สำหรับคนเป็นแม่บันทึกที่สะเทือนอารมณ์ทุกคราที่เปิดอ่าน เห็นจะเป็นบันทึกเสี้ยวเวลาแห่งการคลอดลูก แม้ดิฉันคลอดลูกมาแล้วสามครั้ง แต่ก็ต้องกลับมาเขียนช่วงเวลาสำคัญนั้นเก็บไว้ เพื่อว่าวันหนึ่งที่ลูกๆ เขาอยากรู้วินาทีสำคัญแห่งการเกิดที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนร่วมกันระหว่างแม่กับเขา และนี่คืออีกส่วนหนึ่งของบันทึกที่ดิฉันอยากแบ่งปัน
พอเวลาผ่านไปจากปวดท้องทุกๆ 10 นาที ก็เป็นปวดทุก 8 นาที แล้วก็ 5 นาที แล้วก็ 3 นาที แล้วก็ 2 นาที และสุดท้ายก็ปวดทุกวินาที แม่พยายามหาวิธีคลี่คลายการปวดจากการบีบตัวของมดลูกตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นวิธีหายใจ และพยายามท่องว่า “เวทนาไม่ใช่ของเรา ความปวดนี้ไม่ใช่เรา” บางทีอาการปวดก็หายไป แต่เป็นช่วงสั้นมากๆ แล้วก็พยายามคิดถึงสิ่งดีๆ เพ่งแสงตามตำแหน่งจักราที่หกอยู่หว่างคิ้วซึ่งช่วยได้บ้าง ความเจ็บปวดทำให้แม่พยายามหาวิธีใหม่ๆ ให้ผ่านพ้นเวลานี้ไปให้ได้ และบางทีก็ลองส่งเสียงร้องครางเบาๆ แบบเพื่อนข้างห้อง เธอฝากท้องกับหมอคนเดียวกันกับแม่ เธอร้องทั้งคืนตั้งแต่แม่เข้ามานอนในห้องนี้
แม่พยายามช่วยตนเองเท่าทีปัญญามี พยายามคิดแต่สิ่งดีๆ ในแวบหนึ่งก็คิดได้ว่าน่าจะทำ “ทองเลน” เป็นวิธีภาวนาแบบธิเบต คือเวลาหายใจเข้าให้ยอมรับความทุกข์ทั้งหมดไว้กับตนเอง และเวลาหายใจออกก็ส่งความสุขความปรารถนาดีให้แก่ผู้อื่น แม่ก็เลยใช้โอกาสนี้ฝึกตนเองไปด้วย เวลาที่หายใจเข้าแม่ก็ยอมรับและขอแบกรับความทุกข์ของเพื่อนข้างห้องที่ร้องครวญครางนั้นไว้กับแม่ทั้งหมด และเวลาหายใจออกแม่ก็ส่งรอยยิ้มและความสุขเย็นให้เขา บางทีก็ช่วยได้ สำหรับแม่วิธีนี้ดีกว่าทุกวิธีตรงกับที่คาเรน คิงสตัน กล่าวไว้ว่า “ส่งความปรารถนาดีกับคนอื่น แล้วสิ่งดีๆ ก็จะเกิดกับคุณเช่นกัน”
แม่พยายามส่งความปรารถนาดีให้กับผู้หญิงทุกคนที่กำลังปวดท้องคลอดลูกเหมือนกับที่แม่เผชิญอยู่ และขอให้เขาคลอดลูกง่ายและปลอดภัยด้วย แล้วก็คิดถึงคนอื่นที่นอนเจ็บปวดทรมานในสงครามที่ไร้คนดูแล และอยากให้พวกเขาพ้นทุกข์ แม่รู้สึกว่าในเวลานี้ตนเองเข้าถึงความทุกข์ของผู้คนเหล่านั้นได้มากเหลือเกิน การเข้าถึงความทุกข์ของผู้อื่นไม่ได้ทำให้แม่ทุกข์ยิ่งขึ้น ทว่ากลับรู้สึกเย็นวาบในจิตกรุณานั้น
ในช่วงเวลาที่ทุกข์ทรมานเช่นนี้ ถือเป็นโอกาสแห่งการปฎิบัติธรรมที่ดีมาก ตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงเช้าวันใหม่ ตลอด 8-9 ชั่วโมง แม่จับจ้องมองเวลาที่ผ่านไปทุกวินาที แม่เห็นการตอบสนองของจิต เห็นธรรมชาติของจิตที่มักจะไหลเลื่อนไปตามความคิดในอดีตหรือในอนาคต จิตจะวิ่งไปมาระหว่างเรื่องราวในอดีตกับความกังวลในอนาคตไม่ค่อยอยู่กับปัจจุบันเท่าไร โดยเฉพาะเวลาที่คลายจากการเจ็บลง พอเจ็บเราก็กลับมาอยู่ที่ความเจ็บปวด
เมื่อพยาบาลเห็นว่าแม่เจ็บท้องตลอดเวลา เขาก็เข็นแม่มาที่ห้องคลอด พยาบาลคนหนึ่งเขาจะเดินผ่านเตียงที่แม่นอนไปมา และมักจะคอยว่ากล่าวตักเตือนตลอดเวลา ด้วยคำพูดที่ไม่ค่อยน่าฟังว่า “อย่าดิ้น นอนนิ่งๆ เบ่งไปเรื่อยๆ เบ่งที่ก้น เข้าใจไหม ไม่ใช่เบ่งที่หน้า อย่าทำหน้าตาแบบนี้ ทำหน้าเฉยๆ” แม่ไม่เข้าใจและรู้สึกรำคาญใจ เพราะที่ผ่านมาคลอดลูกมาสองคนแล้ว ไม่เคยมีใครบอกว่าต้องทำหน้าตาแบบไหนเลย แม่ลองทำหน้าเฉยๆ แต่รู้สึกว่าไม่ใช่มันฝืนมาก การทำหน้าย่นยับกลับช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้อย่างหนึ่ง มันเป็นการเกร็งและพอคลาย แม่รู้สึกสบายผ่อนคลายได้บ้าง
พอแม่รู้แล้วว่าเงื่อนไขที่หมอจะทำคลอดให้แม่คือ เมื่อมีน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกและมีน้ำคร่ำใสๆ ไหลจากช่องคลอด แม่ก็เร่งเครื่องเบ่งสุดฤทธิ์ เบ่งลงก้นแบบหน้าตาย่นยับสไตล์แม่ แล้วเพียงไม่นาน แม่ก็เบ่งจนเหมือนกับว่าถุงในท้องแตก ได้ยินเสียงดังโผล๊ะ! เหมือนถุงน้ำแตก มีน้ำกระเด็นกระจายเต็มพื้นห้องเลย สักพักพยาบาลเดินผ่าน แม่ร้องเรียกบอกเขาว่า “น้ำเดินแล้ว” สักพักเขาก็ไปตามหมอและก็มีพยาบาลมาช่วยกันตระเตรียมเครื่องมือและภาชนะรองรับเด็ก แล้วก็คอยบอกบทให้แม่เบ่งต่อ ทุกครั้งที่พยาบาลที่ชอบบ่นพูดว่า “เบ่งอย่างนี้ไม่ได้ อย่าเกร็งใบหน้า ทำไมต้องทำหน้ายับย่น เบ่งลงก้น บอกแล้วไงไม่ยกก้น อย่างนี้ไม่ถูก” พอได้ยินเสียงของเธอทุกครั้งแม่รู้สึกหมดแรง แม่ต้องพยายามไม่สนใจสิ่งที่เธอพูด มันบั่นทอนกำลังใจ แม่พยายามเชื่อใน ‘สัญชาตญาณ’ ของตนเอง พยายามเบ่งโดยฟังร่างกายของตนเอง แล้วเมื่อหมอมาพร้อมกับพยาบาลใจดีอีกคนหนึ่ง แม่ก็เร่งเครื่องเบ่งอีก ทั้งสองคนเอ่ยปากชมแม่ตลอดว่า “เบ่งดีมาก” เมื่อได้ยินแบบนี้ยิ่งทำให้มีเรี่ยวแรงดียิ่งขึ้น มีกำลังใจ แล้วแม่ก็เบ่งยาวมากจนหมอและพยาบาลเอ่ยปากชม แม้แต่พยาบาลที่ชอบบ่นก็ยังชมแบบค่อนขอดคนไข้ที่เพิ่งคลอดก่อนแม่ไปเมื่อกี้ว่า “เห็นไหมคนนี้ไม่มัวแต่ร้องเหมือนคนก่อนเลยคลอดได้ดี”
หมอบอกบทต่อว่า “หยุดเบ่งก่อนนะ หมอขอให้คุณแม่เบ่งอีก 2 ครั้งนะ ตอนนี้พักก่อน เมื่อพร้อมก็เบ่งเลย” แม่พร้อมเสมอพอแรงเบ่งมา แม่หายใจเข้าแล้วก็กลั้นหายใจเบ่งยาวพรวดเดียว ก็รู้สึกว่ามีอะไรดิ้นออกมาจากช่องคลอด แม่รู้สึกได้ถึงแขนขาและตัวของลูกดิ้นหลุดออกมา ทุกคนชมแม่อีกครั้งว่าเบ่งเก่งมาก ลูกออกแล้ว เป็นเพศหญิงขาวจั๊ว แล้วแม่ก็ได้ยินเสียงร้องไห้อันก้องกังวานใสของลูก
เด็กแต่ละคนมีเสียงร้องไม่เหมือนกันตั้งแต่เกิดแล้ว แม่บอกตัวเองให้จดจำเสียงของลูก หมอวางลูกบนท้องของแม่ แม่รู้สึกถึงน้ำหนักของหนู พยาบาลบอกว่าดู No.ของแม่ ๕๗ ตรงกับของลูก No.๕๗ เหมือนกัน หมอเอ่ยปากชมอีกครั้งว่า “หมอขอให้เบ่ง ๒ ครั้ง นี่คุณแม่ทำได้ดีมาก เบ่งครั้งเดียวจบเลย เยี่ยมจริงๆ” แม่รู้สึกดีใจ รู้ตัวว่าเบ่งคลอดท้องที่สามนี่ไม่ง่ายเลย ต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ สักพักหมอก็กดท้องทำการคลอดรก แล้วก็บอกว่าหมอจะฉีดยาแล้วให้หลับไปเลยนะ แม่กล่าวขอบคุณหมอและพยาบาลทั้ง 2 คน โดยเฉพาะพยาบาลที่ชอบบ่น แม่ก็ยังเอามือไปบีบแขนของเขาพร้อมกล่าว “ขอบคุณ” เพราะแม่อยากให้เขาผ่อนคลายและรู้สึกดีๆ กับแม่อย่างที่แม่ก็รู้สึกดีๆ กับเขา เราไม่เคยเป็นศัตรูกันมาก่อน ทุกอย่างแม่ให้อภัยแม้ว่าเขาจะใช้คำพูดที่รุนแรงและบั่นทอนกำลังใจ...
มีแม่บางคนไม่กล้าที่จะคลอดลูกโดยวิถีธรรมชาติเลย เพราะกลัวไม่มีแรงเบ่ง มีบางคนถามแม่ว่า “ทำไมคุณถึงมีแรงเบ่งลูกมากมายเช่นนี้ ทำโยคะและไทเก็กใช่ไหม” แม่คิดว่าคงมีส่วน แต่ที่แน่ๆ ตลอดเวลาที่เบ่งนั้น แม่พูดกับตนเองว่า “ลูกต้องรอดปลอดภัยเท่านั้น” และนี่คงเป็นที่มาของสติและเรี่ยวแรงมหาศาล...
ดิฉันคิดว่าการเปิดเผยบันทึกที่ดูเป็นส่วนตั๊วส่วนตัว คงเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังต้องเผชิญกับการคลอดบ้าง และคงละม้ายคล้ายหลายๆ คน หรืออาจแตกต่างอย่างมากก็เป็นได้ ประสบการณ์นี้ทำให้ดิฉันรู้สึกถึงความรักของแม่อย่างมากมาย และคิดว่าเมื่อวันหนึ่งที่ลูกได้อ่านบันทึกนี้เขาจักสามารถสัมผัสถึงความรักที่แม่มีต่อเขาเฉกเช่นกัน
ที่มา https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=1076&sub_id=1&ref_main_id=2