปฏิกิริยาของคนรอบข้างดู เพราะคนอื่นๆ อาจมีพฤติกรรมตอบโต้ด้วยการต่อต้าน เขาจะเรียนรู้ได้เองว่าเพราะเขาพูดไม่น่ารัก เพื่อนจึงไม่เล่นด้วย

 

ยกตัวอย่างวิธีแสดงความมั่นใจให้เจ้าตัวเล็ก เช่น หากหนูมีของเล่นชิ้นใหม่ที่สวยกว่าของเพื่อน ลองชวนเพื่อนมาเล่นของเล่นด้วยกัน หรือหากหนูชนะเลิศการแข่งกีฬา ลองสอนให้เพื่อนเล่นกีฬาให้เก่งเหมือนหนู วิธีนี้จะทำให้เพื่อนประทับใจในตัวเขา รวมทั้งสิ่งของหรือเรื่องราวที่เขาภูมิใจมากกว่าการโอ้อวดตั้งเยอะ

 

- ข้อควรจำอย่างหนึ่งคือ อย่าใช้คำตำหนิที่รุนแรงเมื่อหนูคุยโม้โอ้อวด เพราะแม้จะทำให้พฤติกรรมนี้ลดลงไป แต่ความมั่นใจและความภูมิใจในตัวเองจะหายไปด้วย ขอให้ใช้วิธีเตือนด้วยคำพูดนุ่มนวล และค่อยๆ ปรับพฤติกรรมจะดีกว่าค่ะ

................................................

ค่อยๆ อธิบายทีละนิด วัยอนุบาล 3 ไม่เล็กเกินไปที่จะเรียนรู้ว่าเขาควรปรับตัวอย่างไร แม้ว่าหนูน้อยวัยนี้จะอยากเป็นที่หนึ่ง แต่ในที่สุดเขาจะเรียนรู้ได้เองว่ามีวิธีแสดงออกถึงความมั่นใจและความภาคภูมิใจในหลายวิธีโดยไม่ต้องโอ้อวดค่ะ

 
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1084&sub_id=2&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด